ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าเอาการสืบทอดอำนาจของคุณประยุทธ์ ไปเทียบกับ พล.อ.เปรม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

คุณชวน หลีกภัย เป็น ส.ส.ที่อยู่ในสภานานที่สุดของยุคจนเป็น “ผู้แทนราษฎร” นานกว่าใครๆ

และนอกจากจะเป็นนักการเมืองที่ประชาชนไว้ใจให้เข้าสภาติดต่อกัน 50 ปี ในการเลือกตั้งถึง 16 ครั้ง คุณชวนยังเคยเป็นทั้งนายกฯ, ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อันเป็นคุณสมบัติที่ไม่มีใครมีในสภาชุดปัจจุบัน

ถ้าหน้าที่ของประธานสภามีมากกว่าทำงานรับใช้รัฐบาล คุณชวนคือคนที่เหมาะเป็นประธานสภาที่สุดเพราะบทบาทผู้นำฝ่ายค้านน่าจะทำให้คุณชวนเข้าใจว่าประธานสภาต้องทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรมอย่างไร

ขณะที่บทบาทนายกฯ คงทำให้คุณชวนเข้าใจว่าทำอย่างไรไม่ให้สภาเป็นแค่ตรายางตามใบสั่งรัฐบาล

ภายใต้คุณสมบัติส่วนบุคคลที่คุณชวนควรเป็นประธานสภากว่าทุกคน เหตุผลที่ทำให้สภาเลือกคุณชวนกลับสร้างความมัวหมองแก่คุณชวนอย่างที่สุด เพราะในเมื่อ ส.ส.ประชาธิปัตย์มีไม่พอจะทำให้คุณชวนได้เป็นประธานสภา คุณชวนจึงชนะเพราะแรงหนุนของพลังประชารัฐและพรรคซึ่งหนุนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

คนประชาธิปัตย์พยายามบอกว่าพรรคไม่เคยขอให้พลังประชารัฐและพรรคอื่นโหวตคุณชวน

แต่การที่พลังประชารัฐเสนอชื่อคุณชวนชิงตำแหน่งประธานสภานั้นไม่ใช่เรื่องปกติ

คุณชวนมีคุณสมบัติเกินพอที่จะดำรงตำแหน่งนี้ แต่คุณชวนได้เป็นประธานจริงๆ เพราะพลังประชารัฐเสนอชื่อและยกมือเลือกกลางสภา

ด้วยกระบวนการทั้งหมดที่ส่งให้คุณชวนได้เป็นประธานสภา พลังประชารัฐกับประชาธิปัตยมี “ดีล” กันแน่ๆ ต่อให้ดีลนั้นจะเกิดจากพรรคประชาธิปัตย์ทำให้พลังประชารัฐไม่มีทางเลือกที่จะไม่สนับสนุนคุณชวนก็ตาม เพราะหากทำแบบนั้น คุณสมพงษ์จากพรรคเพื่อไทยก็จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาทันที

คุณชวนดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2529-2531 ช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ นั่นหมายความว่าคุณชวนเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติในเวลาที่ทหารการเมืองยึดครองประเทศมาแล้ว คุณชวนจึงมีทักษะในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนฯ กับทหารการเมืองกว่าทุกคนในปัจจุบัน

หากคุณประยุทธ์ทำตามแผนให้ตัวเองเป็นนายกฯ ได้สำเร็จจริงๆ การเมืองไทยก็จะมีรูปแบบคล้ายๆ สมัยคุณชวนเป็นประธานสภาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว นั่นคือนายกฯ มาจากทหารที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง, รัฐมนตรีส่วนหนึ่งมาจาก ส.ส.ร่วมรัฐบาล และอีกส่วนมาจาก “เทคโนแครต” ซึ่งมีภาพว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญกว่านักการเมือง

นักรัฐศาสตร์และสื่อมวลชนเคยเรียกระบบการเมืองยุคนั้นว่า “เปรมาธิปไตย” ซึ่งมองไปทางไหนก็เห็น พล.อ.เปรมมีอำนาจสูงสุด และนักวิชาการจำนวนมากก็ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารและดิ้นรนเป็นนายกฯ ต่อ

เพราะคิดว่าจะทำให้เกิดการปกครองแบบ “เปรมาธิปไตย” อีกครั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน

ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.เปรมมีคุณสมบัติส่วนบุคคลเหนือกว่าคุณประยุทธ์ราวฟ้ากับดิน แต่ในการชี้แจงว่าทำไมควรยอมรับให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ในปี 2562 คนไม่น้อยกลับอ้างว่าในเมื่อ พล.อ.เปรมสร้างความเจริญให้ประเทศไทยในทศวรรษ 2530 ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็สร้างความเจริญให้ประเทศได้เหมือนกัน

