นิทาน-เรื่องเล่า บทเรียนที่ทำให้ธุรกิจ “อยู่รอด” | ธุรกิจพอดีคำ

“ทางรอดทางเดียว”

145 ล้านปีที่แล้ว

ในทุ่งหญ้าเขียวขจี ที่ฉากหลังเต็มไปด้วยภูเขาสูงชัน

ปรากฏ “ราชา” แห่งยุคสมัย เดินอวดศักดา

“ไทแรนโนซอรัส”

ร่างใหญ่กำยำ แข็งแรง อาวุธครบมือ

ทั้งเขี้ยวเล็บและเสียงคำรามดังกึกก้อง

มันคือผู้อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารทั้งปวง

มองไกลออกมา ที่นอกชั้นบรรยากาศโลกยุคดึกดำบรรพ์

“อุกกาบาต” ก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูง

อีกไม่กี่อึดใจจะพุ่งเข้าชนอาณาจักรของราชา

ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา

ราชาเงยหน้ามองเห็นท้องฟ้าสีแดง พร้อม “ลูกไฟ” แปลกตา

เสียงคำรามของท้องฟ้า ดังกึกก้องไปทั่วหล้า

ดังจนเสียงของพวกราชา ไม่ต่างจากเสียงแมวตัวหนึ่ง

ราชาเห็นท่าไม่ดี จึงออกวิ่งเข้าไปในถ้ำใหญ่

รอคอยแรงกระแทกที่ไม่อาจจะคาดเดาได้

หินภายในถ้ำเริ่มถล่มลงมาช้าๆ

ทีละเม็ด สองเม็ด สิบเม็ด ยี่สิบเม็ด

ราชาหนีหัวซุกหัวซุน หาที่หลบซ่อน

แต่ก็ยังไม่พ้นรัศมีของแรงกระแทกจากอุกกาบาต

ราชาสลบไปหลายชั่วโมง

รู้ตัวอีกทีก็ตื่นขึ้นมาในความมืด

รอบกายไม่มีแสงใด มีเพียงฝุ่นคละคลุ้ง ควันโขมง ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า

ต้นไม้ถูกทำลาย ลำธารแห้งเหือด สิ่งมีชีวิตล้มหายตายจาก

แม้จะรอด แต่ก็เหมือน “ตายทั้งเป็น”

ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีแม้อากาศบริสุทธิ์

ร่างกายกำยำของราชาค่อยๆ อิดโรย

และ “สิ้นลม” ในเวลาไม่ช้า

วันก่อนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ท่านหนึ่ง

สนทนาเรื่องการ “สร้างนวัตกรรม” ในองค์กรอย่างจริงจัง

ทำไมองค์กรใหญ่ๆ ถึงคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยออก

หลายครั้งอยากให้ลูกน้องคิดอะไรใหม่ๆ

ทั้งๆ ที่เขาก็คิดว่าเขาเปิดกว้างฟังความคิดเห็นแล้ว

แต่ก็ไม่เห็นว่าคนจะออกความเห็นกันเท่าที่ควร

ฟังเขาเยอะเกินไป ไม่ค่อยโต้เถียง

ไอเดียใหม่ก็เลยไม่ค่อยเกิดขึ้น

ผมจึงแนะนำไปในแบบ Design Thinking ว่า

ของใหม่ๆ นั้น ถามหาไม่ได้

แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้มันเกิดขึ้นเอง

ลองคิดๆ ดู ปกติเราคิดอะไรใหม่ๆ ออกตอนไหน

หลายๆ คนคงจะมีคำตอบคล้ายๆ กัน

ก็ตอนหัวมันว่างๆ

เช่น ตอนอาบน้ำ ตอนวิ่งเช้าๆ

หรือตอนขับรถกลับบ้าน ฟังเพลงคลอไปเรื่อยๆ

ไอเดียมักจะมาในตอนที่เราคาดไม่ถึง

หลายครั้งก็เกิดจากการที่เราพูดคุยกับเพื่อนๆ ต่างแผนก

สัพเพเหระไปเรื่อยๆ จนได้ไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิด

ทำไมบริษัท Google จึงอยากให้คนกินข้าวด้วยกัน

มีมุมขนมอยู่หลายๆ ที่ ให้คนต่างแผนกเดินมาคุยกัน

ก็เพราะเขาเข้าใจว่าไอเดีย หลายๆ ครั้งก็ไม่ได้มาจากการ “ระดมสมอง”

