Frank Stella ศิลปินผู้เปิดเผยความงามอันจริงแท้ แต่เรียบง่ายของศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
iufà, la luna, i ladri e le guardie (Giufa, the moon, the thieves and the guards) (1984) ภาพจาก https://www.moma.org/collection/works/81527

ในตอนนี้เราจะขอกล่าวถึงศิลปินคนสำคัญอีกคนที่ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของโลก ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แฟรงก์ สเตลล่า (Frank Stella)

หรือในชื่อเต็มว่า แฟรงก์ ฟิลิป สเตลล่า (Frank Philip Stella) ศิลปินอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ใช้รูปแบบและรูปทรงเรขาคณิต ทั้งในงานจิตรกรรม ประติมากรรม และงานลูกผสม เขาเป็นหนึ่งในศิลปินอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่

เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่เมืองเมลเดน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

เดิมทีเขาศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในนิวเจอร์ซีย์

ก่อนที่จะย้ายไปที่นิวยอร์กในปี 1958 และตื่นตาตื่นใจไปกับศิลปะแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism) ที่กำลังรุ่งโรจน์โชติช่วงในอเมริกาในยุคสมัยนั้น

ในช่วงแรกของการทำงาน เขาได้รับอิทธิพลจากผลงานศิลปะแบบแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ของแจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) และฟรันซ์ ไคลน์ (Franz Kline)

แต่ต่อมาในช่วงปลายยุค 50s เขาหันเหมาทำงานในรูปแบบที่ต่อต้านความเป็นแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์เสียเอง

โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปินรุ่นพี่อย่างแจสเปอร์ จอห์นส์ (Jasper Johns)

ด้วยความเชื่อว่าสุนทรียะในงานศิลปะคือการนำเสนอรูปแบบและคุณค่าของความงามอันบริสุทธิ์เที่ยงแท้ โดยไม่เสแสร้ง หรือพยายามเป็นอะไรมากไปกว่าตัวของมันเอง

สเตลล่าใช้ความเรียบง่าย, ความมีระเบียบ และความสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุ ทำให้ผู้ชมมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น สื่อวัสดุหรือวัตถุสิ่งของที่ศิลปินใช้สร้างเป็นตัวงาน จึงเป็นความจริงแท้ด้วยตัวมันเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไรทั้งสิ้น

ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“What you see is what you see” (สิ่งที่คุณเห็น ก็คือสิ่งที่คุณเห็นนั่นแหละ)

ในปี 1959 แฟรงก์ สเตลล่า เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงาน Black Paintings (1958-60) ภาพวาดริ้วแถบสีดำบนพื้นขาว ที่แบนราบ เรียบง่าย ไร้ฝีแปรงอันรุนแรงเปี่ยมอารมณ์แบบศิลปะแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ แต่หันกลับไปให้ความสำคัญกับองค์ประกอบพื้นฐานในการทำงานศิลปะแทน

ต่อมาสเตลล่าเดินหน้าสร้างผลงานที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของพลังความเคลื่อนไหว พื้นผิวสัมผัส และขนาด ด้วยการขยับขยายจากภาพวาดแถบขาว-ดำ กลายเป็นสีสันสดใส ที่ไม่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมตายตัว

และขยับขยายภาพวาดจากสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ ด้วยการรวมองค์ประกอบที่แหกกฎเกณฑ์แห่งความเป็นไปได้ของงานจิตรกรรม และทำให้ผลงานจิตรกรรมเป็นมากกว่าภาพที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่ถูกแขวนเป็นเครื่องประดับบนผนัง

ผลงานของสเตลล่ามีความเป็นส่วนผสมระหว่างงานจิตรกรรม, ประติมากรรม และโครงสร้างสถาปัตยกรรม และผลงานภาพพิมพ์ที่มีความซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การทดลองทางศิลปะอย่างไม่หยุดยั้งของสเตลล่า ทำให้เขากลายเป็นศิลปินคนสำคัญของวงการศิลปะสมัยใหม่อเมริกัน และมีส่วนช่วยในการถือกำเนิดและพัฒนากระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคต่อมาอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะมินิมอลลิสต์*

