สุจิตต์ วงษ์เทศ/ แม่น้ำแห้งขอดหน้าแล้ง เดือดร้อนนับพันปีมาแล้ว

ปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) น้ำแห้งขอดเห็นโคลนตมท้องน้ำในหน้าแล้ง (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป พิมพ์เป็นโปสการ์ด สมัย ร.6-7?)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม่น้ำแห้งขอดหน้าแล้ง

เดือดร้อนนับพันปีมาแล้ว

ฝนแล้งได้ในบางปี และอาจแล้งติดต่อกันหลายปีก็ได้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งหายในหน้าแล้ง จนไม่มีน้ำในนา ไม่มีปลาในหนอง

แม่น้ำขอดแห้งในหน้าแล้งเมื่อสมัยไม่มีเขื่อนภูมิพล (จ.ตาก) และเขื่อนเจ้าพระยา (จ.ชัยนาท) แม่น้ำเจ้าพระยามีข่าวใน นสพ.สมัยนั้นทุกปีว่าน้ำแห้งเห็นท้องทรายคนเดินข้ามได้เป็นบางช่วงในเขต จ.สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์ ฯลฯ

กรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอด เห็นโคลนท้องน้ำในหน้าแล้ง ก่อน พ.ศ.2500 ผมเคยเห็นและเคยเดินสะพานลาดชัน (เกือบหัวทิ่มจนต้องจับราวบันได) ทอดลงเรือข้ามฟากติดโคลนเลนก็มี ที่ท่าพระอาทิตย์ข้ามไปกลับท่าวัดดาวดึงษ์

แม่น้ำในสุพรรณสมัยก่อนมีเขื่อนภูมิพลและประตูน้ำเป็นตอนๆ ในหน้าแล้งจะแห้งจนเดินข้ามได้ ชาวสุพรรณบุรีมีอาวุโสต่างรู้ทั่วกัน

แม่น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศในหน้าแล้งก็แห้งตามๆ กัน

แห้งขอด – สภาพแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร แห้งขอดหลังจากแล้งมานานกว่า 5 เดือน จนชาวบ้านเดินข้ามได้ เกษตรกรเดือดร้อน ไม่มีน้ำใช้เพาะปลูกข้าว พืชสวนและพืชไร่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. (ภาพจาก ข่าวสด ฉบับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 หน้า 1)

 

แหล่งน้ำคืออำนาจ

 

ใครควบคุมแหล่งน้ำ คนนั้นมีอำนาจแท้จริง เพราะแหล่งน้ำคืออำนาจในสังคมสมัยแรก

แหล่งน้ำให้ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ผู้ควบคุมแหล่งน้ำถือเป็นผู้วิเศษที่บันดาลความมีชีวิตบนโลก

ดังนั้น ตาน้ำที่ไม่แห้งจึงสำคัญมาก ยิ่งตาน้ำใหญ่หลายตาอยู่รวมกันก็ยิ่งสำคัญ เหมาะที่จะก่อบ้านสร้างเมืองตรงนั้น เพราะแม้ชุมชนอยู่ริมแม่น้ำแต่เมื่อถึงหน้าแล้ง (เดือน 4, 5, 6) น้ำแห้งขอดในแม่น้ำทุกสาย แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่เว้น บางตอนเป็นท้องทรายไม่มีน้ำ

ด้วยเหตุนี้ คนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว จึงให้ความสำคัญตาน้ำธรรมชาติมีน้ำไหลตลอดปี มีน้ำล้นตลอดกาล เรียกด้วยคำโบราณว่า ซำ หรือ ซัม นานไปก็กลายคำเป็น สาม แล้วเป็น สยาม หมายถึงบริเวณมีน้ำหล่อเลี้ยงทุกฤดูกาลเป็นหนองบึงบุ่งทาม เอื้อต่อวิถีเพาะปลูกทำนาทำไร่ “เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา” ทำมาหากิน

[มีคำอธิบายรายละเอียดอีกมากอยู่ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519]

บริเวณซำ มีน้ำซำ ท้องถิ่นต่างๆ เรียกชื่อต่างไปเป็น น้ำซับ, น้ำซึม, น้ำผุด, น้ำพุ ฯลฯ

 

น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค

 

นํ้าผุดจากใต้ดิน คนแต่ก่อนเชื่อว่าเป็นน้ำของพญานาคเมืองบาดาล ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์กว่าน้ำอื่นๆ

พญานาค มี 2 ตระกูล พญานาคอินเดีย อยู่บนฟ้า บันดาลน้ำฝนตกสู่โลก ส่วนพญานาคอุษาคเนย์ อยู่ใต้ดิน เป็นโลกบาดาล มีพญานาคบันดาลน้ำผุดโผล่ขึ้นจากใต้ดิน เป็นน้ำซำน้ำซับ เพื่อเจริญพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงมนุษย์

 

น้ำจอมปลวก

 

ตาน้ำซึมน้ำซับบางแห่งกระตุ้นให้เกิดขุยดินครอบคลุมทับซ้อนเป็นจอมปลวกขนาดต่างๆ ข้างใต้จอมปลวกจึงมีตาน้ำซึมน้ำซับ เป็นที่รู้ทั่วไปของคนแต่ก่อน

แล้วเชื่ออีกว่าใต้จอมปลวกเป็น “รูนาค” หมายถึง รูของพญานาคใช้ขึ้นจากบาดาลสู่พื้นโลก และจากพื้นโลกลงสู่บาดาล อันเป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่ไพศาลอยู่ใต้ดิน น้ำในแม่น้ำลำคลองทุกสายก็มาจากบาดาลใต้ดิน (บาดาลเป็นที่อยู่ของพญานาคอุษาคเนย์ ส่วนพญานาคอินเดียอยู่บนฟ้า)

คนแต่ก่อนนับถือจอมปลวกเป็นแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์ คนมีอำนาจต้องควบคุมจอมปลวก (หมายถึงตาน้ำไม่แห้ง) จึงผูกนิทานยกย่องผู้มีบุญนั่งบนจอมปลวก เช่น

พงศาวดารเหนือ บอกว่าสายน้ำผึ้ง พระเจ้าแผ่นดินกรุงอโยธยาศรีรามเทพ เมื่อยังเยาว์เป็นเด็กเลี้ยงวัวเล่นว่าราชการนั่งบนจอมปลวกเสมือนบัลลังก์

คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่าพระเจ้าปราสาททองตอนเป็นกุมารเคยเล่นว่าราชการบนจอมปลวก

 

เดือดร้อนทุกปี แต่รัฐแก้ไขไม่ได้

 

แม่น้ำแห้งขอดหน้าแล้ง ดินแตกระแหงหน้าร้อน ผู้คนเดือดร้อนนับพันปีมาแล้ว จึงมีพิธีกรรมขอฝนเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากชั่วคราว เช่น แห่นางแมว, ปั้นเมฆ, จุดบั้งไฟ เป็นต้น

สมัยนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า มีความคิดวิทยาศาสตร์มากขึ้น พากันเหยียดประเพณีพิธีกรรมของคนบ้านๆ ที่เดือดร้อนจากหน้าแล้งว่างมงายในศาสนาผี

ที่จริงควรตำหนิคนชั้นนำที่มีอำนาจเป็นเจ้าของควบคุมเทคโนโลยีว่าประสิทธิภาพบกพร่อง แก้ปัญหาแล้งน้ำให้คนบ้านๆ เหล่านั้นไม่ได้ ทั้งๆ ใช้งบประมาณจากภาษีอากรของคนเหล่านั้นจำนวนมาก และใช้เวลานานมากแล้วอย่างน่าละอาย แต่ไม่อาย