ห้าม! หยิบดอกไม้จันทน์ให้กัน? ใครห้าม ? มีที่มาจากไหน ? | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูผู้ใหญ่ของผมท่านหนึ่ง

มีผู้ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เจ้าภาพไม่สามารถแจกดอกไม้จันทน์สำหรับแขกที่นั่งรออยู่ตามศาลาต่างๆ ได้ครบจำนวน

เมื่อถึงเวลาที่เดินต่อแถวขึ้นบนเมรุ ผมจึงเฝ้าสังเกตว่าผมจะหยิบดอกไม้จันทน์เพื่อขึ้นไปวางบนจิตกาธานได้จากที่ไหนบ้าง

จังหวะไม่ดีอยู่สักหน่อยที่แถวเดินขึ้นเมรุแบ่งเป็นสองแถว ซ้ายขวา ผมอยู่แถวชิดขวาขณะที่มีโต๊ะวางดอกไม้จันทน์อยู่ชิดแถวด้านซ้าย ผู้ที่เดินอยู่หน้าผมคนหนึ่งไม่มีดอกไม้จันทน์ในมือเช่นเดียวกัน

คุณผู้ชายท่านนั้นจึงเบี่ยงตัวเพื่อขอแทรกแถวทางด้านซ้ายมือเอื้อมไปหยิบดอกไม้จันทน์มาใส่มือ ผมเห็นดังนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า “กรุณาหยิบให้ผมด้วยครับ”

ขณะนั้นเองท่านสุภาพสตรีอีกสองสามท่านที่อยู่ใกล้เคียงได้กล่าวขึ้นด้วยความปรารถนาดีว่า “ไม่ได้ค่ะ เขาถือกัน ต้องหยิบเอง”

ผมได้กล่าวขอบพระคุณและกล่าวต่อไปว่า “เห็นจะไม่เป็นไรครับ ผมไม่ถือ อย่างไรก็ต้องตายครับ”

ทุกท่านจึงยิ้มให้แก่กัน และคุณผู้ชายท่านนั้นก็หยิบดอกไม้จันทน์ให้ผมหนึ่งช่อ ตามคำขอร้องของผม

“ขอบคุณมากนะครับ ขอบพระคุณเป็นพิเศษสำหรับความห่วงใยของหลายท่านที่เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายกับผม”

คติเรื่องไม่ให้ส่งดอกไม้จันทน์ให้แก่กันนี้ ผมสังเกตและเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง

แต่เก่าก่อนโบราณมาไม่เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ท่านพูดหรือบันทึกเรื่องนี้ไว้

เมื่อผมได้นำเรื่องนี้มาเขียนไว้ใน Facebook ของผม ปรากฏว่ามีเพื่อนฝูงหลายท่านได้มาแสดงความคิดเห็น

ผมเองก็รู้สึกเป็นหน้าที่ต้องไปขวนขวายขยายค้นคว้าเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย

พอได้เนื้อความมาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ครับ

เบื้องต้นทีเดียวต้องว่ากันถึงเรื่องธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เสียก่อน

พระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) ซึ่งเป็นผู้ที่คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นปรมาจารย์ในเรื่องคติชนวิทยาอย่างนี้ ท่านอธิบายและผมเก็บความโดยสรุปได้ว่า ธรรมเนียมประเพณีนั่นคือ

“ความประพฤติที่คนในส่วนรวมถือกันเป็นธรรมเนียมหรือเป็นระเบียบแบบแผน และสืบต่อกันมานานจนลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน”

แต่ท่านก็บอกไว้ด้วยนะครับว่า นานวันเข้าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นความประพฤติของผู้คนในบ้านเมืองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อให้เหมาะและเข้ากันได้กับสมัย

แต่ก็มีประเพณีหลายอย่างที่ทำตามกันสืบมาจนในที่สุดไม่มีความหมายหรือไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่เริ่มต้นเสียแล้ว

ท่านบอกว่า “ถ้าไม่ทำก็รู้สึกว่างๆ เหมือนมีอะไรขาดไป กระทำให้ไม่สบายใจ”

ว่าถึงเรื่องประเพณีเกี่ยวกับการเผาศพ ที่ทุกวันนี้เรานิยมใช้ธูปหนึ่งดอก เทียนหนึ่งเล่ม และมีดอกไม้จันทน์ช่อหนึ่งไปวางที่จิตกาธานหรือเชิงตะกอนเผาศพ

เรื่องเดิมมาจากการที่ผู้ไปช่วยงานศพนำฟืนคนละท่อนสองท่อนไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพเหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ในต่างจังหวัดอีกหลายแห่งแม้จนทุกวันนี้

ธูปกับเทียนนั้นพอเข้าใจได้ง่ายว่าใช้เป็นเครื่องขมาศพและใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย

ส่วนดอกไม้จันทน์นั้นท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ท่านสันนิษฐานว่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะไม้จันทน์เป็นของแพง ใครใช้ไม้จันทน์เผาศพก็แสดงว่าเป็นคนมั่งมี

และผมเองจะเดาต่อไปด้วยว่าอาจจะได้ประโยชน์ในทางกลิ่นหอมของไม้จันทน์ เพื่อกลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

ผมพบว่าท่านผู้ใหญ่ที่ยังเคร่งธรรมเนียมเดิม หรือพระภิกษุที่ถือแบบอย่างของคณะสงฆ์อย่างเก่า เมื่อถึงเวลาท่านจะไปงานศพของผู้ใดก็ตาม ท่านจะนำธูปไม้ระกำหนึ่งดอกและเทียนขี้ผึ้งอีกหนึ่งเล่ม มัดคู่กันและนำไปวางบนจิตกาธาน

เป็นการขอขมาและช่วยเผาศพพร้อมกันไปในเวลาเดียวกัน

แต่อย่างว่านะครับ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่จะนำธูปเทียนติดมือไปจากบ้านเพื่อไปงานศพก็มีน้อยลง บัดนี้นิยมกันว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพจะต้องจัดช่อดอกไม้จันทน์พร้อมธูปเทียนไว้ให้แขกได้ใช้เคารพศพบนเมรุเมื่อถึงเวลา

ผมพบว่าบางงาน ธูปเทียนนั้นมีขนาดลดลงเหลือนิดเดียวจนแทบจะมองไม่เห็น ได้เคยนึกในใจว่าต้องควานหากันเลยทีเดียว ทุกอย่างย่อขนาดลงจนเหลือเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น

ส่วนคติที่ว่าไม่ให้ส่งดอกไม้จันทน์ให้แก่กัน แต่เป็นเรื่องที่แต่ละคนแต่ละท่านต้องหยิบเองจากพานที่เจ้าภาพจัดไว้ให้ เพราะถือว่าเป็นของไม่มงคล ไม่ควรส่งให้แก่กันนั้น

ผมค้นดูในหนังสือหลายเล่มไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาส์นสมเด็จหรืองานเขียนของเจ้าคุณอนุมานฯ ก็ไม่พบร่องรอยคำอธิบาย

ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอย่างอื่นก็อยากจะเข้าใจว่าเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อไม่ช้านานมานี้เอง

ส่วนจะเริ่มต้นจากที่ใดนั้นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันต่อไป

ในหนังสือเรื่องประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เกิด-ตาย ของเจ้าคุณอนุมานฯ ท่านอธิบายไว้เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องห้ามต่อไฟเผา ซึ่งท่านหมายความถึงกรณีการเผาศพในต่างจังหวัดที่ผู้มาช่วยงาน ต่างนำฟืนมาเผาศพ เมื่อถึงเวลาจุดไฟเผาศพจริง ต่างคนย่อมจุดไฟของตนเองหรือจุดจากกองไต้ที่จัดเป็นต้นเพลิงกองกลาง แล้วนำไปวางที่เชิงตะกอน ท่านอธิบายว่า “พอจะเห็นเหตุห้ามไม่ให้ต่อไฟกัน เพราะไต้จะหยดทำให้เสียเวลาจริงๆ และกองไฟสำหรับจุดต่อก็มีอยู่ถมไป ไม่จำเป็นต้องไปต่อไฟกันให้เสียเวลา”

ถ้าแบบธรรมเนียมการไม่ส่งดอกไม้จันทน์ยื่นต่อให้แก่กันมีมาแต่เดิมแล้ว ผมมั่นใจว่าท่านเจ้าคุณอนุมานฯ เห็นจะไม่ละเลยที่จะอธิบายเป็นแน่

เรื่องของความเชื่อนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคนนะครับ จะไปห้ามปรามกันว่าผิดว่าถูกเห็นจะไม่ได้ ถ้าท่านใดถือคติแบบนี้เคร่งครัดท่านก็ต้องระมัดระวังไม่ทำเช่นนั้น ใครจะหยิบยื่นดอกไม้จันทน์ให้ท่านก็ปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล อย่าถึงโกรธเคืองกัน เพียงนี้เห็นจะสิ้นกังวล

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ถือแบบธรรมเนียมนี้ (เช่นผม) ชีวิตก็ง่ายอยู่สักหน่อย ไม่ต้องวิตกกังวลอะไรกับเรื่องนี้

มีรุ่นน้องคนหนึ่งให้ความเห็นไว้ใน Facebook ที่ผมเขียนเรื่องนี้ว่า เรื่องตายไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอกครับ ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือไม่ตายนี่แหละ

ฮา! ข้อนี้น่ากังวลจริงครับ