
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
หนึ่งในกระบวนการเรียกร้องให้นำกลุ่มประติมากรรมสำริด รูปพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป จากปราสาทเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ที่เรียกรวมๆ กันว่า ประติมากรรมจากประโคนชัย จำนวนหลายร้อยองค์ “กลับบ้าน” ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ งานเสวนาวิชาการ “ประติมากรรมสำริดจากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และสำนักพิมพ์มติชน
ประเด็นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เราได้จากงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ก็คือ รูปพระโพธิสัตว์เหล่านี้ไม่ได้อยู่ “ไกลบ้าน” เสียทั้งหมด บางรูปก็อยู่ “ใกล้ๆ บ้าน” นี่เอง
นับเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 แล้วนะครับ ที่บุคคลากรจากทางคณะโบราณคดีได้อ้างว่า ทางคณะได้เก็บรักษารูปพระโพธิสัตว์บางองค์ ที่ได้จากประโคนชัยกลุ่มนี้เอาไว้
ที่ไม่ได้เป็นการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ก็เพราะอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ควบตำแหน่งอดีตคณบดีคณะโบราณคดี (พ่วงด้วยดีกรีพระโอรสคนสุดท้องของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย) อย่าง ศาตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้เคยเขียนเล่าไว้แล้วในบทความเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์” ในวารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2516 โน่นเลย
เพียงแต่ว่า การเปิดเผยในครั้งนั้นอาจจะรู้อยู่กันเฉพาะในวงจำกัดแคบๆ ของผู้ที่สนใจอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีไทยจากวารสารฉบับนั้น แต่เหตุผลที่น่าจะสำคัญกว่าก็คือ กระแสเรียกร้องให้นำพระโพธิสัตว์จากประโคนชัย “กลับบ้าน” ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่ได้รุนแรงเหมือนอย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้ด้วย
พระโพธิสัตว์จากประโคนชัยองค์ที่เก็บรักษาอยู่ในคณะโบราณคดี เป็นรูปพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย หล่อด้วยสำริด ขนาดเล็ก มีส่วนสูงเพียง 22.5 เซนติเมตร ซ้ำยังมีสภาพที่ชำรุดอยู่มาก พระกรทั้งสองข้างหักหายไปตั้งแต่เมื่อแรกได้รับมาแล้ว
ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงเล่าเอาไว้ในบทความของพระองค์ว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทางคณะโบราณคดีได้รับมอบจาก ชาวอังกฤษที่ชื่อ นายดักลาส แลชฟอร์ด (Douglas Lashford) เพื่อเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะโบราณคดี เคยมีพิพิธภัณฑ์เป็นของตนเองนะครับ และก็เป็นพิพิธภัณฑ์แบบที่จัดแสดงโบราณวัตถุ รูปแบบไม่ต่างไปจากนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ต่างๆ ในกำกับของกรมศิลปากรนั่นแหละ
พิพิธภัณฑ์ของคณะโบราณคดี เคยตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของพระตำหนักใหญ่ วังท่าพระ (ปัจจุบันคือ ส่วนหนึ่งของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ซึ่งก็เป็นตึกเรียนเก่าของคณะโบราณคดีเอง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2516 ปีเดียวกับที่ ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงอ้างว่านายแลชฟอร์ดได้มอบรูปพระโพธิสัตว์สำริด จากประโคนชัย ให้กับพิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดี
แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกพิพิธภัณฑ์นี้ไปอย่างไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ.2532 ในหนังสือที่ระลึก 5 รอบ 60 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ บางส่วนถูกกรมศิลปากรเรียกคืนไป แต่บางชิ้นถูกนำมาเก็บไว้ที่คณะโบราณคดี
แน่นอนว่าพระโพธิสัตว์จากประโคนชัยนั้น คือบางชิ้นที่คณะโบราณคดียังเก็บรักษาเอาไว้เอง
เราไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆ นายแลชฟอร์ดถึงเอาพระโพธิสัตว์องค์นี้มามอบให้คณะโบราณคดี?
เขาอาจจะนำมาให้ในโทษฐานที่รู้ว่าคณะโบราณคดีกำลังจะเปิดพิพิธภัณฑ์เป็นของตนเองก็ได้
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เราไม่รู้เลยว่าเขาเอาพระโพธิสัตว์องค์นี้มาจากไหน? (ก็ ม.จ.สุภัทรดิศ ท่านไม่ได้บอกเอาไว้)
มีข้อมูลระบุว่า นายแลชฟอร์ดเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2499 ต่อมาได้โอนสัญชาติเป็นไทย มีชื่อ-นามสกุลเป็นภาษาไทยว่า นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์
ซ้ำยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือนายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย) ตั้งแต่ พ.ศ.2545 มา 7 สมัย
จนกระทั่งเพิ่งลงจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ บนวัย 83 ปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2559 ที่ผ่านมานี้เอง
ประติมากรรมจากประโคนชัยกลุ่มเจ้าปัญหานี้ถูกลักลอบขุดขึ้นมาใน พ.ศ.2507 ดังนั้น ถ้านายแลชฟอร์ดอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2499 จริงอย่างที่แหล่งข้อมูลระบุไว้ ก็เป็นไปได้ที่เขาจะบังเอิญไปได้พระโพธิสัตว์องค์นี้มา
ยิ่งเมื่อนายแลชฟอร์ดเป็นผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โดยเฉพาะในอารยธรรมขอมโบราณ ถึงขนาดที่เคยมีผลงานเล่มเขื่องที่ชื่อว่า “Adoration and Glory : The Golden Age of Khmer Art” โดยร่วมกันเขียนร่วมกับ นางเอ็มมา ซี. บังเกอร์ (Emma C. Bunker) อดีตที่ปรึกษาทางด้านการวิจัยด้านศิลปะเอเชีย ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองเดนเวอร์ (Denver Art Museum) โอกาสที่เขาจะบังเอิญไปพบพระโพธิสัตว์องค์นี้จากที่ไหนสักแห่งก็ยิ่งเปิดกว้าง
(น่าสนใจด้วยว่า นางบังเกอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือร่วมกับนายแลชฟอร์ดคนนี้ เป็นผู้ที่เขียนบทความเกี่ยวกับกลุ่มประติมากรรมสำริดจากประโคนชัยอยู่เนืองๆ และดูจะเป็นคนแรกที่ชี้เป้าลงไปอย่างชัดเจนว่า ประติมากรรมกลุ่มนี้ขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์)
อย่างไรก็ตาม นับเป็นคุณวิเศษทีเดียวที่นายแลชฟอร์ดได้นำพระโพธิสัตว์ จากประโคนชัย องค์ที่เขาบังเอิญพบมามอบไว้ให้กับคณะโบราณคดี อย่างน้อยพระโพธิสัตว์จากประโคนชัยบางองค์ก็ไม่ต้องระเห็จไปจนไกลบ้านมากนัก
ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประติมากรรมสำริดจากประโคนชัยกลุ่มนี้ก็คือ ของทั้งหมดนี้ได้จากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ โดยนักล่าสมบัติ เราจึงไม่อาจแน่ใจได้เลยถึงที่มาที่แท้จริง จำนวนที่พบ หรือแม้กระทั่งว่าประติมากรรมเหล่านี้เป็นของเก่าโบราณจริงหรือเปล่า?
และถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสอบด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับโบราณโลหวิทยา ในประติมากรรมที่อ้างว่ามาจากประโคนชัยบางองค์แล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจสรุปได้ว่าประติมากรรมที่อ้างแหล่งที่มาเดียวกันทั้งหมดนี้ เป็นโบราณวัตถุที่ลักลอบขุดได้ในคราวเดียวกันทั้งหมดจริง
(ลองเปรียบเทียบดูง่ายๆ กับบรรดาข่าวกรุพระเครื่องโบราณแตกทั้งหลายนั้น บางครั้งอาจจะพบเพียงแค่สององค์ แต่ประโคมข่าวว่าพบเป็นร้อย ด้วยเหตุผลทางด้านกระเป๋าสตางค์ล้วนๆ ในกรณีของประโคนชัย เราก็ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ข้อนี้ลงไปเช่นกัน)
ประติมากรรมจากประโคนชัยทุกชิ้นมีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน นอกเหนือจากที่จัดแสดงอยู่ในมิวเซียมชื่อดังต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ก็ยังมีที่เก็บอยู่ในคอลเล็กชั่นส่วนตัวของใครบางคนอีกด้วย
โดยปกติแล้วของที่จัดเก็บอยู่ในคอลเล็กชั่นส่วนตัวของเศรษฐี หรือนักสะสม มักจะโดนตั้งคำถามถึงที่มา และไม่ถูกนำมาให้ราคาในเชิงคุณค่าทางวิชาการกันมากนัก
(ปัญหาเดียวกันนี้ก็พบอยู่ในหนังสือ Adoration and Glory : The Golden Age of Khmer Art ของนายแลชฟอร์ด และนางบังเกอร์ ซึ่งใช้หลักฐานจากคอลเล็กชั่นส่วนตัวของใครหลายคนอยู่มาก จนถูกตั้งคำถามถึงความเป็นวิชาการของตัวหนังสือเล่มนี้เอง)
น่าสนใจที่ปี พ.ศ.2516 ปีเดียวกับที่นายแลชฟอร์ดนำพระโพธิสัตว์สำริดจากประโคนชัย มามอบให้คณะโบราณคดี ก็เป็นปีที่มีการประกาศข่าวการค้นพบประติมากรรมสำริด รูปพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป รวมสี่ชิ้นจากบ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โดยกรมศิลปากร
ประติมากรรมทั้งสี่ชิ้นนี้มีที่มาที่ไป และยืนยันตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโบราณวัตถุจริง ที่สำคัญคือทั้งสี่ชิ้นหล่อขึ้นจากสำริดเช่นกัน และสร้างขึ้นในพุทธศาสนาแบบมหายาน แบบเดียวกันกับของที่ลักลอบขุดได้จากประโคนชัย
ซ้ำยังมีลักษณะทางงานช่างสอดคล้องกันอย่างหมดจดอีกด้วย เรียกได้ว่า ประติมากรรมสำริดทั้งสี่ชิ้นนี้ได้ทำให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับกลุ่มประติมากรรมจากประโคนชัยถูกปลดเปลื้องไปเป็นอันมาก เพราะว่าในที่สุดแล้วก็มีการค้นพบประติมากรรมที่มีลักษณะเหมือนกันเสียที
และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญอย่าง ม.จ.สุภัทรดิศ จะเพิ่งมาเขียนถึงประติมากรรมจากประโคนชัยเอาเมื่อ พ.ศ.2516 ทั้งที่ถูกลักลอบขุดไปตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว
ม.จ.สุภัทรดิศ ยังทรงเล่าไว้ด้วยว่า เท่าที่พระองค์ทราบ ยังมีประติมากรรมจากประโคนชัยอยู่ 3 องค์ในประเทศไทย องค์หนึ่งอยู่ที่คณะโบราณคดี ส่วนอีกสององค์ “…คือ พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยสูง 63 ซ.ม. 1 องค์ เทวดาสูง 39 ซ.ม. 1 องค์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล…”
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ประติมากรรมจากประโคนชัยชุดนี้กลับบ้าน ก็ได้แต่หวังว่า ชาวประโคนชัยจะได้เห็น “มรดก” ของพวกเขาองค์เป็นๆ ถ้าไม่ใช่ที่ประโคนชัย อย่างน้อยก็ขอให้เป็นที่คณะโบราณคดี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังดี
มิเช่นนั้น คณะโบราณคดีเองก็จะไม่ต่างอะไรไปจากต่างชาติเหล่านั้น ที่พรากมรดกของพวกเขาเอาไปตระกองกอดไว้เล่นๆ ในอุ้งมือของตัวเอง