พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ระบบการเงิน การคลังแบบง่ายๆ

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ปีใหม่นี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ดี ถ้าจำกัดการวิเคราะห์ที่มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังเท่านั้น ไม่รวมถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เราใช้มาตรการทั้ง ๒ นี้ในการดูแลประเทศได้ ในฐานะประชาชนการมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างก็จะมีประโยชน์จึงขอนำเสนอให้พิจารณากัน เพื่อว่าจะได้เตรียมตัวกันได้ถูกต้องต่อไป

มาตรการการเงินมีสามอย่างหลักๆคือเรื่องอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อและการรักษาค่าเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนมาตรการทางการคลังหลักๆคือเรื่องภาษี ทั้งการเก็บภาษีและการใช้ภาษี ยังมีมาตรการปลีกย่อยอีกบ้าง แต่เพียงเท่านี้ก็เพียงพอกับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้หยาบๆแล้ว

ปกติเราจะใช้มาตรการทางการเงินให้มาก ใช้มาตรการทางการคลังให้น้อยเพราะหากรัฐไปแย่งทรัพยากรที่หายากกับเอกชน เช่นออกพันธบัตรมากเกินไป เอกชนจะย้ายเงินจากตลาดหุ้นมาเป็นเจ้าหนี้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีไปจ่ายให้ ผลก็คือไม่มีการผลิตที่มีผลตอบแทนอะไรเป็นต้น แถมต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาใช้หนี้อีกเป็นต้น

มาดูที่มาตรการทางการเงิน หลักทั่วไปคือหากอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป คนผ่อนบ้านมักจะไม่มีปัญญาจ่ายทำให้ธนาคารมีหนี้เสียมาก หรือกลับกันดอกเบี้ยแพงมากคนไม่ลงทุน เศรษฐกิจหดตัวเป็นต้น แต่อัตราดอกเบี้ยเราต้องสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งเกิดจากการเก็งกำไรที่ดินกับการนำเงินกู้จากต่างประเทศมาฝากกินส่วนต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง การที่เก็งกำไรมากเงินเฟ้อก็สูง ต้องดูว่าเงินเฟ้อเป็นแบบด้านดีหรือด้านไม่ดี ถ้าด้านดีเงินเฟ้อต้องเกิดจากการผลิตคึกคัก โรงงานมากแย่งคนงานกันด้วยการให้เงินเดือนสูงๆ คนจับจ่ายมากเพราะรวยทั้งหมดเป็นเงินเฟ้อจากอุปทานหรือความต้องการซื้อสินค้าสูง ส่วนด้านไม่ดีคือข้าวของราคาขึ้น เช่นจากน้ำมันแพง หรือรายได้ไม่พอ จึงขึ้นราคาสินค้ากันทั้งๆที่การผลิตไม่ดีหรือที่หนักคือราคาที่ดินซึ่งจะซ้ำเติมการก่อสร้างโรงงานทำให้การผลิตลดลงเพราะที่แพง เกษตรกรก็ขายที่มาเช่าที่แทนทำให้ไม่มีกำลังใจในการผลิต การจะระงับเงินเฟ้อก็มักจะใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกกันว่าลดความร้อนแรง แต่ถ้าเป็นเงินเฟ้อที่ไม่ดี ขึ้นดอกเบี้ยคนยิ่งขายที่ โรงงานยิ่งตั้งไม่ได้เป็นต้น จึงต้องดูอย่างรอบคอบ ตัวสุดท้ายคือค่าเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเงินเข้าประเทศมากเกิดเงินเฟ้อที่ดี แต่ค่าเงินแข็งต่อไปขายของจะยากขึ้นเพราะราคาแพง ปกติก็ต้องสร้างการนำเงินออกนอกประเทศ เช่นกรณีจีนเกิดเงินเฟ้อ แต่ยังสามารถรักษาค่าเงินให้ต่ำๆไว้ได้เพราะเอาเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากๆ เป็นการพักเงินไว้ในต่างประเทศในรูปเงินตราต่างประเทศด้วย ค่าเงินอ่อนดีต่อการส่งออก แต่ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง เอาแต่ซื้อของเข้าต้นทุนก็จะแพงเพราะเงินอ่อน หรือกลับกันเงินเข้ามาก เอาเงินออกไปลงทุนไม่เป็นค่าเงินแข็ง ของขายก็จะมีราคาแพง ขายไม่ออก แต่คนจะรู้สึกว่าตัวรวยซื้อของต่างประเทศได้ถูกๆ ก็จะออกไปเที่ยวมากขึ้น จนค่าเงินกลับมาอ่อนอีก แต่วิธีนี้เท่ากับขาดดุลการชำระเงิน สู้การเอาเงินใหญ่ๆไปลงทุนต่างประเทศ แบบจีนที่ทำอยู่ไม่ได้ เพราะทั้งได้เงินและค่าเงินก็ยังคงอ่อนได้ต่อไป