ซึ่งตัวเขาเองก็ถูกยกย่องให้เป็นต้นแบบของศิลปะกระแสนี้เลยก็ว่าได้

ด้วยการละทิ้งแนวทางของศิลปะแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ในผลงานชุด Black Paintings ของสเตลล่า ที่ประกอบด้วยภาพวาดแถบสีดำบนพื้นขาวแบนราบที่วาดโดยสีทาบ้าน ซึ่งรูปแบบของแถบสีที่ว่าทำหน้าที่เป็นระบบที่กำจัดพื้นที่ของภาพลวงตาออกจากภาพวาดด้วยอัตราคงที่

Tomlinson Court Park I (1959)ภาพวาดในชุดBlack Paintingsภาพจากhttp://www.marcobrianza.it/marco-cadioli-necessary-lines/

พูดง่ายๆ ก็คือ ภาพวาดเหล่านี้จงใจเน้นความเรียบแบนของผืนผ้าใบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักถึงความเป็นสองมิติภายในภาพวาด

แนวทางในการวาดภาพเช่นนี้ของสเตลล่าล้มล้างแนวคิดดั้งเดิมที่บอกว่า “ภาพวาดคือหน้าต่างที่มองออกไปสู่โลกภายนอก” ที่มีมาตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์และทรงอิทธิพลสืบต่อมาในวงการศิลปะอีกหลายร้อยปีให้หลังลงอย่างราบคาบ

ด้วยผลงานภาพวาดที่สร้างขึ้นอย่างมีระบบระเบียบชัดเจน ภาพวาด Black Paintings เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญให้กับงานศิลปะมินิมอลลิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 1960s

เช่นเดียวกับภาพวาดแถบสีอันแบนราบเรียบลื่นของสเตลล่า ศิลปินมินิมอลลิสต์สร้างผลงานงานศิลปะนามธรรมที่มีเอกลักษณ์จากการใช้รูปทรงเรขาคณิตซ้ำๆ และรูปทรงที่เราพบเห็นจากวัตถุข้าวของในระบบอุตสหกรรม ที่ละทิ้งเรื่องราวและอารมณ์ออกไปอย่างสิ้นเชิง

สเตลล่าเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ทำงานที่ไม่เสนอเรื่องราวและความหมายแฝงเร้นใดๆ ในภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึก หรือเนื้อหาอื่นใด

หากแต่ทำงานด้วยหลักการของเส้น, ระนาบ, ปริมาตร และจุด ที่อยู่ในพื้นที่ว่าง

เขาให้ความสนใจกับปัจจัยพื้นฐานในการทำงานศิลปะอย่างสีสัน, รูปทรง และองค์ประกอบ ตลอดอาชีพการทำงาน เขาประสบความสำเร็จในการปลดเปลื้องการสร้างภาพลวงตาในภาพวาด ผลงานของเขาเน้นย้ำให้ผู้ชมเห็นถึงธรรมชาติความเป็นวัตถุอันเที่ยงแท้ของภาพวาด

Harran II (1967)ภาพจากhttps://www.guggenheim.org/artwork/4003

ถ้าศิลปินในยุคบาโร้กในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 อย่างคาราวัจโจ (Caravaggio). พัฒนากลเม็ดในการวาดภาพแบบสมจริง ที่โน้มน้าวและลวงตาผู้ชมให้รู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครในภาพวาดหลุดออกมาจากผืนผ้าใบมามีชีวิตจริงๆ ได้แล้วละก็

ในอีกหลายร้อยปีให้หลัง ศิลปินอย่างแฟรงก์ สเตลล่าเองก็สร้างนวัตกรรมทางศิลปะให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีกก้าว ด้วยการขยายขอบเขตของภาพวาดไปสู่ความเป็นสามมิติอย่างตรงไปตรงมาตามตัวอักษร โดยการใช้วัสดุสามมิติประกอบลงไปในภาพวาดเหล่านั้น ให้มันยื่นออกมาหาผู้ชมแบบจะจะแจ้งๆ เลยนั่นแหละ

