วิเคราะห์ : โฉมหน้าแท้จริงของอสังหาฯพื้นที่อีอีซี

มองจากภายนอกไปที่อสังหาริมทรัพย์ภาคตะวันออก หรือพื้นที่ที่เรียกกันว่า EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นั้นน่าจะเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่ดีกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพราะมีพื้นฐานกำลังซื้อจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม จากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และยังได้แรงหนุนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐตามโครงการ EEC

แต่เมื่อไปสัมผัสพื้นที่จริงและได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักพัฒนาอสังหาฯ ภาคตะวันออกแล้วกลับพบว่า อสังหาฯ ภาคตะวันออกก็ไม่ใช่กรณียกเว้นของการชะลอตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้

รูปธรรมแรกสุดที่พบเห็นได้เลย คือ จำนวนลูกค้าที่แวะเข้าเยี่ยมชมโครงการน้อยลง เพราะกำลังซื้อของประชาชนลดต่ำลง รวมทั้งบรรยากาศเศรษฐกิจ การเมือง ผลทางจิตวิทยาของตลาด

มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาสกัดการเก็งกำไร สกัดการปล่อยกู้แบบมีเงินทอนของสถาบันการเงินนั้น ก็มีผลกระทบกับอสังหาฯ ภาคตะวันออกเช่นกันเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้นก็ทำให้ผู้ซื้อบางรายกู้ไม่ผ่าน

หรือลูกค้าบางส่วนไม่ตัดสินใจซื้อในระยะนี้ไปเลย

 

มีข้อดีอย่างหนึ่งของอสังหาฯ โซนนี้ยกเว้นพัทยา คือ กำลังซื้อที่ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นกำลังซื้อที่แท้จริง หรือ Real Demand ทำให้ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ปริมณฑล

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐตามโครงการ EEC นั้น ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นผลทางด้านจิตวิทยาเสียมากกว่า เพราะมีการพูดถึง กล่าวถึงตามสื่อต่างๆ ตามเวทีประชุมสัมมนาต่างๆ แต่ผลจริงที่ทำให้เกิดกำลังซื้อยังไม่มี

โครงการใหญ่ๆ ของรัฐส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง จึงยังไม่เกิดเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้ามาในพื้นที่ ยังไม่เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่มีการจ้างงาน

จะว่าไปแล้ว ณ ขณะนี้เป็นผลเสียกับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ มากกว่าผลดีด้วยซ้ำ

เพราะข่าวคราวโครงการ EEC ทำให้ที่ดินราคาพุ่งสูงขึ้น มีการประกาศขายในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อในตลาดของประชาชนยังเท่าเดิม ทำให้ในหลายทำเลราคาที่ดินไม่คุ้มที่จะซื้อมาทำโครงการที่อยู่อาศัย

ข้อดีที่มีอยู่ของโครงการ คือ ยังเป็นความหวังว่า ยังมีอนาคต

 

นอกจากนี้แล้ว ทุกวันนี้ยังมีข้อพิจารณาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ผลด้านบวกมองกันว่า โรงงานบางประเภทจากจีนจะย้ายมาภาคตะวันออกของไทยเพื่อหนีกำแพงภาษีอเมริกา จะทำให้นิคมขายพื้นที่ได้ มีการจ้างแรงงานมากขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควร

ผลด้านลบ สินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทที่อยู่ในซัพพลายเชนไปจีน หรือสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งไปขายจีน ยอดสั่งซื้อย่อมลดลง ทำให้การจ้างงานล่วงเวลาลดลงตามไปด้วย

ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและใหญ่หลวงทั้งระดับโลกและระดับประเทศ

ไม่มีเวลาให้บ่น เพราะต้องรีบปรับตัว