ส่วนมาตรการทางการคลังคือการเก็บภาษีและการใช้ภาษี หลักทั่วไปคือรัฐเก็บภาษีให้น้อยที่สุด และเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างกลุ่มต่างๆมากกว่าหารายได้ให้ระบบราชการคือรัฐ มาดูด้านการเก็บภาษีก่อน ประเทศไทยเก็บภาษีทางอ้อมคือ VAT มาก ภาษีทางอ้อมนี้ คนจน คนรวยเสียเท่ากันแปลว่าเป็นภาษีที่เอาเปรียบคนจน ภาษีที่ดีคือภาษีทางตรงได้แก่การเก็บเงินจากรายได้ของทุกคน ซึ่งไทยมีผู้เสียภาษีทางตรงจริงน้อยมาก ยังไม่ต้องไปดูถึงภาษีที่ดิน ภาษีมรดกซึ่งเอาเข้าจริงก็มีข้อยกเว้นให้คนรวยอยู่ดี เอาแค่ภาษีนายหน้า ภาษีเงินได้ภาคเอกชน ก็ควรต้องจัดเก็บได้หมดหนีไม่ได้ ซึ่งมีวิธีการอยู่ด้วยระบบสารสนเทศในการมีบันทึกการเคลื่อนไหวของสินค้า ก็จะตรวจสอบกลับมาถึงการใช้เงินของบริษัท ห้าง ร้านได้ เช่นนั้นการจ่ายภาษีทางตรงจะมากขึ้น จนสามารถลดอัตราภาษีลงได้จนอยู่ระดับที่ทุกฝ่ายพอใจ

ส่วนการใช้ภาษีนั้นหากเก็บภาษีได้ทั่วถึง เงินในการบริหารประเทศจะมากเพียงพอเอง โดยไม่ต้องรีดภาษีกับประชาชน การใช้ภาษีหลักคือ ทุกบาทต้องหมายถึงประเทศต้องได้กำไรกลับคืนมากกว่า ดังนั้นเป้าหมายหลักในการใช้ภาษีคือส่งเสริมให้มีการนำรายได้เข้าประเทศในทุกวิถีทางทั้งตัวเงินและการได้เปรียบดุลการค้าหรือขายได้เงินมากกว่าซื้อ อีกประการหนึ่งคือสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมในด้านการใช้ภาษีคือผู้ที่ด้อยโอกาสจะมีภาษีแบบติดลบให้ หมายถึงแทนที่จะเก็บภาษีคนจน ก็เอาเงินภาษีมาให้คนจนในรูปของสวัสดิการแทน ส่วนภาษีแบบทางบวกคือผู้มีเงินได้พอจ่ายภาษีก็ไปเก็บ เป็นต้น  อีกกรณีคือมาตรฐานชีวิต เช่นการศึกษา สาธารณสุขหรือ ปัจจัยสี่หากมีภัย เป็นต้นจะมีการให้โดยไม่คิดมูลค่าโดยเสมอภาคกันเป็นต้น ปัญหาของไทยคือเงินภาษีส่วนใหญ่ใช้เป็นเงินเดือนและการใช้จ่ายสิ้นเปลืองของข้าราชการ มีเพียงไม่มากนักเป็นงบลงทุน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะไม่ดูแลคนจน และการสาธารณสุขอีกด้วย ดังนั้นความเสมอภาคในด้านนี้จึงมีค่อนข้างจำกัด

