ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ถุงเท้า ในเครื่องแบบของความเป็นอารยะ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบ: SKN Media

ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า มนุษย์เราเริ่มประดิษฐ์ “ถุงเท้า” ขึ้นมาใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

พวกนักโบราณคดีเขาก็ได้แต่เดาๆ กันไปเท่านั้นเองว่า คงจะมีความพยายามประดิษฐ์ถุงเท้าขึ้นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นมนุษย์ถ้ำกันแล้วกระมัง? (ก็ครั้งหนึ่งโลกมันเคยหนาวเหน็บอย่างสุดขั้วจนถูกเรียกว่า ยุคน้ำแข็ง เลยนี่นะ จะไม่หาอะไรมาทำให้เท้าเราอุ่นขึ้นสักนิดก็ดูจะเป็นการทรมานสังขารอยู่มากเลยทีเดียว)

และกว่าจะมีอะไรที่พอจะยืนยันได้ว่า มนุษย์เราได้ประดิษฐ์นวัตกรรมที่เรียกว่า ถุงเท้า ขึ้นมาแล้วนั้น ก็ต้องรอจนถึงยุคที่ชาวกรีกโบราณบางคนมาเขียนอะไรบางอย่างทิ้งไว้ ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้อ่านกัน

ยอดกวีชาวกรีกอย่าง เฮสิออด (Hesiod) ซึ่งเคยเดินท่อมๆ อยู่ตามเมืองต่างๆ ที่ทุกวันนี้เหลือเพียงซากปรักหักพังอันเรืองรองของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่เมื่อราว 2,750-2,650 ปีที่แล้ว คือใครคนนั้น

เฮสิออดได้เคยเขียนถึงชีวิตประจำวันของเกษตรกรชาวกรีก ในสมัยนั้น และได้แนะนำพวกเขาว่าให้ใส่อะไรที่คล้ายๆ กับถุงเท้าไว้ใต้บู๊ตหนังวัว เพื่อรับมือกับอากาศอันหนาวเหน็บทารุณนี่ซะ

แต่นวัตกรรมกันหนาวที่ใช้สอดใส่อยู่ในเกือกนี่คงจะไม่ได้ตกทอดจากกรีกไปสู่โรมัน เหมือนอย่างปรัชญาหรือความรู้อื่นๆ เพราะว่ามีบันทึกของชาวโรมันเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ดูจะแสดงให้เห็นว่าพวกที่ถือตัวว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของชาวโลกในยุคนั้นอะเมซิ่งเอามากๆ ที่อนารยชนคนป่าเถื่อน (ในหัวของชาวโรมัน) อย่างพวกโกล (Gaul) และพวกเคลต์ (Celt) มีการนำเอาผ้าหรือแผ่นหนังสัตว์ มาพันไว้รอบเรียวขา และบางทีก็บนกางเกงตัวโคร่งของพวกเขา เพื่อให้ความอบอุ่น และบางทีก็ช่วยกันหนามเล็กๆ ยามเดินป่าได้ด้วย

การค้นพบครั้งนั้นได้ทำให้ชาวโรมันได้นำเอาภูมิปัญญาของชนชาวที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนป่า ไปดีไซน์เป็นเทรนด์ล้ำสมัยของชาวโรมันยุคนั้นเลยทีเดียว

แต่เรื่องราวเกี่ยวกับถุงเท้า ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในโลกตะวันตกกลับเกี่ยวข้องกับ วันคริสต์มาส และซานตาคลอส

เด็กน้อยชาวคริสต์ต่างก็มีธรรมเนียมการแขวนถุงเท้า (หรือถุงรูปทรงคล้ายถุงเท้า) เอาไว้ที่เตาผิงของบ้าน (หรือปลายเตียงของคุณหนูๆ เขาก็ได้) ในคืนสุกดิบก่อนวันคริสต์มาส หรือที่เรียกว่า คริสต์มาสอีฟ

แน่นอนว่าเด็กน้อยเหล่านี้ต่างก็มุ่งหวังให้ตื่นเช้าขึ้นมา ภายในถุงเท้าเหล่านั้นจะบรรจุไปด้วยของเล่น ขนม หรือของขวัญอะไรก็แล้วแต่ ที่คุณลุงซานตาคนดีนำมามอบให้กับพวกเขา

แต่ทำไม ซานตาคลอส ต้องเอาของขวัญไปยัดไว้ในบรรจุภัณฑ์เหม็นๆ อย่างถุงเท้า?

ตำนานอธิบายเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่หลายสำนวน แต่สำนวนที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุด เป็นเรื่องของนักบุญนิโคลัส แห่งไมรา (Saint Nicolas of Myra, ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) กับชายยากจน

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อนานโขมาแล้ว ชายยากจนคนหนึ่งมีลูกสาวแสนงามอยู่สามนาง ปัญหาที่สุมอยู่ในใจชายคนนั้นก็คือ เขาเป็นห่วงลูกสาวทั้งสามว่าหากเขาตายไปแล้วจะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร? ครั้นจะให้ออกเรือนไปชายคนนี้ก็ยากจนเสียจนไม่มีเงินจะให้ลูกทั้งสามได้แต่งงาน

สุดท้ายเรื่องไปถึงหูนักบุญนิโคลัส ในยามที่อาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว นักบุญท่านเลยแอบโยนถุงที่บรรจุไว้ด้วยลูกบอลทองคำสามถุงเข้าไปในบ้านของชายยากจนผู้นั้น และถุงเจ้ากรรมก็ดันไปแลนดิ้งลงในถุงเท้าของสาวๆ ทั้งสามนางที่นำไปตากไปอยู่ที่เตาผิงภายในบ้านพอดี

ด้วยทานที่นักบุญท่านโปรยมาให้ ตำนานเรื่องจึงได้จบลงอย่างแฮปปี้เป็นที่สุด เพราะลูกสาวแสนสวยทั้งสามนางของชายยากจนนั้นจึงได้ออกเหย้าออกเรือนกันทุกคน และก็ทำให้เกิดประเพณีการแขวนถุงเท้าไว้ในคืนคริสต์มาสอีฟ

ชาวคริสต์จำนวนมากจะเชื่อว่านักบุญนิโคลัส แห่งไมรา นี่แหละคือ ซานตาคลอส ตัวจริง

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า เรื่องการให้ทานของนักบุญท่านนี้มีลักษณะเป็นตำนาน อันที่จริงแล้วยังมีเรื่องเล่าทำนองที่นักบุญนิโคลัสท่าน ทำทานโดยการเอาเหรียญไปยัดไว้ใน “รองเท้า” ของคนยากคนจนอีกหลายเรื่อง

ใครบางคนจึงเคยตั้งคำถามเอาไว้ว่า เรื่องการทำทานใส่ในรองเท้า หรือถุงเท้า จะเป็นเรื่องที่ชาวคริสต์ไปเอาธรรมเนียมของชนพื้นเมืองเดิม ก่อนจะเข้ารีต มาดัดแปลง และโยนให้นักบุญนิโคลัสท่านได้หน้าไปหรือเปล่า?

มีหลักฐานพวกเยอรมนิก และสแกนดิเนเวียน ที่นับถือศาสนาดั้งเดิม มีประเพณีคล้ายๆ กันนี้แต่ทำเพื่อบูชาม้าของเทพโอดิน (Odin)

โทษฐานที่โอดิน เป็นราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส (Norse) ม้าของพระองค์จึงจะเป็นม้ากระจอกทั่วไปอย่างใครเขาไม่ได้ ม้าของพระองค์จึงมีแปดขา สามารถเหาะเหินเดินอากาศ และมีชื่อเรียกยากๆ ว่า “สเลปนีร์” (Sleipnir)

พวกเด็กๆ ชาวเยอรมนิกและสแกนดิเนเวียนในสมัยโบราณจะเอาแครอต, ฟางข้าว หรือน้ำตาล ใส่ไว้ในรองเท้าบู๊ตของพวกเขา และเอาไปไว้ใกล้ๆ กับปล่องไฟ เพื่อมอบให้กับเจ้าม้าสเลปนีร์ตัวนั้น เพราะเชื่อกันว่าเทพโอดินจะทรงตอบแทนความใจดีของเด็กๆ ด้วยขนม หรือของขวัญบางอย่างและคืนลงไปในรองเท้าบู๊ตของพวกเขาแทน

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้ใครบางคนอธิบายเอาไว้ว่า นี่คือที่มาของธรรมเนียมการแขวนถุงเท้าในคืนคริสต์มาสอีฟ ซึ่งถูกชาวคริสต์เทกโอเวอร์ไปเป็นของตนเอง

