คำ ผกา | ประชาธิปไตยไม่มีฮีโร่

คำ ผกา

แม้แต่เด็กชั้นประถมก็ต้องรู้ว่าการรัฐประหารคือการทำลายประชาธิปไตย ล้มล้างการทำงานการเมืองในระบบรัฐสภา

เหนือสิ่งอื่นใด การรัฐประหารคือกระบวนการที่ทำให้ “ประชาชน” หมดสิทธิ์แห่งการเป็นประชาชนและพลเมืองของรัฐ เหลือเพียงการเป็นผู้ใต้ปกครองของผู้นำที่จะพร่ำบอกเราว่า หวังดีต่อเรา อยากเห็นเรามีชีวิตที่ดี ดังนั้น จงฟังและทำตามคำสั่งของเขาอย่างไม่บิดพลิ้ว

และไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายของสังคมไทยที่เราเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบติดๆ ดับๆ นั่นคือเราผ่านทั้งการอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย ผ่านทั้งการอยู่ภายใต้เผด็จการ ผ่านทั้งการอยู่แบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แถมยังได้มีโอกาสสั้นๆ ในการลิ้มรสประชาธิปไตยเต็มใบผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรามีแม้กระทั่ง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนจะเกิดรัฐประหารในปี 2549

หลังจากรัฐประหาร 2549 เราสามารถพูดอย่างหยาบว่า คนในสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เชื่อในประชาธิปไตย กับกลุ่มที่เชื่อในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม

และดูเหมือนว่าสองกลุ่มนี้มีจำนวนที่ไม่มากและไม่น้อยไปกว่ากันสักเท่าไหร่นัก

ถามว่าแล้วทำไมต้องรัฐประหาร?

ก็เพราะความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ระบบเลือกตั้ง การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการ ที่ไป empower ประชาชน ย่อมไปบั่นทอน ระบบนิเวศทางอำนาจของโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจแบบเก่าของกลุ่มอำนาจเก่า

ดังนั้น กระบวนการ “ตอน” ประชาธิปไตยด้วยกลไก วิธีการต่างๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

แต่มรดกของการกลายเป็นประชาธิปไตยแม้เพียงชั่วคราว ไม่อาจกวาดล้างออกไปได้โดยง่าย ไม่เพียงแต่ตัวประชาชนที่เกิดสำนึกของความเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิมีเสียง และเชื่อว่าในฐานะผู้เสียภาษี พวกเขาย่อมเรียกร้องสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของประเทศชาติและสิทธิที่จะเลือกผู้แทนฯ ของตนไปทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา

ในความกระท่อนกระแท่นของประชาธิปไตย เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันพรรคการเมืองและนักการเมืองได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็นองคาพยพหลักของการเมืองไทยไปแล้ว

และทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าพวกเขาจะเป็นนักการเมืองน้ำดี หรือน้ำเน่า จะดีจะชั่ว พรรคการเมืองที่อยู่คู่การเมืองไทยมายาวนาน

และนักการเมือง “ตัวกลั่น” ทั้งหลายในประเทศนี้ย่อมมี “ผลประโยชน์” มี “เดิมพัน” ที่เราไม่สามารถกีดกันพวกเขาออกไปจากสนามการเมืองได้

หลังการยึดอำนาจสองครั้งล่าสุด ก็ยิ่งชัดเจนว่า จะมีการยุบพรรคไปอีกกี่ครั้ง จะเผชิญหน้ากับคดีความไปกี่คดี จะมีนักการเมืองรุ่นพี่ติดคุกไปกี่คน จะมีนักการเมืองถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ฯลฯ ความน่าอัศจรรย์ของมันก็คือ คนเก่าๆ ก็ยังวนกลับมาเล่นการเมือง

มิหนำซ้ำยังมีคนหน้าใหม่ ไอเดียใหม่ อุดมการณ์ใหม่ รสนิยมใหม่ ความรู้ใหม่ เข้ามาสู่วงการเมืองอีกไม่ขาดสาย

การยึดอำนาจสองครั้งล่าสุดฉุดรั้งให้สังคมไทยล้าหลัง เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่งคั่งไปอย่างน่าเสียใจ แต่ขณะเดียวกันการฉุดรั้งทำลายประชาธิปไตยนี้กลับเป็นแรงเหวี่ยงส่งกลับมาในทางตรงกันข้ามอย่างน่าสนใจ

