ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘โขนไทย-โขนกัมพูชา’ เป็นพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
STR / AFP

โขน นับเป็นประเภทหนึ่งของการแสดงหน้ากาก (masked play) ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในอุษาคเนย์ ทั้งบนผืนแผ่นดินใหญ่ และในภาคหมู่เกาะ

เพียงแต่ว่า โขน จะเล่นเฉพาะ รามเกียรติ์ เช่นเดียวกับ “ลฺโขน โขล” (Lakorn Khol) ของกัมพูชา

ที่เล่นเฉพาะมหากาพย์ที่อิมพอร์ตมาจากอินเดียเรื่องนี้เหมือนกัน หมายความว่า ถึงเรื่องที่เล่นจะเอามาจากอินเดีย แต่ก็เอามาเฉพาะเรื่องที่เล่นเท่านั้น ส่วนการแสดงหน้ากากเป็นของพื้นเมือง

และถึงแม้ว่าการแสดงหน้ากากน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ที่เราเรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว หลักฐานที่เขาจดกันเป็นลายลักษณ์ไว้ว่า มี “หน้ากาก” (ส่วนจะเล่นอย่างไร? เล่นเรื่องไหน? และใช้แสดงอะไรอย่างโขนหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เก่าแก่ที่สุด มีอยู่ในจารึก K. 1229 กำหนดอายุอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1350-1450 (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ซึ่งพบในประเทศกัมพูชา แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรนัก

หลักฐานที่บอกชัดๆ ว่ามีการสวมหน้ากาก แล้วร่ายรำ มีอยู่ในเอกสารที่อายุอ่อนกว่านั้นมากคือ หนังสือโบราณ ทำนองเป็นพงศาวดารของราชวงศ์มัชปาหิต ในภาคตะวันออก ของเกาะชวา ที่ชื่อ “นาครเกียรตาคม” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวๆ พ.ศ.1800

เรื่องของเรื่องก็คือในหนังสือนาครเกียรตาคมได้บันทึกเอาไว้ว่า กษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ ที่ทรงพระนามว่า หะยัม วูรุค ทรงสวมหน้ากากทองคำ และร่ายรำโตเป็ง (Topeng)

“โตเป็ง” ที่ว่านี่ก็คือระบำหน้ากาก บางทีก็เรียกว่า วาหยัง เกด็อก (wayang gedok) หรือ วาหยัง โตเป็ง ปัจจุบันในชวาก็ยังมีการละเล่นชนิดนี้อยู่

แต่เรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ทำไมกษัตริย์ชวาถึงต้องมารำหน้ากาก?

เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงธรรมเนียมในสยามประเทศ อย่างการที่พระมหากษัตริย์จะทรงพระแสงของ้าว รำพัดชา บนกระพองช้างพระที่นั่ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธบาท (ก็พระพุทธบาท ที่สระบุรีนั่นแหละ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ดั้งเดิมนั้นสิ่งที่เราในปัจจุบันเรียกว่า “การละเล่น” หรือ “การแสดง” นั้น มันเป็น “พิธีกรรม” ต่างหาก

ร่องรอยที่เห็นอยู่ชัดๆ ก็มาจากเกาะชวาอีกนั่นแหละ เพราะเรื่องเล่าเก่าแก่ที่ผู้คนคงจะหลงลืมไปนานแล้วถ้ามันไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในใบลาน ทางภาคตะวันออกของเกาะชวา (อีกแล้ว) มีเรื่องทำนองอภินิหาริย์ตำนานเทพ ซึ่งมีใจความโดยย่อว่า

พระศิวะกับพระอุมาต้องคำสาปจนถูกเนรเทศลงมายังโลกมนุษย์ในรูปของปีศาจ โดยที่พระอุมากลายเป็นปีศาจที่ชื่อว่า “ทุรคา” (ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นชื่อ พระภาคที่ดุร้ายพระภาคหนึ่งของพระแม่อุมา ไม่ใช่ปีศาจ) และให้กำเนิดบุตรอีกหลายตนที่ล้วนแล้วแต่มีรูปร่างผิดปกติและผิดสัดส่วน (เหมือนรูปร่างบนตัวหนังตะลุงของไทย)