ในการบริหารประเทศ เช่นกรณีไทยตอนนี้ การส่งออกซบเซา ธนาคารและภาคเอกชนไม่ลงทุน ต่างรอคอยโอกาสอยู่เฉยๆ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำก็คือ ระวังไม่ให้เกิดเงินเฟ้อจากด้านอุปาทานคือสินค้าจำเป็นต่างๆที่ไม่สร้างการผลิตต้องราคาไม่แพง เช่น ราคาอาหาร และทำให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรอคอยโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่นภาคการเกษตรสามารถอยู่ได้โดยหาตลาดเฉพาะทางให้ ในราคาที่สูงขึ้น เพราะสินค้าฟุ่มเฟือยด้วยรสนิยมเฉพาะยังขายได้ด้วยคุณภาพของสินค้าเอง และภาคเกษตรยังทำงานในภาวะซบเซา การดูแลภาคการเกษตรให้มีการผลิตแบบเฉพาะทาง มีตลาดเฉพาะทางให้จะเกิดประโยชน์สูงสุด จะนำเงินเข้าประเทศได้ ดอกเบี้ยต้องต่ำและค่าเงินต้องอ่อนค่าไว้ก่อน ดังนั้นการประเมินที่ดินควรยืดเวลาออกไปเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึงหรือปรับการผลิตไปสู่ยุคสารสนเทศและหุ่นยนต์แทนค่าจ้างขั้นต่ำมากขึ้น เมื่อทิ้งภาคอุตสาหกรรมไว้ก่อน ภาคการเกษตรก็จะพอมีเงินในการส่งเสริม ด้วยการหาเครื่องยนต์ในการทำปัจจัยการผลิตและการแปรรูปให้เพื่อลดต้นทุนและสามารถผลิตพืชเฉพาะทางได้ หากทำได้ตลาดจะไม่เป็นที่ยุ่งยากในการเจาะอีกต่อไป ส่วนมาตรการทางการคลังก็คือลดภาระของเกษตรกร หรือใช้ภาษีมาสนับสนุนการผลิตมากขึ้น เช่นรถจักร โรงสีขนาดย่อม หรือโรงงงานแปรรูปอื่นๆ รวมถึงการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่จะมีผลต่ออนาคต

รัฐบาลมีมาตรการลดภาษีให้กับข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ แต่มาเก็บภาษีในเรื่องอื่นๆแทน มีมาตรการให้เงินคนจน แต่ก็มาเพิ่มภาษีน้ำมัน หลายอย่างนั้นขัดกันในตัว ไม่อาจบอกว่ารัฐบาลผิดหรือถูกในเรื่องอะไร แต่หลักการทั่วไปคือ ควรมีความสอดคล้องกันและมีทิศทางที่ชัดเจน จึงจะเกิดผล ภาวะซบเซาเช่นนี้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบสูญเปล่าเพราะขนาดเล็กเกินไป ขัดกันเองหรือกลุ่มเป้าหมายไม่เหมาะสม จึงควรเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันใหม่ ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะซบเซายาวนาน ดอกเบี้ยต่ำติดดิน แต่คนก็ยังไม่ยอมใช้เงินเพราะแง่มุมทางจิตวิทยา ประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน ผลจากความเชื่อมั่นต่อภาวะการเมืองและเศรษฐกิจมีผลต่อการลงทุน การใช้มาตรการทางการเงินและการคลังจึงควรสอดคล้องเหมาะสมด้วย จึงจะอย่างน้อยรักษาสภาพได้หรือถ้าโชคดีก็เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพต่อไป