ในช่วงยุค 1970 สเตลล่ากลายเป็นศิลปินอายุน้อยที่สุดคนแรกๆ ที่มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA)

เขามีผลงานสะสมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำอย่าง Metropolitan Museum of Art (The Met), Kunstmuseum Basel, Art Institute of Chicago, National Gallery of Art ในวอชิงตัน ดี.ซี. และ Tate Gallery ในลอนดอน เป็นอาทิ

ปัจจุบัน แฟรงก์ สเตลล่า มีอายุ 83 ปี เขาอาศัยและทำงานอยู่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

*มินิมอลลิสต์ (Minimalism)

เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์กในช่วงต้นทศวรรษ 1960 โดยเป็นปฏิกิริยาต่อต้านกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ที่เฟื่องฟูในอเมริกาในยุคก่อนหน้า ที่ศิลปินทำงานศิลปะด้วยการแสดงออกทางอารมณ์เป็นหลัก (อย่างการสลัดสี สาดสี เทสี)

ศิลปินรุ่นต่อมาเกิดความเบื่อหน่าย และรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ทางออกและไม่สามารถสื่อสารความคิดได้ หากแต่เป็นแค่ความงามที่เกิดจากความชำนาญในการทำงานศิลปะเท่านั้น

พวกเขาจึงคิดค้นแนวทางการทำงานศิลปะที่ละทิ้งอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการใช้เทคนิคการผลิตหรือเครื่องไม้เครื่องมือจากโรงงานหรือระบบอุตสาหกรรม

นอกจากจะละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ศิลปินเหล่านี้ หลีกเลี่ยงการทำงานที่แอบแฝงสัญลักษณ์ เรื่องราว หรือการอุปมาเปรียบเปรยถึงสิ่งอื่นใด

หากแต่หันมาให้ความสำคัญกับเนื้อแท้และสาระสำคัญของวัตถุหรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างงานแทน

จนเกิดเป็นการสร้างสรรค์แบบใหม่ที่จงใจหลีกเลี่ยงหรือแม้แต่ล้มล้างสุนทรียะและความงามทางศิลปะแบบเดิมๆ ลงอย่างสิ้นเชิง

พวกเขาขยายขอบเขตแนวคิดของศิลปะแนวนามธรรม (Abstract art) ที่ว่า ศิลปะควรจะมีความจริงแท้เป็นของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบสิ่งอื่นใด

ศิลปินมินิมอลลิสต์สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ดูคล้ายกับข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกสร้างขึ้นจากโรงงาน เพื่อปฏิวัติคำจำกัดความเดิมๆ ของศิลปะที่เคยผูกติดกับการเล่าเรื่องของศิลปินไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้วัสดุสำเร็จรูปที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม ที่มีรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายและซ้ำๆ กัน เพื่อเน้นย้ำตัวตนของมันบนพื้นที่แสดงงาน

และบังคับให้ผู้ชมเผชิญหน้ากับขนาดและการจัดวางของรูปทรงเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา และสัมผัสกับประสบการณ์ทางกายภาพของมันอย่างรูปทรง, สัดส่วน, ความสูง, น้ำหนัก, แรงโน้มถ่วง, พื้นผิว หรือแม้แต่แสงและเงา

พวกเขาเสาะหาหนทางในการทำลายขนบความคิดเดิมๆ ของศิลปะ ด้วยการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและประติมากรรม

และปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ศิลปินมีสิทธิพิเศษในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

มุมมองแบบประชาธิปไตยในงานศิลปะเช่นนี้ ปรากฏชัดทั้งในผลงาน, นิทรรศการ และข้อเขียนของศิลปินมินิมอลลิสต์คนสำคัญหลายต่อหลายคน