เราลองมาเริ่มดูกันตรงนี้

ตั้งแต่การลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย นักการเมืองทุกพรรคก็เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นมิตรกับ “ประชาธิปไตย” เลยแม้แต่น้อย และทุกคนก็เห็นเค้าลางของการวางกติกามาเพื่อสืบทอดอำนาจ บั่นทอนความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง จงใจให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค

ไม่นับเรื่องการจุดเทียนเวียนวนของการแต่งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ที่ตั้งกันและกันวนไปวนมา เพื่อพยุงอำนาจกันเอง ไม่นับระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมพิสดาร ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว และสูตรคำนวณอันประหลาดล้ำ

ในท่ามกลางกติกาอันทุกคนรู้ว่าออกแบบมาเพื่อเอื้อฝ่ายหนึ่งและกีดกันอีกหลายฝ่ายนั้น กลุ่มฝ่ายที่หนุนประชาธิปไตยก็ยังไม่เสื่อมศรัทธาในกระบวนการเลือกตั้ง

พูดภาษาชาวบ้านว่า “เอาล่ะ กติกามายังไง เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดในกติกาอันบิดเบี้ยวนี้”

สปิริตนี้มันยิ่งใหญ่มากเพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงการตกผลึกทางความคิดของ พรรคการเมือง นักการเมือง และมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ว่าพวกเขาเชื่อมั่นในกระบวนการปฏิสังขรณ์ประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี ปฏิเสธการต่อสู้บนท้องถนน และความรุนแรง

รู้ทั้งรู้ว่า เสียเปรียบทุกอย่าง กติกาไม่เป็นธรรม แต่ก็ยินดีลงสนามด้วยความตั้งใจว่า ถ้าเราดีจริงเก่งจริง กติกาเบี้ยวแค่ไหนก็ยังมีโอกาสชนะ

เมื่อชนะแล้ว ค่อยไปหาทางแก้ไขกติกา แล้วค่อยๆ ประคับประคอง ตั้งไข่ประชาธิปไตยกันใหม่

ในฝั่งของประชาชนนั้น บอกได้เลยว่า กระแสความนิยมของรัฐบาล คสช. และพรรคพลังประชารัฐมีจริง คนอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็มีเยอะ

อยากเห็นพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งก็เยอะ

พูดได้ว่า การตื่นตัวของการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้เกิดจากความไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ แต่สังคมไทยเริ่มอึดอัดกับการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มี “ประชาชน” เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

พูดง่ายๆ เขาไม่เอา “สนช.” เขาอาจจะชื่นชมความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่ทำงานอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

ณ ขณะนั้น คนไทยจำนวนหนึ่งยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนด้วยซ้ำ

แต่ความที่อยากจะ “ต่ออำนาจ” มากจนเกินงาม จนเกินลิมิต จนเกินความพอดี แทนที่จะใช้กติกาที่ก็ลำเอียงมากอยู่แล้วนั้นให้พอเหมาะพอควร การเลือกตั้งวันที่ 24 และหลังจากนั้น กลับเต็มไปด้วยคำถาม ข้อกังขา

อย่างที่เราทุกคนรู้ ตั้งแต่บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ ไปจนถึงบัตรเขย่งต่างๆ แล้วที่น่าเกลียดที่สุดคือการประกาศสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หลังการเลือกตั้ง

จุดนี้คือจุดใหญ่ที่สุด นั่นคือ กกต.สูญเสียความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือไปอย่างยากที่จะกอบกู้ขึ้นมาได้ในสายตาประชาชน

เมื่อใช้ “กฎหมาย” ทุกวิถีทางบีบให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่แม้จะชนะการเลือกตั้งก็ต้อง “แพ้” ให้ได้ ในการจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่ไปเลือกสูตรคำนวณเพื่องอก ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ 11 พรรคเล็ก ไปจนถึงการทำให้ธนาธรต้องโดนคดีถือหุ้นสื่อจนต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ไปแบบ “ค้านสายตาประชาชน”

การใช้อำนาจและกฎหมายอย่างไม่ผิดกฎหมายไปจนเลยเถิดขนาดนี้ส่งผลสะเทือนกลับอย่างน่าตื่นตะลึงมาก นั่นคือมันทำให้คนที่ไม่ “อิน” กับการเมือง หรือมีความรู้สึก “ช้า” ทางการเมือง

คนที่ปกติแล้ว ถ้าไม่ทุเรศทุรังจริงๆ จะมองไม่เห็นว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่ในกฎและกติกาคราวนี้ พากันมองเห็นความไม่ชอบมาพากลนี้โดยทั่วถึงกัน

ในที่นี้ฉันอยากจะบอกว่า ไม่รู้ว่าเพราะอะไรถึงปล่อยเกิดการประวิงอำนาจที่ไม่ subtle และไม่เนียนขนาดนี้เกิดขึ้นได้?

