โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระปิดตาเนื้อทองลำอู่ หลวงปู่เริ่ม ปรโม วัดจุกกะเฌอ ศรีราชา

หลวงปู่เริ่ม ปรโม

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระปิดตาเนื้อทองลำอู่

หลวงปู่เริ่ม ปรโม

วัดจุกกะเฌอ ศรีราชา

 

“หลวงปู่เริ่ม ปรโม” หรือ “พระครูศรีฉฬังคสังวร” เจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งชลบุรี มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหลังยุคปี 2500 ถือเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง

สร้างพระปิดตาเนื้อทองลำอู่ ก้นอุดด้วยคดมะพร้าวหรือกะลามหาอุตม์ เป็นกะลาไม่มีตา

กะลาไม่มีตา เรียกว่าคดกะลา เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักนิยมเครื่องรางของขลังว่า เป็นยอดของกะลา เอามาทำเครื่องรางได้เข้มขลังยิ่ง และหายากยิ่งกว่ากะลาตาเดียว

หลวงปู่เริ่มมอบคดกะลาที่เก็บไว้นาน ให้คณะกรรมการจัดสร้างด้วยตัวท่านเอง

พระปิดตามหาลาภเนื้อทองลำอู่ เป็นพระปิดตาที่มีผงจากกะลาผสมกับมวลสารสำคัญของหลวงปู่เริ่ม

ประสานผงพุทธคุณ พร้อมด้วยสีผึ้ง 7 จันทร์ เป็นตัวประสาน โดยตำผงทั้งหมดเข้าด้วยกันและนำมาบรรจุใต้ฐานพระปิดตาเนื้อทองลำอู่ ซึ่งเจาะรูไว้ใต้ฐานพระ

ลักษณะของพระปิดตาทองลำอู่ เป็นพระปิดตาทรงชะลูด พุงป่องนั่งขัดสมาธิราบบนฐาน คือ ฐานบัว 2 ชั้น ด้านหลังปลายจีวรเป็นปากตะขาบ ตอกโค้ด “ร” กำกับทุกองค์ ไม่มีการฝังตะกรุดไว้ใต้ฐาน

พระปิดตาทองลำอู่สร้างเพียงเนื้อเดียว มีจำนวนทั้งสิ้น 2,528 องค์ เมื่อบรรจุผงเสร็จได้นำไปให้หลวงปู่เริ่มปลุกเสก ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2528 แล้วนเปิดให้เช่าบูชา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528

ในปัจจุบัน พระปิดตาชุดนี้ หาได้ยากมาก ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ล้วนแต่เก็บไว้ในกรุ ไม่ยอมปล่อยออกมาตามสนามพระเครื่อง

เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่งที่หาได้ยากยิ่ง และราคานับวันจะสูงขึ้น

 

หลวงปู่เริ่ม เกิดในตระกูลเฉียงเอก ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม 2448 ณ บ้านเลขที่ 26 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 11 คน

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแหลมฉบัง มีพระครูสุนทรธรรมรส วัดอ่างศิลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จั้ว และพระอาจารย์ลำดวน เป็นพระคู่สวด ได้นามฉายาว่า ปรโม

จากนั้นมาจำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดจุกกะเฌอ ขณะนั้นมีหลวงพ่อถัน เป็นเจ้าอาวาส หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเพราะประพฤติปฏิบัติดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวบ้าน

ล่วงถึงพรรษาที่ 6 หลวงพ่อถันมรณภาพ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อ และปีต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอ ตามลำดับ

พระปิดตาเนื้อทองลำอู่ หลวงปู่เริ่ม

 

งานด้านการปกครอง พ.ศ.2479 เป็นเจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ

พ.ศ.2484 เป็นพระกรรมวาจารย์

พ.ศ.2485 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2487 เป็นเจ้าคณะตำบลบึง-หนองขาม

พ.ศ.2518 รักษาการเจ้าคณะอำเภอศรีราชา

พ.ศ.2519 เป็นเจ้าคณะอำเภอศรีราชา

พ.ศ.2530 ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ เพื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร พระอารามหลวง กิ่งอำเภอเกาะสีชัง ชลบุรี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2481 เป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2493 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี

พ.ศ.2507 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท

พ.ศ.2515 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก

พ.ศ.2520 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก

 

หลวงปู่เริ่ม นิยมชมชอบในเรื่องวิทยาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาสแล้ว เมื่อรู้ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอยู่ที่ใด ก็จะดั้นด้นเดินทางไปขอศึกษาเล่าเรียนด้วย พระอาจารย์รูปแรก คือ หลวงพ่ออ่ำ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกระบอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เจ้าตำรับเครื่องรางแพะอันลือลั่น วิชาที่ได้มาคือ วิชาฝนแสนห่าและสีผึ้งเจ็ดจันทร์

นอกจากนี้ยังไปเรียนวิชาทำปลัดขิกกับหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เรียนวิชาหนังหน้าผากเสือกับหลวงพ่อสาย วัดหนองเกตุน้อย ชลบุรี เรียนวิชาทำผง 12 นักษัตรจากหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ปทุมธานี และวิชาอื่นๆ จากพระเกจิอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่ออ่อง วัดหนองรี ชลบุรี, หลวงพ่อผุย วัดหน้าพระธาตุ, เจ้าคุณศรีฯ วัดอ่างศิลา เป็นต้น

แต่พระอาจารย์องค์สำคัญมาก คือ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ กทม. โดยไปขอศึกษาวิชาการสร้างพระปิดตา วิปัสสนากัมมัฏฐาน และโหราศาสตร์ จนมีความเชี่ยวชาญ

สามารถดูดวงชะตาราศี เปลี่ยนดวงและสลับดวงชะตาได้

 

นอกจากด้านพุทธาคมแล้ว ยังมีความรู้ด้านวิชาแพทย์แผนโบราณ และนำมาใช้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชาวบ้านมาจนตลอด

วัตถุมงคลนั้นสร้างไว้และปลุกเสกไว้หลายรุ่นด้วยกัน บางรุ่นนั้นมีมูลค่าบูชาสะสมค่อนข้างสูง เนื่องจากมีประสบการณ์ จนกลายเป็นความเชื่อถือสืบต่อกันมา

ในบั้นปลายชีวิต หันเข้าศึกษาวิปัสสนาเพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร กระทั่งถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2538

สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70 พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2539