วิเคราะห์ : “พนัสนิคม” เมืองสีเขียวน่าอยู่ระดับโลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เว็บไซต์วอยซ์ทีวีนำเสนอบทความเรื่อง “พนัสนิคม” จากเมืองถูกลืมกลายเป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลก เขียนโดยคุณวรรณโชค ไชยสะอาด มีผู้เข้าไปอ่านกว่า 76,000 ครั้ง นับว่าเป็นบทความที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

บทความชิ้นดังกล่าวพูดถึงบทบาทของคุณวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี ผู้ปลุกปั้น “พนัสนิคม” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลก

เป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับอาเซียน

เป็นเมืองติดอันดับ 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง จากการคัดเลือกขององค์การอนามัยโลก

คุณวิจัยทำได้อย่างไร? คุณวรรณโชคตั้งคำถามพร้อมกับเล่าถึงความเป็นมา

 

คุณวิจัยจบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพนัสนิคม

พนัสนิคมเป็นเมืองขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 2.76 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 2,000 ไร่ มีประชากรราว 11,000 คน

ด้วยความรู้ความสามารถโดยเฉพาะทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้ “วิจัย” ได้รับโอกาส

แสดงฝีมือด้านการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมืองตามวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ปี 2530 “วิจัย” ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี

“ผมคิดมาตลอดว่าทำยังไงให้คนทั้งประเทศรู้จักพนัสนิคม” วิจัยให้สัมภาษณ์

 

สิ่งแรกที่ “วิจัย” วางแผนและลงมือทำคือการจัดการพื้นที่พนัสนิคมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวที่คุ้นเคยจากอาชีพของครอบครัวมาเป็นโมเดลในการพัฒนา จนคว้ารางวัลชนะเลิศเมืองที่มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 3 ปีซ้อน

ทุกครั้งที่ได้รับรางวัล “วิจัย” ประกาศแห่ถ้วยรอบตลาดกลางเมือง พร้อมกับจัดงานเลี้ยงฉลอง

“ผมคิดว่าการได้รับรางวัล เท่ากับเป็นการประกาศไปทั่วประเทศว่าเมืองแห่งนี้มีความสะอาด มีผลให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเอาไว้” วิจัยบอกกับผู้สัมภาษณ์

“ผมนำระบบการบริหารในโรงงานมาปรับใช้ แบ่งทีมงานออกเป็น 3 ระดับ คอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยให้กับถนนเส้นหลักทั้ง 3 เส้น ได้แก่ กลุ่มคนงานกวาดถนน กลุ่มโฟร์แมนคอยขี่จักรยานตรวจสอบ และกลุ่มซูเปอร์ไวเซอร์ขับมอเตอร์ไซค์ตรวจตราอีกครั้ง”

ความสำเร็จในการทำงาน ทำให้เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เมืองที่มีสุขภาพดีจากกระทรวงสาธารณสุข ติดอันดับ 1 ใน 5 เมืองต้นแบบของไทย มีหลายหน่วยงานมาศึกษา เช่น รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ร่วมเป็นพันธมิตรด้วย

 

“วิจัย” ยังเล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาขยะของเมืองพนัสนิคมว่า ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2530 ปัญหาขยะเป็นเรื่องน่าหนักใจ แต่ละวันขยะมีมากถึง 25 ตัน หรือ 25,000 กิโลกรัม ทั้งที่มีประชากรเพียงหมื่นกว่าคน

“ผมให้อย่างเก่งเลย คนบ้านเราไม่น่าจะสร้างขยะเกินคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน แต่ปริมาณมากขนาดนั้น เนื่องจากมีคนนอกพื้นที่อื่นมาฝากเราทิ้ง เพราะเราตั้งถังขนาด 200 ลิตร ไว้ตามฟุตปาธทุกๆ 100 เมตร”

นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคมแก้ปัญหาด้วยการสั่งปรับขนาดถังขยะจาก 200 ลิตร เป็น 20 ลิตรจำนวน 3 ใบ แบ่งสีตามประเภทของขยะ แจกจ่ายไปตามบ้านเรือน พร้อมกำหนดเวลาเก็บขยะ จนมีผลให้แต่ละบ้านรู้จักคัดแยก หากบ้านใครไม่ยอมแยกขยะ รถเก็บขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้น

วิธีดังกล่าวลดปริมาณขยะลงจาก 25,000 หมื่นกิโลกรัม เหลือเพียง 15,000 กิโลกรัมในปัจจุบัน และตั้งเป้าให้เหลือน้อยกว่า 10,000 กิโลกรัมภายในเวลาอันใกล้

“ผมให้ซาเล้งฟรี คุณมีหน้าที่ขับไปรับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น กล่องกระดาษ พลาสติกตามบ้านเรือน วิธีนี้ทำให้คนว่างงานลดลง อีกด้านเป็นการช่วยให้แต่ละบ้านคัดแยกขยะนำมาขาย ความสามารถในการแยกขยะมีประสิทธิภาพมาก จนกระทั่งบ่อทิ้งขยะเดิมพื้นที่หลายสิบไร่แทบจะไม่ได้ใช้งานและเปลี่ยนเป็นสวนผักปลอดสารพิษ”

“วิจัย” ยังเล่าถึงการหาแหล่งทุนเพื่อนำมาทำโครงการสร้างสวนสาธารณะและลานกีฬาขนาดใหญ่ มีสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามฟุตบอล สนามเปตอง สนามบาสเกตบอล และหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี

“เราใช้งบประมาณจากการกู้ยืมธนาคาร รวมถึงหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ มันมีช่องทางหาเงิน ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะขวนขวายและพยายามหรือเปล่า”

ต้นไม้ขนาดใหญ่ในเมืองพนัสนิคมมีหมายเลขประจำต้นเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ มีกองช่างเป็นผู้ดูแล

เมื่อเร็วๆ นี้เมืองพนัสนิคมยังได้รับงบประมาณราว 20 ล้านบาทจากสหภาพยุโรป นำมาพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต

 

“วิจัย” ใช้วิธีการบริหารเมืองโดยกระจายอำนาจ แบ่งออกเป็น 12 ชุมชนย่อย ผ่านคณะกรรมการบริหารชุมชนที่มีทั้งหมด 9 คนคอยดูแลในแต่ละด้าน เช่น การศึกษา การคลัง โยธา สาธารณสุข สวัสดิการปกครอง และกฎหมาย

“ทุกตำแหน่งคัดเลือกโดยประชาชน มีความสอดคล้องและผสานกับเทศบาล พูดง่ายๆ คือ เทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ มีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน อบรมให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์สภาพขององค์กร ให้รู้จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาหรือนำเสนอโอกาสในพัฒนาชุมชนได้ดีที่สุด”

การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างประชาชนและคณะผู้บริหารเมืองเป็นไปอย่างใกล้ชิด ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มพนักงานเทศบาล และกลุ่มประชาสัมพันธ์

ชุมชนย่อยในพนัสนิคมแต่ละแห่งประกอบด้วยประชาชนราว 800 คน มีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามความเข้มแข็งและความถนัด เช่น กลุ่มเครื่องจักสาน ที่สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ

กลุ่มพัฒนาสิ่งแวดล้อมนำขยะอินทรีย์จากตลาดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้ให้กับชุมชน

สำหรับเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในทัศนะของ “วิจัย” มี 4 องค์ประกอบสำคัญคือ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

“การทำเมืองให้เกิดเป็นภาพความสำเร็จ ทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในผู้บริหารซึ่งยืนยันที่จะทำสิ่งดีๆ และกระตือรือร้นที่จะอยู่กันอย่างมีความสุข ทุกอย่างมันเดินไปในทิศทางเดียวกัน” นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม วัย 70 ปี ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายผ่านวอยซ์ทีวี

ถ้ามีผู้บริหารเมือง เช่น “วิจัย” กระจายไปทั่วประเทศ ป่านนี้ไทยคงเป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับต้นๆ ของโลก