ประชาธิปัตย์เป็นตัวอย่างขององค์กรที่เผชิญข้อถกเถียงนี้จนวุ่นวาย

เพราะหนึ่งในเรื่องที่ประชาธิปัตย์ฝ่าย “หนุนประยุทธ์” ตอบโต้ฝ่าย “ไม่หนุนประยุทธ์” คือประชาธิปัตย์เคยร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ โดยไม่ได้เป็น ส.ส.จาก พ.ศ.2523-2531 จนไม่ผิดอะไรที่จะสนับสนุนคุณประยุทธ์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี พล.อ.เปรมเข้าสู่อำนาจในเงื่อนไขทางสังคมที่ต่างจากคุณประยุทธ์มาก มิหนำซ้ำก็ยังมีบุคลิกภาพด้านการบริหารอำนาจที่แตกต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงคุณสมบัติส่วนบุคคลที่ พล.อ.เปรมสมัยเป็นนายกฯ เหนือชั้นกว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่อยู่ในตำแหน่งมาแล้วห้าปีจนไม่ควรเปรียบเทียบให้ต้องอับอาย

ภายใต้ความเป็นนายกฯ จากทหารเหมือนกัน พล.อ.เปรมไม่ใช่หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตัวเองเป็นนายกฯ, ท่านไม่เกี่ยวพันกับการก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ

และนั่นหมายความว่าท่านไม่ได้มัวหมองจากการทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายล้างคู่แข่งทางการเมือง

คุณประยุทธ์เข้าสู่อำนาจโดยวิถีทางที่ต่างจาก พล.อ.เปรม

เพราะไม่เพียงจะรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อร่างกติกาใหม่ที่เปิดโอกาสให้ตัวเองเป็นนายกฯ

คุณประยุทธ์ยังพัวพันกับรัฐมนตรีที่ตั้งพรรคเพื่อหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ในภายหลัง

ซ้ำห้าปีของคุณประยุทธ์คือห้าปีแห่งการกำจัดฝ่ายตรงข้ามแทบทุกคน

ในวันที่ พล.อ.เปรมใช้ฐานอำนาจในกองทัพมาเป็นฐานอำนาจการเมือง ท่านไม่ใช่ศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรงจนมีคนต่อต้านท่านน้อยมาก ส่วนคุณประยุทธ์ใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจจนตัวเองเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งมาครึ่งทศวรรษ การสืบทอดอำนาจจึงทำให้เกิดการต่อต้านทันที

จริงอยู่ พล.อ.เปรมคือ “ทหารการเมือง” ที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่เป็นนายพันในปี 2502, เป็นวุฒิสมาชิกปี 2511 และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี 2515 จนมีตำแหน่งยุคเผด็จการทหารก่อน 14 ตุลาคม 2516 โดยตลอด

แต่การได้ตำแหน่งตามน้ำกับการก่อรัฐประหารแบบคุณประยุทธ์นั้นต่างกัน

แม้ พล.อ.เปรม จะเป็นหนึ่งในคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งก่อการยึดอำนาจในวันที่เกิดการปราบปรามนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา 2519แต่กว่าที่ท่านจะเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยในปี 2520 และรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2522 ก็เป็นเวลาที่ทหารด้วยกันกวาดล้างทหารกลุ่มขวาจัดไปแล้ว พล.อ.เปรมจึงเป็น “ทหารการเมือง” ที่ไม่ได้สุดโต่งจนเด่นชัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ประเทศไทยเดินออกจากระบอบเผด็จการสุดขั้วประเภทฆ่าหมู่นักศึกษา, กวาดจับคอมมิวนิสต์, ปิดหนังสือพิมพ์, ยุบพรรคการเมือง ฯลฯ มาเป็นสังคมเปิดที่หยุดไล่ล่าประชาชน,พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้, มีเสรีภาพการชุมนุม ฯลฯ ที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์วางแผน “สืบทอดอำนาจ” โดยใช้พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลที่ คสช.กุมกระทรวงหลักทั้งหมด แต่การสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นหลังจากท่านยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเป็นใหญ่เหนือคนทั้งประเทศมาห้าปีแล้ว รัฐบาลสืบทอดอำนาจจึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์จนสามารถมี Honeymoon Period อย่างรัฐบาลทั่วไป

ห้าปีที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศด้วยกฎอัยการศึก, คำสั่ง คสช. และมาตรา 44 ทำให้ท่านเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

คุณประยุทธ์ “เปลี่ยนผ่าน” สังคมไทยจากสังคมเปิดเป็นสังคมปิดซึ่งต่างจาก พล.อ.เปรมที่ผ่อนคลายสังคมสู่การสร้างสังคมเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

พล.อ.เปรมบริหารประเทศโดยข้าราชการเป็นกำลังสำคัญ แต่ข้าราชการการเมืองยุคคุณเปรมไม่ได้ใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์จนน่ารังเกียจ

ส่วนคุณประยุทธ์ตั้งพวกพ้องเป็นรัฐมนตรีที่ทุกคนต่างตั้งพรรคพวกเป็นวุฒิสมาชิก, กรรมการรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ จนมีภาพใช้ตำแหน่งกอบโกยผลประโยชน์ที่น่าระอา

