วงค์ ตาวัน | ความหมายที่แท้จริงของ 66/23

วงค์ ตาวัน

พร้อมๆ กับการรำลึกอาลัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ถึงแก่อสัญกรรม มีการย้อนทบทวนผลงานทั้งการเมืองและการทหารที่ทิ้งเอาไว้มากมาย ด้วยความที่เคยผ่านหน้าที่การงานอันสำคัญทั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

“คำสั่งที่ 66/2523 ซึ่งออกโดย พล.อ.เปรมขณะเป็นนายกรัฐมนตรี มีการย้อนพูดถึงกันมาก เพราะเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ทำให้ไฟสงครามคอมมิวนิสต์ดับลงได้ในที่สุด”

หลังจากที่เริ่มมีการต่อสู้ด้วยอาวุธของทหารป่าตั้งแต่ 7 สิงหาคม 2508 จากนั้นการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยลุกลามกระทั่งพื้นที่สีแดงเข้ามาจ่อถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

“ด้วยแนวคิดของกลุ่มนายทหารสายพิราบในกองทัพ ผสมกับบทเรียนสมัยที่ พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่อีสาน ที่คอมมิวนิสต์คึกคักเข้มข้น”

จึงมีการนำแนวคิด “การเมืองนำการทหาร” ออกมาใช้ และกลายเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เปิดโอกาสให้คนในป่าวางปืนกลับคืนเมือง มาต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมายใดๆ ติดตัว

สงครามคอมมิวนิสต์จึงค่อยๆ ยุติลง จนจบสิ้นไปในที่สุดหลังจากนั้นอีก 2-3 ปี

“แต่การพูดถึงความสำเร็จของคำสั่งที่ 66/2523 คงไม่ได้มองเพียงในฐานะเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่จัดการหยุดสงครามของคนในประเทศนี้ได้”

ความหมายที่สำคัญที่สุดของ 66/2523 คือ การที่กองทัพและรัฐบาลไทยในขณะนั้นยอมรับว่า สงครามคอมมิวนิสต์คือปัญหาขัดแย้งทางความคิดอุดมการณ์ และมีปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ผลักให้คนหนีเข้าป่าไปจับปืนมาสู้รบกับรัฐบาล

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดขวาพิฆาตซ้าย และความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ที่นำมาสู่การปราบปรามนักศึกษา-ประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 คือการผลักคนในระดับปัญญาชนหลายพันคนให้เข้าไปร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนการสู้รบยิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว”

พร้อมกับได้ข้อสรุปว่า สงครามแบบนี้ ยิ่งปราบ คอมมิวนิสต์ก็ยิ่งโต จึงต้องใช้การเมืองนำการทหาร

เป็นจังหวะเดียวกับที่ภายในขบวนการคอมมิวนิสต์เริ่มระส่ำระสาย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างค่ายโซเวียตกับค่ายจีน

คอมมิวนิสต์ไทยได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไปเปิดสัมพันธ์กับจีน แล้วขอให้ช่วยปิดสถานีวิทยุของคอมมิวนิสต์ไทยได้สำเร็จ นำมาซึ่งการถดถอยเสียขวัญภายในป่า

เมื่อคำสั่ง 66/2523 เปิดทางให้กลับคืนเมือง โดยไม่มีความผิดทางอาญาใดๆ ติดตัว มีการเปิดเจรจากับคอมมิวนิสต์เขตงานต่างๆ จนยอมเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ลงเอยคอมมิวนิสต์จึงหมดป่า

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่กองทัพไทยยุคนายทหารมันสมอง ยอมรับว่าการปราบปรามเป็นวิธีที่ผิดพลาด และการใช้สันติวิธีถูกต้องกว่า!

ก่อนจะมาเป็นคำสั่งที่ 66/23 นั้น ได้มีนายทหารสายพิราบเรียนรู้ปัญหาคอมมิวนิสต์จนเข้าใจกระจ่างว่า ที่สู้รบกันมาตั้งแต่ปี 2508 นั้น ไม่ใช่กองกำลังคอมมิวนิสต์จากเพื่อนบ้านที่จะมาฮุบดินแดนประเทศไทย แต่เป็นคนไทยที่มีแนวคิดอุดมการณ์ ต้องการปฏิวัติโค่นล้มเปลี่ยนสังคมไทย ไปสู่รัฐสังคมนิยม สร้างรัฐของกรรมกรชาวนา

จากนั้นคนยากคนจน ทั้งกรรมกรและโดยเฉพาะชาวนาในชนบท พากันเข้าป่าร่วมการต่อสู้ เพราะทนไม่ไหวกับชีวิตยากลำบาก โดนระบบเอารัดเอาเปรียบ ไปจนถึงคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ข่มเหง รวมๆ แล้วมีความหวังกับหนทางนี้

“ต่อมาเมื่อรัฐบาลและกองทัพโหมเข้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ ก็ยิ่งเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายพื้นที่ ถูกตรวจค้น นำตัวไปสอบสวน เพราะเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายป่า”

มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มาจากความผิดพลาดของการปราบ เช่น กรณีหมู่บ้านนาทราย หมู่บ้านนาหินกอง ในภาคอีสาน ที่โดนกวาดล้างเผาทิ้งทั้งหมู่บ้าน กลายเป็นยิ่งผลักให้คนเจ็บแค้น หนีไปร่วมกับฝ่ายป่าเพิ่มขึ้น