พระพรหม พระวิษณุ และพระอิศวร (ในคัมภีร์นี้ดูเหมือนว่าพระศิวะ กับพระอิศวร จะเป็นเทพคนละองค์กัน แต่โดยปกติแล้วหมายถึงเทพเจ้าองค์เดียวกัน) ต้องการที่จะช่วยพระศิวะ และพระแม่อุมาให้พ้นคำสาปจึงสร้างการแสดง “วาหยัง กุลิต” ซึ่งก็คือการเล่นเงา (แบบหนังตะลุง หนังใหญ่ของเรานั่นเอง) ขึ้นมาบนโลก โดยเทพทั้งสามองค์ เป็นองค์ประกอบหลักของการแสดง

พระอิศวรทำหน้าที่เป็น “ดาหลัง” คือผู้เชิดตัวหนัง พระพรหมเป็นตะเกียงให้แสงสว่างขณะแสดง ส่วนพระวิษณุเป็นดนตรี ซึ่งในการแสดงจะต้องมีการเซ่นสังเวยให้แก่ปีศาจด้วย

ตำนานเล่าต่อไปว่า มหาเทพทั้งสามไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงครั้งแรกนี้ พระศิวะและพระแม่อุมายังคงต้องคำสาปอยู่ไม่คลาย

ทวยเทพทั้งสามจึงต้องจัดการแสดงขึ้นใหม่อีกรอบ และคราวนี้เองที่มีการแสดง “ระบำ” กับ “หน้ากาก” เพิ่มเติมเข้าไปด้วย

และเมื่อมหาเทพทั้งสามอุตส่าห์จัดเต็มกันขนาดนี้แล้ว พระศิวะและพระอุมาจึงหลุดพ้นออกจากคำสาปได้ในที่สุด เรียกได้ว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

แต่ตำนานเรื่องนี้ไม่มีในอินเดีย เป็นเรื่องแต่งใหม่ในท้องถิ่น ที่นำเอาความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาผนวกเข้ากับเรื่องผีพื้นเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ต้องทำการเซ่นสรวงเหล่าปีศาจไปด้วย

ในกรณีนี้ การละเล่นจึงเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบำ การละเล่นหน้ากาก หรือการเล่นเงา เพราะมีลักษณะของตัวละครเป็นอภิมนุษย์เหมือนกัน

ศิลาจารึกเก่าแก่จากประเทศกัมพูชาอีกหลักหนึ่งคือจารึก K. 566 ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ.1450-1550 (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ดูจะเป็นหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับกรณีนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีข้อความระบุในทำนองที่ว่า พระอีศาน (พระภาคหนึ่งของพระอิศวร) เป็นองค์ประธานของหน้ากากทั้งหลาย นี่แสดงให้เห็นว่า หน้ากากเคยถูกใช้งานในฐานะของเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์

และก็ไม่เห็นจะน่าแปลกที่ตรงไหนเมื่อนึกถึงฐานะอันสูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่งของ “หน้ากากพรานบุญ” ในพิธีไหว้ครูละคร และดนตรีการต่างๆ

จิตสำนึกแต่เดิมของอุษาคเนย์ “หน้ากาก” จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านสภาวะจากมนุษย์ธรรมดา อย่างคุณ หรือผม ไปเป็นร่างทรงของความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในพิธีกรรม

ไม่ใช่การละเล่นของเด็ก หรือว่าใครที่ไหนก็เล่นได้หรอกนะครับ

ในกรณีของประเทศไทย โขนมีตั้งแต่ในยุคอยุธยาแล้ว (ซึ่งก็ร่วมสมัยกับราชสำนักกัมพูชา ที่เมืองอุดงมีชัย ซึ่งมีหลักฐานการแสดงละโขน โขล ซึ่งสวมหน้ากาก และเล่นเฉพาะรามเกียรติ์เหมือนกับโขนของสยาม) แต่ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นก็คือ พิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง ที่เรียกว่า การชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก ที่เก่าไปถึงยุคต้นอยุธยา ในช่วงราวๆ พ.ศ.1900 หรือก่อนหน้านั้น