เค้นกันสุดฤทธิ์เสมอไป

ไอเดียดีๆ มีอยู่ทุกที่ในออฟฟิศ ทุกการสนทนา

เพียงแค่เรา “จับ” มันมาทำอะไรต่อได้มากน้อยแค่ไหน

การพัฒนา “ไอเดีย” ไปสู่ “ต้นแบบ” มากกว่า ที่ท้าทายสำหรับองค์กรไทย

เพราะว่ามันต้องเริ่มใช้ “งบ” นั่นเอง

องค์กรส่วนใหญ่จะมีกระบวนการ “วิเคราะห์วิจารณ์” ไอเดียต่างๆ ค่อนข้างมาก

คนมีไอเดียน้อย มีไม่กี่คน

แต่ทุกคนล้วนจะมีความเห็นให้กับ “ไอเดีย” ที่มีคนนำเสนอเสมอ

ทำให้จาก “ไอเดีย” นำไปสู่การลงมือทำนั้น

มีความช้า หากเทียบกับบริษัทขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าสตาร์ตอัพ

อยากลองอะไร ก็ลองได้เลย เงินเป็นของตัวเอง ดูแลกันเอง

ไม่ใช่ว่า คนมีไอเดียเป็นคนหนึ่ง คนตัดสินใจกุมเงินอยู่เป็นอีกคนหนึ่ง

ก็คงจะคุยกันไป กินเงินเดือนกันไป นานสักหน่อยก่อนจะได้ทดลองอะไรสักอย่าง

เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงความเร็ว ความล้มเหลวต่างๆ นานาในเรื่องของนวัตกรรมแล้ว

มันก็คือความเร็วในการพัฒนาจากไอเดียในอากาศ

ให้เป็น “ต้นแบบ” ที่ลูกค้าจับต้องไปนั่นเอง

การปรับตัวตามลูกค้า นี่แหละคือหัวใจของนวัตกรรม

คิดหาไอเดียใหม่ๆ ว่ายากแล้ว

แต่สำหรับองค์กรใหญ่ๆ หลายแห่ง

การตัดสินใจลงมือทำของใหม่ๆ นี่สิ ยากยิ่งกว่า

ผู้นำที่ดีต้องคอย “ดูแล” ไอเดียใหม่ๆ เหล่านี้ให้สม่ำเสมอ

ปล่อยให้มันได้โตเสียหน่อย ก่อนฆ่ามันทิ้ง

ด้วย “คำวิจารณ์” เข้มๆ บนประสบการณ์เก่าๆ ของตัวเอง

ข้างๆ ราชา ปรากฏรูเล็กๆ น่าสงสัย มีหนวดสองข้างโบกสะบัดไปมา

เจ้า “แมลงสาบ” ตัวจิ๋ว ดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิต

มันอาศัยอาหารจากซากพืช ซากสัตว์

น้ำจากท่อนไม้ ที่พอจะหาได้ประทังชีวิต

รอวันฟ้ากลับมาสดใส วันที่ฝนเริ่มพรำลงมา

ฟื้นคืน “ชีวิต” ให้ผืนแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง

ใหญ่ก็ไม่รอด

เล็กก็ไม่รอด

เข้มแข็งก็ไม่รอด

อ่อนแอก็ไม่รอด

ฉลาดก็ไม่รอด

โง่เขลาก็ไม่รอด

ช้าก็ไม่รอด

เร็วก็ไม่รอด

“ปรับตัวได้” เท่านั้น

ที่ทำให้ “รอด”

“ธุรกิจ” ก็เช่นกัน