วิรัตน์ แสงทองคำ : เบียร์ช้างกับสตาร์บัคส์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

แผนการเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย เป็นไปอย่างน่าทึ่ง

กรณีกิจการในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ (แม้มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลาย แต่ผู้คนมักเรียกว่า “เบียร์ช้าง”) เข้าเกี่ยวข้องดำเนินกิจการเครือข่ายร้านกาแฟระดับโลก Starbucks ในประเทศไทย สร้างความตื่นเต้นในสังคมธุรกิจทั้งไทยและภูมิภาค สะเทือนสะท้อนมุมมองเรื่องราวอย่างหลากหลาย ซับซ้อน ซึ่งควรเป็นเช่นนั้นจริงๆ

คงจำกันได้ว่าเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว Starbucks ในสหรัฐอเมริกา เริ่มจำหน่ายเบียร์ (และไวน์) ในช่วงดึกๆ ในหลายร้าน

คงเป็นเรื่องตื่นเต้น หากเป็นไปในเมืองไทย แต่นั่นยังคงเป็นเพียงเรื่องคาดเดา เป็นบทสนทนาอย่างออกรส ยังมิใช่สาระสำคัญจะกล่าวถึงในขณะนี้

 

ว่าด้วยดีล

ข้อมูลกรณีซึ่งอ้างอิงได้ มีการเปิดเผยมาจากต้นแหล่งหลายแหล่งที่เกี่ยวข้อง

เริ่มต้นจาก Starbucks Coffee Company ในฐานะบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ (NASDAQ : SBUX) ถ้อยแถลงมาจาก SEATTLE (23 พฤกษาคม 2562) ว่า เครือข่ายร้านกาแฟในเมืองไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนมือ (Starbucks Retail Business in Thailand Transitions to Coffee Concepts Thailand)

ไปยัง Coffee Concepts Thailand ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Maxim”s Caterers Limited แห่งฮ่องกง กับหุ้นส่วนไทย – F&N Retail Connection Co., Ltd. ซึ่งใช้คำว่า fully licensed โดยเน้นว่า มีสิทธิในการดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ให้เติบโตในตลาดไทยด้วยอัตราเร่ง “ให้โฟกัสการเร่งพัฒนาสร้างเครือข่ายร้านใหม่ๆ” ยังไม่พอ มีอีกตอนในถ้อยแถลงอ้างถึงคำกล่าวของผู้บริหาร Starbucks เป็นการตอกย้ำอีกครั้ง

อีกด้านหนึ่งในวันเดียวกันมีถ้อยแถลงมาจากสิงคโปร์ โดย Fraser and Neave, Limited หรือ F&N (รายงานต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ หรือ Singapore Exchange Securities Trading Limited) ระบุว่า ได้เข้าสู่ธุรกิจเครือข่ายร้านกาแฟพรีเมียมซึ่งเติบโตเร็ว (F&N Enters Fast-Growing Premium Retail Coffee Segment) ทั้งนี้ ให้นิยามลักษณะดีลไว้ว่า เข้าถือหุ้นทั้งหมดใน Starbucks Coffee (Thailand) Co., Ltd

โดยเน้นว่า การซื้อกิจการข้างต้นสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ F&N เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงได้ และเป็นการเสริมกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่มีอยู่แล้ว

ข้างต้นคือสาระสำคัญซึ่งสื่อทั้งหลายให้ความสนใจสรุปความ ทั้งนี้ สื่อระดับโลกให้ความสนใจดีลนี้เช่นกัน บางรายประเมินมูลค่าการดำเนินธุรกิจ Starbucks ในไทยมีกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวน 372 สาขา เป็นการคาดกันมูลค่าดีลซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผย คงมีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท

 

เกี่ยวกับไทยเบฟ

สื่อทั้งหลายมักอ้างว่า ดีลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับไทยเบฟ แห่งกลุ่มทีซีซี ซึ่งมีเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำ ด้วยเชื่อมโยงกับ Fraser and Neave หรือ F&N โดยตรง

ความเชื่อมโยงนั้น เปิดฉากขึ้นเมื่อกรกฎาคม 2555 เมื่อไทยเบฟ (รวมทั้ง nominees) ได้เข้าซื้อหุ้นประมาณ 24% ของ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์ เป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งว่าด้วยธุรกิจไทยซื้อกิจการในต่างประเทศ ด้วยมูลค่าเกือบหนึ่งแสนล้านบาท

Fraser and Neave หรือ F&N ธุรกิจเก่าแก่ของสิงคโปร์ บริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกับกลุ่มทีซีซี คือมีธุรกิจเบียร์และอสังหาริมทรัพย์ มีอีกบางสิ่งบางอย่างที่ไทยเบฟอยากจะเป็น นั่นคือธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค

ขณะข้อมูลไทยเบฟ (http://www.thaibev.com) ได้รายงานไว้อย่างสอดคล้องกัน “เข้าซื้อหุ้นในเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) ผู้ผลิตและจัดจําหน่ายเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์และสิ่งพิมพ์ชั้นนําของสิงคโปร์ ส่งผลให้ F&N เข้าเป็นบริษัทร่วมของไทยเบฟ (สิงหาคม 2555)”

และ “การเข้าซื้อหุ้นใน F&N เสร็จสิ้น โดยไทยเบฟถือหุ้นประมาณร้อยละ 28.6 นับเป็นการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มระดับภูมิภาค (กุมภาพันธ์ 2556)”

ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยเบฟกับ F&N นั้น F&N มักรายงานว่า F&N เป็นบริษัทร่วม (associated company) ของไทยเบฟ (ไทยเบฟถือหุ้นมากกว่า 20% แต่ไม่มากกว่า 50% จึงไม่ต้องนำข้อมูลการเงิน F&N มารวมไว้)

ทั้งนี้ ไทยเบฟกับ F&N มีกรรมการร่วมกัน คือ เจริญและวรรณา สิริวัฒนภักดี โดยผู้ถือหุ้นในไทยเบฟ ร่วมกันถือหุ้นข้างมากใน F&N

 

ส่วนกรณีดีล Starbucks นั้นมีการจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อนพอสมควร ขอนำเสนอย่างคร่าวๆ พอให้เห็นภาพ

ในวันเดียวกันนั้น (23 พฤกษาคม 2562) ไทยเบฟได้รายงานต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์เกี่ยวกับดีลข้างต้น ดูเหมือนสื่อทั้งหลายจะมองข้ามไป แม้จะดูเป็นเทคนิคของวิศวกรการเงินและบัญชี แต่ก็น่าสนใจตรงสัดส่วนการในถือหุ้นของการร่วมทุน

ทั้งนี้ ต้องย้อนไปพิจารณารายงานก่อนหน้านั้น (19 มีนาคม 2562) เสียก่อน เกี่ยวกับการจัดตั้ง F&N Retail Connection Co., Ltd จดทะเบียนในประเทศไทย มีโครงสร้างการถือหุ้นซับซ้อนย้อนไป-มา ระหว่างไทยเบฟกับ F&N โดยพยายามมิให้ไทยเบฟถือหุ้นโดยตรง และให้ F&N ถือหุ้นในเพดานเพียง 49% โดยจัดตั้ง F&N International Holding (จดทะเบียนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน มีไทยเบฟถือหุ้น 51% และฝ่าย F&N 49%) เข้าถือหุ้นใน F&N Retail Connection Co., Ltd 51% และฝ่าย F&N โดยตรงอีก 49% ภาพที่ปรากฏอย่างที่เข้าใจโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ F&N มีสัดส่วนในการถือหุ้นที่เป็นจริงในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในดีล Starbucks มากกว่าไทยเบฟ

รายงานไทยเบฟฉบับสำคัญ (23 พฤกษาคม 2562) นั้นกล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทสำคัญ Coffee Concepts (Thailand) Co., Ltd เพื่อเข้าบริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในประเทศไทย โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว สะท้อนความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างธุรกิจใหญ่ไทยและฮ่องกง

Coffee Concepts (Thailand) Co., Ltd ถือหุ้นในสัดส่วน 51% โดย Max Asia Food & Beverage (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย (ถือหุ้นในสัดส่วน 70/30 ระหว่าง F&N Retail Connection Co., Ltd และ MX Caterers (Asia) Pte. Ltd แห่งสิงคโปร์) อีก 49% ถือโดยฝ่าย MX Caterers