แถมที่มาของธรรมเนียมการเอาอาหารการกินไปยัดไว้ในรองเท้าสำหรับเจ้าสเลปนีร์นี่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะชื่อเจ้าม้า “Sleipnir” ในภาษานอร์สโบราณหมายถึง “ลื่น” (Slippy) หรือ “รองเท้ากันลื่น” (Slipper, ที่ไทยเรามักจะแปลว่า รองเท้าแตะ กันอยู่แค่ความหมายเดียว)

แน่นอนว่าคนพวกนี้อาศัยอยู่ในที่หนาว ซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง รองเท้า และถุงเท้า จึงเป็นนวัตกรรมสำคัญสำหรับให้ความอบอุ่น และกันลื่นอย่างแหงแซะ

เฉพาะในกรณีของ “ถุงเท้า” จึงสรุปได้ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำของกลุ่มชนในวัฒนธรรมที่อยู่ในที่หนาว ไม่ใช่ภูมิประเทศร้อนชื้นอย่างไทยเราเสียหน่อย แต่สุดท้าย “ถุงเท้า” ก็กลายมาเป็น “เครื่องแบบ” ของไทยในโทษฐานแห่งความศิวิไลซ์มันเสียอย่างนั้น

พ.ศ.2415 ชุดราชปะแตน (ที่คนไทยออกเสียงเพี้ยนๆ มาจากคำว่า ราชแพตเทิร์น (Raja+pattern) ไม่ต่างจากศัพท์ที่มาจากภาษาฝรั่งอีกหลายคำที่ดูคัลต์เอามากๆ เมื่อออกเสียงผ่านสำเนียงไทย) ถูกดีไซน์ออกมาใช้งานในสยามประเทศเป็นครั้งแรก

ส่วนประกอบของชุดราชปะแตนประกอบไปด้วย เสื้อนอกคอปิด มีกระดุม 5 เม็ด, ผ้าม่วง (โจงกระเบน) และถุงเท้ายาวสีขาว (แน่นอนว่าต้องมีถุงเท้า ไม่อย่างนั้นจะต้องเขียนถึงเจ้าชุดหน้าพิกล ฝรั่งก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง นี่ในข้อเขียนชิ้นนี้ทำไมกัน!)

ว่ากันว่า ชุดราชปะแตน เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องแบบของข้าราชสำนักสยาม ในเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 จึงถือได้ว่า ชุดราชปะแตนเป็นเครื่องแบบของความเป็นไทย ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยนั้น

ที่สำคัญคือไม่ใช่ไทยธรรมดา แต่ต้องเป็นไทยในฐานะอารยประเทศด้วย

ดังนั้น นอกจากที่ถุงเท้าจะช่วยให้กลิ่นเหงื่อใต้ฝ่าเท้าจะหอมชื่นใจขึ้นมาอีกนิดแล้ว ก็ดูไม่ค่อยจะมีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ในประเทศที่ไม่หนาว แต่ว่าร้อนตับแลบขนาดนี้ นอกเหนือจากการแสดงถึงความเป็นอารยะ อย่างที่รัฐอยากให้เป็น

แปลกดีนะครับ ที่ของเหม็นๆ อย่างถุงเท้า จะกลับกลายเป็นเครื่องแบบของความเป็นอารยะ ในประเทศที่ไม่ได้มองว่าเท้าเป็นของสูงกันสักเท่าไหร่?

และจึงไม่แปลกอะไรนักที่ต่อมาใน พ.ศ.2440 เมื่อลิเกกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ละแวกป้อมมหากาฬ ชานเมืองบางกอกในยุคนั้น (และที่กำลังถูกรัฐท่านไล่ที่ออกจาก “บ้าน” ของพวกเขา)

ชุดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อล้อเลียนการแสดงชั้นสูงอย่างละครใน อย่างชุดลิเก

ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในยูนิฟอร์มของตัวพระ จะต้องเป็นถุงขาวสีขาวที่ดึงขึ้นเสียจนตึงอย่างนั้นด้วย

ถุงเท้าจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของยูนิฟอร์มความเป็นอารยะของชาติไทยมาตั้งแต่เริ่ม และไม่ว่ามันจะเหม็น หรือสกปรกสักเท่าไหร่ เราก็คงจะทำอะไรกับมันไม่ได้มากนักหรอกนะครับ ในเมื่อรัฐส่วนใหญ่ก็มักจะสวมใส่เครื่องแบบให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเป็นอารยะอยู่เสมอ ไม่ว่าเนื้อในจะเป็นอารยะหรือไม่ก็ตาม