วิเคราะห์ : “เบร็กซิท” บนหนทางไม่แน่นอน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วโลกได้เห็นการหลั่งน้ำตาของ “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กคนที่ 2 ของอังกฤษ ขณะประกาศการตัดสินใจจะลาออกจากตำแหน่ง

ด้วยเหตุที่ตนเองไม่สามารถผลักดันให้ “ร่างข้อตกลงเบร็กซิท” ที่จะเป็นใบเบิกทางให้อังกฤษหลุดพ้นจากการอยู่ใต้ร่มเงาของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งนางเมย์ได้ไปเจรจาทำความตกลงกับฝ่ายอียูเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายได้ โดยร่างข้อตกลงเบร็กซิทของนางเมย์ที่ยื่นเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอการอนุมัติเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วถึง 3 ครั้ง แต่กลับถูกตีตกทั้งหมด ท่ามกลางภาวะบีบคั้นทางการเมือง

ทำให้นางเมย์ตัดสินใจที่จะส่งไม้ต่อภารกิจอันสำคัญนี้ให้กับผู้นำรัฐบาลคนใหม่ที่จะสามารถทำให้กระบวนการเบร็กซิทของอังกฤษเดินหน้าต่อไปได้

แต่จนถึงขณะนี้หนทางของอังกฤษที่จะก้าวไปสู่การทำเบร็กซิทให้ลุล่วง อันเป็นไปตามผลการลงประชามติของชาวอังกฤษในปี 2016 ที่ให้อังกฤษแยกตัวออกจากอียูนั้น ยังคงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนและไร้ซึ่งความชัดเจนว่าผลที่สุดแล้วจะเดินหน้ากันอย่างไร

ขณะที่เส้นตายที่อียูยอมขยายเวลาออกไปให้กลุ่มการเมืองในอังกฤษตกลงกันให้ได้เรื่องเบร็กซิท จากเดิมที่กำหนดไว้คือในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นภายในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนั้นก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ

 

ตอนนี้มีการประเมินภาพสถานการณ์ความเป็นไปได้เรื่องเบร็กซิทของอังกฤษว่าอาจเป็นไปได้ใน 4 แนวทาง คือ

1. การทำเบร็กซิทแบบมีข้อตกลง ซึ่งมีร่างข้อตกลงเวอร์ชั่นที่นางเมย์ได้ทำความตกลงกับอียูไว้แล้ว แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ โดยเฉพาะการถูกต่อต้านจากพวกกลุ่มหัวแข็งที่มองว่าร่างข้อตกลงเบร็กซิทของนางเมย์มีความประนีประนอมกับอียูมากเกินไป ซึ่งต้องดูว่าในแนวทางนี้จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในร่างข้อตกลงเวอร์ชั่นนี้หรือไม่ เพื่อให้เดินหน้าเรื่องเบร็กซิทต่อไปได้

2. การขยายเส้นตายการทำเบร็กซิทออกไปอีก ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าอียูได้ยอมขยายเส้นตายเบร็กซิทให้กับอังกฤษออกไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แต่อียูก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ที่อาจจะยอมยืดเวลาให้อังกฤษออกไปอีกได้ ส่วนที่สุดแล้วอียูจะยอมรับไอเดียนี้หรือไม่ ต้องรอดูการหารือเรื่องเบร็กซิทในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายนนี้

3. การทำเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง (โน-ดีล) ที่อังกฤษจะพ้นจากการเป็นสมาชิกอียูในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ตามกำหนดเส้นตายของอียู โดยปราศจากการมีข้อตกลงผูกมัดใดๆ ระหว่างกัน ซึ่งในแนวทางนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจของอังกฤษที่จะเป็นฝ่ายได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

และแนวทางสุดท้าย ที่ยังคงมีการพูดถึงอยู่คือการยุติเรื่องเบร็กซิททั้งหมด ซึ่งในแนวทางนี้อังกฤษมีสิทธิที่จะบอกเลิกเพียงฝ่ายเดียวเมื่อใดก็ได้ ด้วยการยกเลิกการใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน ที่เป็นกระบวนการทางการสำหรับชาติสมาชิกที่ต้องการถอนตัวออกจากอียู

อย่างไรก็ดี มีการมองว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลังปรากฏผลประชามติ การจะหยุดยั้งเรื่องเบร็กซิทถูกมองว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางการเมือง

แต่กลุ่มฝักใฝ่อียูชี้ว่าหนทางเดียวเท่านั้นที่จะหยุดยั้งเบร็กซิทได้คือการเปิดให้ลงประชามติกันใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจะต้องเป็นการโหวตให้อังกฤษอยู่ร่วมในอียูต่อไป

ที่ว่ามาทั้งหมดยังคงเป็นเพียงการประเมินแนวทางเรื่องเบร็กซิทที่อาจมีความเป็นไปได้ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง

 

ขณะเดียวกันยังมีการมองถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่มีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ายังพอจะเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มความเป็นไปได้เรื่องอนาคตเบร็กซิทของอังกฤษได้อีกทาง

โดยเฉพาะชัยชนะของพรรคเบร็กซิท พรรคการเมืองน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนของนายไนเจล ฟาราจ หนึ่งใน “ตัวบงการ” ปลุกเร้าการรณรงค์แยกตัวออกจากอียูของอังกฤษในปี 2016 ซึ่งเป็นพรรคยืนหนึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในอังกฤษครั้งนี้ ด้วยการกวาดเสียงสนับสนุนไปมากถึง 31.6 เปอร์เซ็นต์

จนทำให้มีการมองว่าโอกาสที่อังกฤษจะทำเบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลง หรือโน-ดีล ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคเบร็กซิทของฟาราจชูธงมาโดยตลอดมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น

แต่กระนั้นการที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (ลิเบอรัล เดโมแครต) ซึ่งเป็นกลุ่มฝักใฝ่ยุโรปและต้องการให้ทำประชามติใหม่ยังทำผลงานได้ดี โดยได้รับเสียงสนับสนุนตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 20.3 เปอร์เซ็นต์

เช่นเดียวกับพรรคกรีนที่มีจุดยืนต่อต้านการทำเบร็กซิท ได้เสียงสนับสนุนตามมาที่ 12.1 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้ก็ถูกมองว่าเป็นจุดสกัดต่อโอกาสข้างต้นของการทำเบร็กซิทแบบโน-ดีล

ในส่วนพรรคอนุรักษนิยมของนางเมย์ที่หนุนการทำเบร็กซิทแบบมีข้อตกลง แต่ยังทำไม่สำเร็จ และพรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้านที่ถูกกล่าวหาว่ายังมีความสับสนในการแสดงจุดยืนเรื่องเบร็กซิท ต่างทำผลงานได้แย่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้

นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นถึงผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในอังกฤษที่ออกมาว่า สะท้อนให้เห็นภาพความแตกแยกทางความคิดในสังคมอังกฤษที่ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง รวมถึงในประเด็นเรื่องเบร็กซิทเองด้วย ที่ทำให้เราต้องรอดูต่อไปจนถึงสุดทางว่าทางออกของปัญหานี้จะอยู่ที่ตรงไหน!!