บทสรุปอย่างง่ายๆ คือ โครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจในการบริหาร Starbucks ในประเทศไทย ระหว่างฝ่ายไทยกับฮ่องกงมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หากพิจารณาทางคณิตศาสตร์อย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่า ฝ่ายฮ่องกงดูจะมีน้ำหนักมากกว่า

 

Maxim’s Group

หากย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยแถลงของ Starbucks อีกครั้ง ให้ความสำคัญกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึง Maxim”s เป็นพิเศษ

“ในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์มาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาเครือข่ายกาแฟ Starbucks ฐานะบริษัทได้รับสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า Starbucks มาตั้งแต่ปี 2543 โดยในปัจจุบัน Maxim”s บริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา มีมากกว่า 400 สาขา และพนักงานมากกว่า 6,000 คน”

Maxim”s Group แห่งฮ่องกง ก่อตั้งเมื่อปี 2499 ผู้นำเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย ทั้งเครือข่ายภัตตาคารอาหารจีน เอเชีย ยุโรป รวมไปถึงธุรกิจอาหารจานด่วน (quick service restaurants) และร้านเบเกอรี่ มากกว่า 1,300 แห่ง ในฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย

ที่กล่าวถึงเมืองไทยนั้น มีบางกรณีสะท้อนความสัมพันธ์กับไทยเบฟ ก็คือการร่วมทุนก่อตั้งเครือ MX Cakes & Bakery เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

และเมื่อไม่นานมานี้ (เมษายน 2562) มีการร่วมทุนกัน เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น-ซูชิสายพาน Genki Sushi ซึ่ง Maxim”s Group ถือสิทธิ์ในการขยายเครือข่าย Genki Sushi ต้นตำรับจากญี่ปุ่น ทั้งในฮ่องกง จีนตอนใต้ และต่อมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ว่าด้วยยุทธศาสตร์

กรณีดีล Starbucks มีอีกหลายมิติเชื่อมโยงกันอย่างเหลือเชื่อ

จากปี 2551 กลุ่มทีซีซีบุกเบิกธุรกิจกาแฟในประเทศลาว ก่อตั้ง Paksong Highland Company Limited โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในพื้นที่ปลูกกว่า 15,000 ไร่ บริเวณที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) แขวงจำปาสัก

สู่การซื้อเครือข่ายร้านกาแฟท้องถิ่น กาแฟวาวีแห่งเชียงใหม่ เมื่อปีที่แล้ว

จนมาถึงการบริหารเครือข่าย Starbucks ในประเทศไทย จนกลายเป็นธุรกิจใหญ่ไทยอีกราย บุกเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรอย่างจริงจัง เทียบเคียงกับ ปตท. และซีพี

จากดีลซึ่งขัดแย้ง ตัดความสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจระดับโลก กรณี Pepsi Co ในดีลเสริมสุข สู่ความร่วมมืออย่างอ่อนน้อมในฐานะผู้ถือแฟรนไชส์หนึ่งของ KFC ในประเทศไทย จนล่าสุด เข้าร่วมบริหารเครือข่ายร้านกาแฟระดับโลก ภายใต้โครงสร้างร่วมทุนกับหุ้นส่วนอีกราย

รวมทั้งว่าด้วยสายสัมพันธ์กับบทเรียนธุรกิจ แนวทางอรรถาธิบายในเชิงสังคมว่าด้วย “ทุน” ไทย ยุคใหม่ ในความพยายามก้าวออกสู่โลกภายนอกอย่างมีแบบแผนมากกว่าอดีต จากการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค เข้าซื้อกิจการใหญ่อันเก่าแก่ยุคก่อนสร้างชาติสิงคโปร์ ต่อมาร่วมทุนกับรัฐบาลเวียดนามในธุรกิจเบียร์ดูเหมือนย้อนรอยบทเรียนในเมืองไทย จนกระทั่งสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ จาก Maxim”s Group เชื่อว่าจะพยายามไปยังเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งฮ่องกง ซึ่งมีตำนานย้อนไปใกลถึงยุคอาณานิคม อย่างนวนิยายเรื่อง Tai-Pan ของ James Clavell

คงมีเรื่องราวจะต้องนำเสนอต่อไปอีก