เทศมองไทย : “พลเอกเปรม” กับการเมืองไทย

การถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ถูกพูดถึงมากมายไม่ใช่น้อยในหน้าสื่อและสำนักข่าวต่างประเทศ ด้วยเหตุผลหลากหลายด้วยกัน

แต่ที่อ้างอิงกันไว้มากที่สุด เหมือนอย่างที่แกรนท์ เปค แห่งเอพี บอกเอาไว้ในย่อหน้าเริ่มต้นข้อเขียนของตนเองในวันเดียวกันนั้นก็คือ พล.อ.เปรมเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดของไทยในห้วงเวลาต่อเนื่องกันยาวนานถึง 4 ทศวรรษ

ข้อเขียนของแกรนท์ เปค จึงยืดยาวเป็นพิเศษเมื่อพยายามสะท้อนถึงห้วงเวลายาวนานที่ว่านั้น

ผมเลือกหยิบมาบอกเล่ากันเท่าที่เล่าสู่กันฟังได้ ใครอยากรู้เรื่องเต็มๆ ไปหาอ่านจากเอพีเอาได้ครับ

 

แกรนท์ เปค เริ่มต้นด้วยการบอกว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ทุกคนรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับตัว พล.อ.เปรม คือการเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างยิ่งและยาวนาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในทันทีที่ พล.อ.เปรมพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากอยู่ในตำแหน่งมานานถึง 8 ปี

8 ปีที่ว่าคือช่วงระหว่างปี 1980 จนถึงปี 1988 และ “เป็นผู้เอื้อให้เกิดช่วงเวลาที่ถือได้ว่ามั่นคงหลังจากเกิดการลุกฮือขึ้นมาของขบวนการเพื่อประชาธิปไตยที่ประสบผลสำเร็จในการโค่นล้มเผด็จการทหารในปี 1973”

รวมทั้งระงับ “ความกระวนกระวายต่อการที่คอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จในการยึดครองประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนหลายประเทศในช่วงปี 1975” ลง

แกรนท์ เปค ยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า

“ในขณะที่ผู้บัญชาการทหารบกส่วนใหญ่ของไทยก้าวขึ้นมามีอำนาจ (ทางการเมือง) ผ่านการรัฐประหาร พล.อ.เปรมกลับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจากการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้จะไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม”

ในช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่ง พล.อ.เปรม “สามารถฟันฝ่า ผ่านความพยายามก่อรัฐประหารมาถึงสองครั้งแล้ว ทั้งยังเคยมีรายงานว่าตกเป็นเป้าในแผนการลอบสังหารหลายคราวอีกด้วย”

 

เอพีระบุว่า พล.อ.เปรมเริ่มมีชื่อเสียงในระดับชาติมาตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ในภาคอีสาน “โดยเป็นผู้เน้นย้ำว่า การพัฒนาชนบทกับการให้ความช่วยเหลือพลเรือนของทหารต่างหาก ไม่ใช่พลานุภาพทางทหาร จึงจะสามารถเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้” เมื่อก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมยังคงใช้นโยบายอภัยโทษ และวิธีการทางการเมืองอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการ “กลับใจ” ของกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นตามมา

พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี 1977 ต่อมาจึงก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกอีกคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

แกรนท์ เปค ชี้ว่า พล.อ.เปรมไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ถูกผลักดันจากนายทหารระดับล่างให้รับตำแหน่งนี้ในปี 1980

“ตอนนั้นไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ เกิดภัยคุกคามขึ้นบริเวณแนวชายแดนด้านติดต่อกับกัมพูชา ซึ่งในเวลานั้นถูกกองทัพเวียดนามยึดครองและขับไล่ระบอบการปกครองเขมรแดงออกมา แต่สิ่งที่เกิดตามมาด้วยก็คือบรรดาผู้อพยพเป็นเรือนแสนพากันหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย”

เขาตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น “ไทยได้ขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งกับจีน พันธมิตรตะวันตกทั้งหลาย ญี่ปุ่นและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันออกไปอย่างมาก”

ปัญหาตามแนวชายแดนกัมพูชาผ่อนคลายลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป และ พล.อ.เปรม “โชคดี” ที่เป็นผู้นำในยุคที่เศรษฐกิจไทย “เบ่งบาน” ซึ่งกว่าจะยุติลงก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 1997

 

แกรนท์ เปค บอกว่า ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ให้เครดิต” พล.อ.เปรมว่า “สามารถควบคุมทหารให้อยู่ในกรมกองได้ และจัดการกับความพยายามก่อรัฐประหารทั้งในปี 1981 และ 1985 ได้สำเร็จ ในขณะที่สามารถตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้คอร์รัปชั่นมากจนเกินไปได้ โดยการปิดกั้นกระทรวงการคลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกจากการเมืองภายในได้สำเร็จ”

เควิน เฮวิสัน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญไทยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า พล.อ.เปรมไม่เพียงไม่ชอบและไม่อยาก “เล่นการเมือง” เท่านั้น ยัง “ไม่ชื่นชมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” อย่างมากว่า เป็นแหล่งที่มาของการคอร์รัปชั่น ถึงขนาดเดินทางไปร่วมประชุมสภาน้อยครั้งมาก

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้สถาปนาระบบที่กลายเป็นแบบอย่างสำหรับรัฐบาลทหารในปัจจุบันนี้”