“หรือที่ร้ายแรงคือ ถีบลงเขาเผาลงถังแดงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีการกวาดจับชาวบ้านต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมกับฝ่ายป่า เอาไปสอบสวนอย่างโหดเหี้ยม แล้วถีบลงเขา หรือเผาในถังแดง รวมๆ แล้วในเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีคนสูญหายไปถึง 3 พันราย”

ยิ่งเป็นการกวาดต้อนให้คนในหมู่บ้านต่างๆ ตัดสินใจไปจับปืนเพื่อล้างแค้นให้กับญาติมิตร

“ร้ายแรงที่สุดคือการปราบปรามนักศึกษาปัญญาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งยิงทั้งฆ่า เอาไปเผา เอาศพไปแขวนกับต้นมะขามริมสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด เป็นการผลักปัญญาชนหลายพันคนไปเสริมคุณภาพให้กับคอมมิวนิสต์”

ตลอดเวลาของการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้มีนายทหารที่สัมผัสกับข้อมูลข้อเท็จจริง เริ่มเข้าใจคำว่าสงครามอุดมการณ์

“เช่น พ.อ.หาญ พงษ์สิฏานนท์ นายทหาร กอ.รมน. ที่เป็นสายพิราบยุคแรกๆ มาจนถึงยุคบิ๊กจิ๋ว ตั้วแต่สมัยเป็น พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้ากรมยุทธการทหารบก”

รวมทั้งตำรวจสันติบาล ที่มีเซฟเฮาส์หรือศูนย์ซักถาม ในซอยเศรษฐศิริ กทม. มีสันติบาลสายพิราบเกิดขึ้น หลังจากได้พูดคุยเก็บข้อมูลจากแกนนำคอมมิวนิสต์ที่ถูกจับหรือมอบตัว

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกฯ ก็เป็นคนที่ใช้แนวทางสายพิราบชัดเจน โดยหลังจากก่อรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนได้รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาบริหารบ้านเมือง จากนั้น 1 ปีต่อมา พล.อ.เกรียงศักดิ์ก่อรัฐประหารอีกครั้ง ล้มรัฐบาลธานินทร์ แล้วพลิกนโยบายการเมืองจากยุคขวาสุดโต่งมาเป็นแนวเสรีประชาธิปไตย นิรโทษกรรมจำเลยคดี 6 ตุลาคมทั้งหมด ฟื้นเสรีภาพในสังคม รวมทั้งจับมือกับรัฐบาลจีน ช่วยคลี่คลายบรรยากาศในบ้านเมืองได้อย่างมาก

เหล่านี้สั่งสมมาจนถึงยุค พล.อ.เปรม ได้กลายเป็นคำสั่ง 66/2523 ใช้การเมืองนำการทหารและสันติวิธีดังกล่าว!

กว่าจะเกิดคำสั่งที่ 66/23 ยุติสงครามคอมมิวนิสต์สำเร็จนั้น ต้องนับว่าได้ผ่านการเรียนรู้แนวทางที่ผิดพลาดในอดีตของกองทัพมามากมาย อีกทั้งยอมรับด้วยว่า เพราะการปราบปรามอันผิดพลาดในอดีต เพราะไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจปัญหา ทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยยิ่งขยายตัว การสู้รบยิ่งเกิดขึ้นกว้างขวาง การสูญเสียของทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นมากมาย

จากเสียงปืนในบ้านนาบัว นครพนม เมื่อปี 2508 จากนั้นเสียงปืนลุกลามไปทั่วอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้

“กองทัพไทยก็ยิ่งโหมปราบ เปิดยุทธการต่างๆ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากมาย กลายเป็นเพิ่มกำลังให้กับฝ่ายป่า”

เพราะผิดพลาดกันมามาก ทำให้คอมมิวนิสต์ยิ่งขยาย จนสุดท้ายมีการสรุปบทเรียนและแปรมาเป็นการเมืองนำการทหาร ใช้สันติวิธี ใช้การเจรจา เข้ามายุติปัญหาจนได้

จุดสำคัญอีกอย่างของ 66/2523 ก็คือ เหมือนการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันได้

“ดังนั้น การเรียนรู้ 66/2523 จึงอย่ามองเพียงจุดสุดท้ายของความสำเร็จ จนเป็นวีรกรรมน่ายกย่องเท่านั้น!?!”

แต่ต้องเรียนรู้ว่าผิดพลาด ผู้คนต้องเซ่นสังเวยความรุนแรงของสงครามไปมากมาย แล้วยอมรับเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง

รวมทั้งต้องเรียนรู้ว่า ทำไมจึงมีคอมมิวนิสต์ เพราะปัญหาทางชนชั้น ความยากจน การกดขี่ขูดรีด และการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ถูกต้อง

“ถ้าเรียนรู้ 66/23 อย่างเข้าใจ ก็น่าสงสัยว่าทำไม ในปัญหาความขัดแย้งในยุคต่อๆ มาจึงไม่มีการยึดแนวทางนี้มาปรับใช้!?”

เช่น สงครามไฟใต้ ที่รุนแรงต่อเนื่องมานับสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังคาร์บอมบ์กันไม่สิ้นสุด

หรือการสลายม็อบด้วยกระสุนจริง ทั้งพฤษภาคม 2535 และพฤษภาคม 2553 หรือ 99 ศพ

ทำไมไม่ใช้การเมืองนำการทหาร ไม่ใช้การพูดคุยเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกันอีก!