เจาะแก้กฎหมายโทษข่มขืน คุ้มครอง “คนแก่-พิการ” จำกัดความ “ชำเรา” ใหม่ ย้อนดูคดีจบที่ประหาร

เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขฐานความผิดในคดีข่มขืน

โดยมีเนื้อหาเพิ่มโทษหนักให้กับการข่มขืนคนท้อง พิการ คนแก่ ผู้ป่วยจิต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

รวมทั้งครอบคลุมไปถึงกรณีที่ถ่ายภาพ คลิป เสียง และการใช้อาวุธข่มขู่ รวมทั้งแก้ไขให้การข่มขืนบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรส ยอมความไม่ได้

ที่สำคัญ ยังนิยามความหมายของคำว่า “กระทำชำเรา” ใหม่

ซึ่งจะต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่าจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรในอนาคต และจะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ก่อเหตุได้ถึงขั้นไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ต้องควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคม

พัฒนาทัศนคติของคน หาทางออก ทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดความหมกมุ่น

ต้องใช้หลายแนวทางถึงจะแก้ปัญหาได้

ผ่ากฎหมายแก้โทษข่มขืน

สําหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม โดยราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำชำเรา มีสาระสำคัญดังนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท

ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000-400,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชาย ในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 300,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต และหากใช้อาวุธโทรมเด็กหญิงหรือเด็กชาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ถ้าการกระทำความผิด เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 300,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

แต่หากถึงแก่ความตาย ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

และหากผู้ใดกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 280/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 280/1 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 278 หรือมาตรา 279 ได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารนั้นไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง

ปรับปรุงโทษเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราจำกัดความใหม่ “ชำเรา”

ขณะที่ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ และกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ระบุว่า ที่น่าสนใจคือ คำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” จากเดิมอยู่ในมาตรา 276 ย้ายเป็นมาตรา 1(18) และยกเลิกบทนิยามเดิมตามมาตรา 276 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสอง มีผลต่อข้อหาชำเราศพทันที มาตรา 1(18) กระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น คือผู้เสียหายที่มีชีวิต อันเป็นองค์ประกอบภายนอก และผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงส่วนนี้

จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ส่งผลทำให้การใช้วัตถุอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้อื่น ไม่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราอีกต่อไป แต่จะย้ายไปมาตรา 278 วรรคสอง 279 วรรคสี่แทน เป็นว่าการกระทำอนาจารที่มีโทษเท่าการข่มขืนกระทำชำเรา

ส่วนข้อการข่มขืนตามมาตรา 276 วรรคสอง ถ้ากระทำโดยให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่ามีอาวุธปืนหรือระเบิด ต้องรับโทษหนักขึ้น เช่น ใช้ปืนของเล่น หรือปืนบีบีกันนั่นเอง

ที่น่าสนใจอีกคือ เพิ่มมาตรา 280/1 กำหนดบทเพิ่มโทษ 1 ใน 3 กรณีการข่มขืนกระทำชำเราหรือกระทำอนาจาร ที่บันทึกภาพ หรือเสียง แอบถ่ายคลิปไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และถ้าหากส่งต่อภาพหรือเสียงนั้น ก็จะต้องบทเพิ่มโทษถึงกึ่งหนึ่ง

พร้อมแก้ไขมาตรา 281 เกี่ยวกับการยอมความ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยกำหนดใหม่ว่า ถ้าเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง หรืออนาจารที่เทียบเท่าข่มขืน ตามมาตรา 278 วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส

ดังนั้น ข่มขืนบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสจึงยอมความไม่ได้ และนอกจากนี้ต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย และถ้าเป็นกรณีกระทำอนาจารตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องตามมาตรา 285 หรือมาตรา 285/2

รวมทั้งกำหนดบทเพิ่มโทษสำหรับการกระทำความผิด ฐานข่มขืนกระทำชำเราต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ เช่น คนทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์ คนชรา คนป่วยเจ็บ คนโรคจิต เป็นต้น

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า การแก้กฎหมายในครั้งนี้ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะการประหารชีวิตของผู้กระทำผิดหากเหยื่อถึงแก่ความตาย เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องดำเนินคดีสูงสุดอยู่แล้ว

ปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวของเหยื่อเอง มาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ การใช้อำนาจที่มีอยู่ผ่านการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของพฤติกรรมความเป็นเจ้าของการครอบครอง การใช้กำลังบังคับข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย

การแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศต้องแก้ด้วยกันหลายปัจจัย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่เพียงเน้นการแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความตระหนักตื่นรู้ของกฎหมาย การสร้างระบบเฝ้าระวัง

การลดภาพความรุนแรงทางเพศในสื่อละคร ที่มีให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ

ทั้งหมดจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศลดลงได้

ย้อนคดีต้องโทษประหาร

สําหรับคดีที่เกี่ยวกับการข่มขืนที่เกิดขึ้น ที่เป็นคดีใหญ่ ทั่วโลกให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่นายซอลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือวิน ชาวพม่า ลูกจ้างในสถานบริการที่เกาะเต่านั่นเอง เป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ อายุ 24 ปี

และร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา น.ส.ฮานนาห์ วิกตอเรีย วิทเธอริดจ์ อายุ 24 ปี เหตุเกิดที่โขดหินแหลม จปร. หาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557

คดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 2

โดยระบุว่า หลักฐานสำคัญคือดีเอ็นเอที่ตรวจจากอสุจิที่พบในร่างกายของเหยื่อ รวมทั้งพยานแวดล้อม ทั้งอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ บาดแผลที่ผู้ตายถูกทำร้ายอย่างทารุณ โทรศัพท์ของเหยื่อที่จำเลยทั้งสองนำไปหลังก่อเหตุ เป็นหลักฐานมัดแน่น

ขณะที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

พร้อมระบุว่า ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่มีเอกสารและภาพถ่ายในขั้นตอนการจัดเก็บวัตถุพยาน การบรรจุปิดผนึก การส่งและรับวัตถุพยาน และการตรวจสอบวัตถุพยานบางขั้นตอนนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญที่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นเห็นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนประหารชีวิต

ล่าสุดอยู่ในชั้นฎีกา

อีกคดีที่โจษจันกันมากก็คือ คดีที่นายวันชัย แสงขาว หรือเกม พนักงานรถไฟขบวนที่ 147 นครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ ข่นขืน ด.ญ.อายุ 13 ปี ในตู้นอนรถไฟ แล้วทิ้งศพลงหน้าต่างรถไฟในพื้นที่ ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2557

ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตนายวันชัย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2558 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะที่ผู้ต้องหาไม่ขอใช้สิทธิ์ฎีกา

คดีจึงจบลงด้วยโทษประหาร