พล.อ.เปรมดึงนักธุรกิจมาช่วยงานรัฐบาลผ่านกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และถึงแม้ยุคนั้นรัฐบาลจะถูกโจมตีว่าฟังแต่สภาหอการค้า/สภาอุตสาหกรรม/สมาคมธนาคาร มากกว่าประชาชนจริงๆ

การทำงานกับองค์กรแบบนี้ก็ดีกว่าคุณประยุทธ์ที่ฟังแต่นักธุรกิจในเครือข่ายประชารัฐของเจ้าสัวไม่กี่ตระกูล

แม้ พล.อ.เปรมจะใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจการเมือง แต่พฤติกรรมของ “ทหารการเมือง” ยุคนั้นไม่เลวร้ายเท่า “ทหารการเมือง” ซึ่งยิ่งอยู่นานยิ่งรวยขึ้นในยุคนี้

คำว่า “ทหารการเมือง” ยุค พล.อ.เปรมคือการใช้กองทัพเพื่อสร้างอำนาจ ขณะที่ “ทหารการเมือง” ยุคนี้ใช้กองทัพเพื่อสร้างอำนาจแล้วต่อยอดทำมาหากิน

ขณะที่คุณประยุทธ์รักษาอำนาจโดยยกตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทยให้พี่น้องขาประจำตลอดห้าปี และจากนี้ก็คงให้นายพลขาประจำดำรงตำแหน่งต่อไปอีก พล.อ.เปรมตั้งรัฐมนตรีมหาดไทยคนแรกจากข้าราชการพลเรือน ส่วนคนที่สองคือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ซึ่งเป็นทหารที่ซื่อสัตย์ตลอดอายุราชการ

แน่นอนว่าการที่ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมพร้อมกันทำให้งบฯ กองทัพยุคนั้นเพิ่มเกินปกติ แต่ความไม่เหมาะสมด้านการจัดสรรงบประมาณเป็นคนละเรื่องกับการโกง และเหตุการณ์ซื้อยุทโธปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้หรือเกินความจำเป็นอย่าง GT200, เรือเหาะ, เรือดำน้ำ ฯลฯ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคนั้นเลย

ผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจมักอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์คือทหารที่เป็นนายกฯ ได้เหมือน พล.อ.เปรม แต่นอกจากการได้ชื่อว่าพลเอกเหมือนกัน คุณประยุทธ์มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียง พล.อ.เปรมสมัยเป็นนายกฯ น้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่ต่างกันอย่างยิ่งยวดจนไม่ควรเอาสองคนนี้มาเปรียบเทียบกัน

การเมืองไทยยุค พล.อ.เปรมเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งอีกนัยคือ “เผด็จการครึ่งใบ” ที่กองทัพผูกขาดอำนาจการเมืองด้วยวิธีต่างๆ แต่ระบอบการเมืองที่นักวิชาการยุคนั้นเรียกว่า “เปรมาธิปไตย” ดำรงอยู่ได้ด้วยกองทัพและความสนับสนุนของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.เปรมคือผู้นำที่มีคุณธรรมกว่าทุกคน

พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ แปดปีเพราะความยอมรับของคนแทบทุกฝ่ายในสังคม เหตุแห่งความยอมรับคืออะไรคือเรื่องที่ต้องใช้เวลาคุยกันเยอะ

แต่ความยอมรับทำให้เกิดบารมีซึ่งคงอยู่แม้ในวันที่ พล.อ.เปรมพ้นตำแหน่งไปแล้ว แก่นแท้ของ “เปรมาธิปไตย” จึงไม่ใช่การใช้กำลังหรือกฎหมายปิดปากอย่างที่ยุคนี้กระทำ

ไม่ว่าคุณชวนจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ เพราะพลังประชารัฐไร้ทางเลือกหรือเพราะ “ดีล” คุณชวนกำลังเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติในยุคที่นายกฯ สุดโต่งจนนิยมแนวทางสังคมปิดอย่างที่สุด

คุณประยุทธ์ไม่ใช่นายกฯ นายพลที่จะให้สภาทำงานได้ราบรื่นแบบคุณเปรม และนั่นคือโจทย์ที่ท้าทายคุณชวนปัจจุบัน

คุณชวนเป็นหนึ่งในอดีตนายกฯ ที่ผู้นับถือมากที่สุดในสังคมไทย

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือคุณชวนเป็นอดีตนายกฯ คนเดียวที่ผ่านตำแหน่งสำคัญจนมีบทบาทในฝ่ายนิติบัญญัติวันนี้

งานประธานสภาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณชวนจะธำรงบารมีที่มีมาตลอดชีวิต

หรือจะถูกจดจำเป็นผู้สนับสนุนผู้นำที่คนครึ่งประเทศไม่ต้องการ