การไม่เนียนนี้เองที่ทำให้กระแสตีกลับมาที่ฝั่งประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีตัวเลือกที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย แต่เป็นอนาคตใหม่

คนที่เพิ่งจะตื่นตัวทางการเมือง หรือคนเคยที่ “กลางๆ” จึงตัดสินใจได้ไม่ยากเลยว่า ถ้ายืนอยู่ข้างความถูกต้อง ยืนอยู่ฟากไหนถึงจะถูกต้อง!!!

เมื่อเปิดสภา 2 วันแรก จึงเป็นการเปิดสภาที่มีคนติดตามดู และฟังการทำงานของสภาอย่างตื่นตัวชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

คนรุ่นใหม่ คนที่เพิ่งสนใจการเมืองจึงได้เป็นประจักษ์พยานถึงคุณภาพของ ส.ส.แต่ละคน แต่ละพรรค และได้ใช้วิจารณญาณ ใช้สามัญสำนึกอย่างธรรมดาที่สุดในการติดตามดูก็รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรชอบ อะไรไม่ชอบ

ในสภาที่มาจากกติกาที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลยกลับกลายเป็นห้องเรียนประชาธิปไตยที่ของคนทั้งชาติไปโดยปริยาย

หนักกว่านั้น การจะเสียสัตย์เพื่อชาติ หรือไม่เสียสัตย์ ของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยจะเป็นประเด็นที่มีต้นทุนสูงมากของทั้งสองพรรค

และแน่นอนเป็นต้นทุนที่ “สูง” มากของพรรคพลังประชารัฐด้วย และในภาวะที่คนตื่นตัวทางการเมืองขนาดนี้

โอกาสที่ทั้ง 2 พรรคจะเสื่อมความนิยมอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ประจักษ์พยานที่ดีที่สุดคือ ใน ณ ขณะที่ธนาธรกล่าวยุติการทำหน้าที่ ส.ส.ของตนเอง ท่ามกลางเสียงปรบมือของเพื่อน ส.ส. การลุกขึ้นยืนเพื่อให้เกียรติแก่เขา การชูสามนิ้วของ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่ง กลายเป็นคลิปทางการเมืองที่ sentimental ที่สุดการเมืองไทยร่วมสมัย

และจะกลายเป็นโมเมนต์ทางประวัติศาสตร์ ความสง่างามของนักการเมือง

ความสง่างามของคนที่หยัดยืนบนความถูกต้องเป็นอย่างไร ธนาธรได้สาธิตให้สังคมไทยเห็นจากการกระทำของเขาในวันนั้น

และมันจะเปลี่ยนการรับรู้ของสังคมไทยเรื่องการเมือง นักการเมือง ประชาธิปไตย ไปอย่างที่ไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก

ใครจะคิดว่า ยึดอำนาจแล้วยึดอำนาจอีก สิ่งที่ได้มากลับเป็นฉากนี้ในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการ

ประชาธิปไตยในสังคมไทยคงไม่ถูกปฏิสังขรณ์ในสภาเร็ววันนี้ และยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกมาก

แต่อย่างน้อย การเมืองใน “สภา” ที่กำลังจะดำเนินขึ้นโดยมีตัวแปรเป็น “ผลประโยชน์” ที่ต้องต่อรองกันอย่างหนักมาก ทั้งผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ที่เกี่ยวกันกับผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะที่เป็นฐานเสียง

ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าภาพ เจ้ามือ เจ้าหนี้ ทั้งหนี้เงิน หนี้บุญคุณ เหล่านี้จะพันพัว และสร้างแรงกระเพื่อม เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง สำหรับฉัน มันขึ้นอยู่กับคนไทยเองนั่นแหละว่าจะส่งเสียงแสดงเจตจำนงของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ได้แค่ไหน

ประชาธิปไตยอยากได้ต้องช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับฮีโร่คนใดคนหนึ่ง

สำคัญที่สุดอย่าให้ฮีโร่ต้องเดินอยู่ตามลำพังโดยไม่มีคุณ