จรัญ มะลูลีม : หลักปกครองประเทศแบบนักการศาสนา

ในทฤษฎีของอิมาม มุสลิมที่ดีทุกคนถูกกำหนดโดยอัล-กุรอานให้ “ทำความดีและละเว้นความชั่ว” โดยการสถาปนารัฐอิสลามในทุกๆ หนแห่งที่ปกครองโดยเผด็จการ

สำหรับชีอะฮ์มุสลิม อิมามโคมัยนีปรากฏตัวเหมือน “ผู้นำทาง” ซึ่งภารกิจก็คือการฟื้นฟูสถานภาพของตนเองโดยผ่านการระดมพลของชาติ ทางออกทางการเมืองของอิมามโคมัยนีกลายมาเป็นความสำคัญทางศีลธรรม

โดยทั่วไปลักษณะของลัทธิโคมัยนีสามารถพบได้ในความหลากหลายของอิสลามนิยม คำสอนเรื่องอำนาจหน้าที่ของอิมามโคมัยนีสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาในบริบทของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคำสอนทางศาสนาของสำนักคิดชีอะฮ์และวัฒนธรรมทางการเมืองของอิหร่าน

สำนักคิดชีอะฮ์เกิดมาจากการแข่งขันเพื่อการเป็นผู้นำในสมัยต้นของชุมชนอิสลาม แบบอย่างแห่งอำนาจหน้าที่ตามประเพณีของชาวอาหรับเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจจากสมาชิกที่ได้รับเลือกจากเผ่าของท่านศาสดา ซึ่งได้รับการยอมรับโดยชาวมุสลิมส่วนใหญ่

แบบอย่างนี้สะท้อนถึงการปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานหรือเป็น “ซุนนะฮ์” ของท่านศาสดา ในเวลาเดียวกันทฤษฎีการปกครองซึ่งวางอยู่บนผู้สืบทอดที่ได้รับการแต่งตั้งและเป็นตัวแทนสภาพแวดล้อมแห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย-ไบเซนไตน์ (Perso-Bizantine) ได้พยายามเข้ามาแทนแง่มุมของสำนักคิดซุนนี

ภายในช่วงเวลาหลายทศวรรษ แง่มุมของชนกลุ่มน้อยมีลักษณะที่ได้มาจากผู้มาโปรดโลก (messianic) อำนาจหน้าที่ของผู้สืบทอดที่ได้รับการแต่งตั้งในทางทฤษฎีจะผ่านจากบิดาไปยังบุตรชายคนโตถึง 12 รุ่น

ก่อนที่รุ่นสุดท้ายจะหายตัวไปตามเส้นทางของศาสดาพยากรณ์

 

ชาวชีอะฮ์ซึ่งเป็นผู้ใช้ทฤษฎีการปกครองที่เชื่อว่าจักรวาลได้รับการปกครองโดยผู้นำที่ซ่อนตัวอยู่ (คืออิมาม) ซึ่งเป็นผู้ที่จะกลับมาภายใต้การกดขี่เพื่อที่จะสร้างโลกใหม่ซึ่งค่านิยมของจิตวิญญาณและทางโลกจะประนีประนอมกับยุคสมัยแห่งความยุติธรรม ทฤษฎีดังกล่าวเหมาะสมกับความต้องการทางจิตวิทยาของชาวเปอร์เซียกลุ่มน้อยที่ได้รับการกดขี่ เพื่อที่จะปฏิเสธการภักดีต่อรัฐบาลที่มิใช่ชีอะฮ์ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่

ในช่วงเวลาที่อิมามซ่อนตัวอยู่ นักการศาสนาชีอะฮ์จะอ้างสิทธิพิเศษที่จะกระทำในฐานะผู้ทำงานทั่วไปให้แก่อิมามเพื่อที่จะตีความกฎหมายของอิมามสำหรับกลุ่มชนต่างๆ บรรดานักการศาสนาชั้นสูงหรือมุจญ์ตะฮิด ผู้สามารถตีความจะได้รับการจัดอันดับไปตามความสามารถและตามลำดับชั้น

อะยาตุลลอฮ์จะเลือกโฆษกในการลงความเห็นจากในหมู่อะยาตุลลอฮ์ด้วยกันเอง แต่อะยาตุลลอฮ์ผู้มีอำนาจสูงสุด (Grand Ayatollah) จะไม่พูดถึงอิมามที่ติดต่อไม่ได้หรือปกครองชุมชน แต่จะเป็นมุจญ์ตะฮิด ซึ่งผู้ศรัทธาจะเชื่อตามในเรื่องของกฎหมายและจริยธรรมทางสังคม ซึ่งหน้าที่ในการชี้นำสังคม (วิลายะตุลฟะกีฮ์ – wilayat al-faqih) ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สำนักงานทางการเมืองอันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมภายในและลัทธิจักรวรรดินิยมจากภายนอก

เมื่อการมีอำนาจสูงสุดของเปอร์เซียฟื้นคืนมาในตอนต้นของศตวรรษที่สิบหกเป็นครั้งแรกที่ผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์ได้เป็นผู้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ

เวลานี้รัฐได้เข้ามาผูกขาดในการควบคุมเหนือสังคม นักการศาสนาถูกกำหนดให้ตัดสินว่าจะประนีประนอมในเรื่องสังคมการเมืองที่ตนเองมีอำนาจอยู่ในระดับใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐและการปกป้องรัฐ

 

ในระหว่างสามศตวรรษต่อมา ความตึงเครียดนี้มีผลกระทบโดยตรงกับความสัมพันธ์ของรัฐกับนักการศาสนา อันเนื่องมาจากผลกระทบของความทันสมัยภายในและแรงกดดันจากภายนอกคือจากอังกฤษและรัสเซีย

รัฐจึงพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจและลดเขตอำนาจปกครองตนเองของนักการศาสนาลงไป แต่รัฐก็อ่อนแอลงและมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น ในทางทฤษฎีมิได้มีการปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐของซุนนีหรือชีอะฮ์ก็ตาม

ต่อมานักการศาสนาค่อยๆ ละทิ้งทัศนคติของตนที่มีความปรองดองกับรัฐในภาคปฏิบัติและเปลี่ยนเป็นเงียบเฉย พวกเขาเคลื่อนไหวทางศาสนาไปสู่ความเป็นอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม นักการศาสนาก็มิได้กล่าวประณามความชอบธรรมของอำนาจทางโลกแต่อย่างใด

กระบวนการแห่งความตกต่ำเพิ่มมากขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่สิบเก้า และอิหร่านอยู่ภายใต้ช่วงของความขัดแย้งที่ขยายตัวออกไป

ช่วงเวลานี้ที่ยุโรปเข้ามาก้าวก่ายทำให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเกิดความสับสน

 

เมื่อราชวงศ์ปาห์ลาวีเข้าสู่อำนาจในทศวรรษ 1920 นักการศาสนาก็ก้าวหน้าไปแล้วในการสร้างตัวเองขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่เป็นชนชั้นที่เป็นอิสระและปฏิเสธความคิดในเรื่องราชาธิปไตยทางโลก นักการศาสนาจึงมีอิทธิพลอย่างมากในฐานะที่เป็นเป้าหมายในช่วงขณะของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนเรื่องวิลายะตุลฟะกีฮ์ ที่ยอมรับให้นักการศาสนาขยายการควบคุมอย่างสมบูรณ์เหนือรัฐเมื่อรัฐบาลปาห์ลาวีพังทลายลง

ดังนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งอิมามปฏิบัติจึงเป็นการปฏิบัติที่มีการเตรียมพื้นที่สำหรับทฤษฎีที่นำไปสู่การมีอำนาจเบ็ดเสร็จของนักการศาสนา อิมามใช้บทบาทของตัวเองในการมุ่งความสนใจไปยังข้อเรียกร้องของนักการศาสนาและประชาชนในการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน

แต่อิมามก็มิได้ทำการปฏิวัติ มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ แต่เป็นชาฮ์ต่างหากที่เป็นสาเหตุ เป็นตัวเร่งและเป็นขอบเขตของการปฏิวัติ เรซา ชาฮ์ พยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อของพระองค์ไปสู่การทำให้จักรวรรดิอิหร่านไปเป็นอำนาจส่วนตัวของพระองค์ในเวลาที่ประเทศไม่อาจสนับสนุนความมั่งคั่งที่เสแสร้งเช่นนั้นได้

ภายใต้มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ประเทศต้องเจ็บปวดจากความยุ่งเหยิงอย่างหนัก ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่นในชนชั้นนำที่ปกครองอยู่ สุญญากาศทางการเมืองและอุดมการณ์ ความเป็นเมืองที่ไม่อาจคุมได้ ความตกต่ำของภาคสาธารณะ และอิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงใน ค.ศ.1978-1979 มาพร้อมกับความตกต่ำในการครองความเป็นเจ้าในอ่าวเปอร์เซียภายใต้ความรุ่งเรืองของสหรัฐ

นี่เป็นเหตุการณ์ที่อิมามผสมผสานแนวความคิดของเขาเข้าด้วยกันขณะอยู่ต่างประเทศ กระนั้นฝูงชนก็เอาใจใส่คำพูดของอิมาม โดยผ่านเครือข่ายของนักการศาสนาและผลิตคาสเส็ตซึ่งบันทึกคำเทศนาของอิมาม อันมีศักยภาพสำหรับการระดมพลการเมือง และสำหรับความเร่าร้อนที่จะทำตามอิมาม แต่คนเหล่านั้นยังเป็นได้แค่มวลชนที่ยังขาดรูปแบบ

อิมามได้แนะนำความคิดในเรื่องความศรัทธาที่ถูกต้องให้กับผู้นิยมแนวความคิดของเขา โดยความศรัทธาที่ถูกต้องนี้มีแรงบันดาลใจมาจากคำสอนในคัมภีร์อัล-กุรอาน นอกจากนี้อิมามโคมัยนียังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีประวัติศาสตร์การเป็นผู้สละเพื่อศาสนามาตลอด มีความสุขุมและมีความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวที่มีแบบแผน

อิมามได้ใช้ความเป็นอนุรักษนิยมในทางศาสนา และอารมณ์การเคลื่อนไหวสู่การทำลายลัทธิทางโลกที่หลงเหลืออยู่ในอิหร่าน และภายในระยะเวลาสั้นๆ อิสลามนิยมได้กวาดผ่านจักรวรรดินิยมปาห์ลาวีที่อ่อนแอลงไป

ภายในหลายปีของการขึ้นมาสู่อำนาจสูงสุดของอิมามโคมัยนีในอิหร่านมีเหตุการณ์สามประการที่ได้เกิดขึ้นมาก่อน อันเนื่องมาจากการขยายตัวโดยทันทีของแบบแผนอิสลาม

ประการแรก เป็นวิกฤตตัวประกันอเมริกัน (American hostage crisis) แห่งเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1979

ประการที่สองคือ สงครามกับอิรักซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1980

และประการที่สามคือ การที่อิสราเอลรุกรานเลบานอนในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1982 ด้วยความระมัดระวังอย่างที่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นอยู่ รัฐบาลของนักการศาสนามีความเห็นไปถึงจุดที่ว่าอำนาจของ “ซาตาน” จากภายนอกได้คุกคามต่อชุมชนชีอะฮ์ของอิหร่านและตะวันออกกลาง

ดังนั้น เหตุการณ์เหล่านี้จึงมีส่วนโดยตรงต่อชัยชนะในการปกครองของนักการศาสนา