E-DUANG : ​​ภาพของ”บ้านเมือง” ภาพของ เปลว สีเงิน

แล้วหนังสือพิมพ์ “บ้านเมือง” ก็กล่าวคำอำลาจากไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม
เป็นการอำลาจาก”สื่อกระดาษ”ไปเป็น”สื่อกระจก”
กล่าวสำหรับ “แฟนานุแฟน”(สำนวนของ “ต่วย” วาทิน ปิ่น เฉลียว) ก็ยังมิได้ “จากพราก” กันอย่างสิ้นเชิง
เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคแห่ง”อะนาล็อก” เท่านั้น
คนยุคปัจจุบันอาจรับรู้นามของหนังสือพิมพ์จาก”บ้านเมือง” แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า
“บ้านเมือง” มาจากหัวหนังสือพิมพ์”ข่าวสยาม”
ขณะเดียวกัน หัวหนังสือพิมพ์”ข่าวสยาม”ก็มาจากหัวหนังสือ พิมพ์ “เสียงอ่างทอง”
เมื่อมองไปยัง “ข่าวสยาม” คนก็นึกถึงอย่าง 1
เมื่อมองไปยัง “เสียงอ่างทอง” คนก็นึกถึงอย่าง 1
เช่นเดียวกับ เมื่อมองไปยัง “บ้านเมือง” นัยประหวัดก็มีให้พิจารณาอย่างเปี่ยมด้วยความมีชีวิต
“ชีวิต”ของ”บ้านเมือง”จึงเปี่ยมด้วย”ชีวา”

ผาดแรกเมื่อนึกถึงหนังสือพิมพ์ “บ้านเมือง” คนมักนึกและมีจินตภาพไปถึง นายบรรหาร ศิลปอาชา
เพราะ นายวิจารณ์ ภุกวิจารณ์ สัมพันธ์กับ”ท่านบรรหาร”
ขณะเดียวกัน นายวิจารณ์ ภุกวิจารณ์ ก็สนิทชิดชอบอยู่กับ นายมานะ แพร่พันธุ์
เพราะชมชอบในการโยน”โบว์ลิ่ง”
นายมานะ แพร่พันธุ์ สนุกกับ”โบว์ลิ่ง”ตั้งแต่เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” มาแล้ว
สนุกถึงขั้นเป็น”นายก”สมาคม”โบว์ลิ่ง”
นายมานะ แพร่พันธุ์ ขบคิดในเรื่อง “บ้านเมือง” ตั้งแต่ยุคก่อน รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514
แต่ “ชีวิต”ของ”บ้านเมือง”มีมากกว่านั้น

ชีวิตของ”บ้านเมือง”มีรากที่มาจาก 2 คนประสานเข้าด้วยกัน 1 นาย มานะ แพร่พันธุ์ แน่นอน
แต่อีก 1 คือ นายถาวร สุวรรณ
จาก 2 สายนี้แม้กระทั่ง เวทย์ บูรณะ และ วิรัช ศิริชุมแสง ก็เคยนั่งอยู่ “บ้านเมือง”
เปลว สีเงิน ก็อยู่ในฐานะ”ร่วม”ก่อตั้ง
ลม เปลี่ยนทิศ และ ใต้ฝุ่น ก็เคยเป็น”นักข่าว”ก่อนจะไปผาดโผนใน “ไทยรัฐ”
เช่นเดียวกับ สุภาพ คลี่ขจาย
และที่แน่นอน “พญาไม้” และ “มด คันไฟ” คือกำลังสำคัญของ มานะ แพร่พันธุ์
นี่เป็น”บ้านเมือง”ก่อนยุค”ฉลามเขียว”
มองผ่านแต่ละนามซึ่งโดดเด่นเหล่านี้แล้วก็ต้องนึกถึง มานะ แพร่พันธุ์ และ ถาวร สุวรรณ
เช่นเดียวกับ การนึกถึง นายบรรหาร ศิลปอาชา