คำว่า ดึกดำบรรพ์ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเก่าแก่โบร่ำโบราณ แต่เขียนเลียนเสียงคำว่า “ตึ๊กตะบัน” ในภาษาเขมร ที่แปลว่าการ “ตำน้ำ”

รวมความแล้วการชักนาคดึกดำบรรพ์ ก็คือการจำลองเรื่องราวในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ที่หมู่เทวดาและอสูรมาช่วยกันจับนาคพันไว้รอบภูเขากลางทะเลจักรวาลที่ชื่อ เกษียรสมุทร แล้วคั้นเอา “น้ำอมฤต” ที่กินแล้วเป็นอมตะไม่ตาย

กษัตริย์อยุธยาก็อยากดื่มน้ำอมฤต (แน่ล่ะ ก็กินแล้วมันไม่ตายนี่ครับ) แต่ไม่รู้จะไปหาเกษียรสมุทร พญานาค เทวดา หรืออสูรที่ไหน ก็ต้องจำลองเหตุการณ์ด้วยการ ทำภูเขาจำลอง พญานาคจำลอง ส่วนเทวดาและอสูร ก็จับเอาตำรวจเล็กมาแต่เป็นอสูร และเอาพวกมหาดเล็กมาแต่งเป็นเทวดาและบรรดาลิงนับร้อยๆ ตัว

(ในอินเดีย เรื่องกวนเกษียรสมุทรนี่ไม่ได้มีลิงจากรามายณะ ไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อตอนเขากวนน้ำกันนะครับ มีเฉพาะในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะที่ไทย กับกัมพูชา เห็นได้จากภาพสลักที่ปราสาทนครวัด กับเนื้อความในรามเกียรติ์ฉบับกัมพูชาเขานี่แหละ)

และคำถามที่สำคัญก็คือ เวลาที่พวกมหาดเล็กกับตำรวจเล็ก เขาแต่งเป็นอสูรกับลิงนี่เขาแต่งกันอย่างไร?

ถ้าต้องใส่ “หน้ากาก” ก็นี่แหละชัดเลยว่าเป็นต้นกำเนิดโขน ที่เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อย่างในปัจจุบัน ส่วนหน้ากากนั่นก็ไปลอกแบบมาจากภาพสลักปราสาทขอมนั่นไง สังเกตง่ายๆ ว่าศีรษะโขนไทย เอาหน้าเยอะๆ ของทศกัณฐ์และยักษ์ตนอื่นซ้อนสูงไว้ข้างบนหัวตนเอง เหมือนภาพสลักขอม ไม่แยกออกมาด้านข้างเหมือนของออริจินอลในอินเดีย

แน่นอนว่า การเอาสารพัดหน้าของบรรดายักษ์ไปกองรวมกันไว้ข้างบน ย่อมสวมใส่ง่ายสบายดีกว่าให้การแผ่ออกทางด้านข้างเหมือนของแขก นั่นแปลว่าในอารยธรรมของชาวเขมรในสมัยที่ยังสร้างปราสาทหินอยู่นั้น ก็อาจจะมีหน้ากาก หรือศีรษะโขนแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งก็ไม่เห็นจะแปลก ก็ขนาดชื่อพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ยังเลียนเสียงเขมรเขามากันทื่อๆ อย่างนั้น

คำว่า “โขน” และ “ละคร” ของไทยก็เอามาจาก “ลฺโขน โขล” ของเขมรนี่เหมือนกัน เพียงแต่เราแยกต่างหากออกจากกันว่า ใส่หน้ากาก (หรือศีรษะโขน) เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เรียกว่าโขน ไม่สวมหน้ากาก เล่นสารพัดเรื่องอื่นๆ เรียกว่าละคร แต่เขมรเองก็เอาคำนี้มาจากคำว่า “เลกอง” (legong) ในภาษาชวา ซึ่งก็หมายถึง ละคร ที่เล่นกันในชวาตะวันออกและเกาะบาหลี

โขน จึงเป็นแขนงหนึ่งของการแสดงหน้ากาก ที่เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของคนทั่วทั้งอุษาคเนย์ในยุคดึกดำบรรพ์