“หญิงรักหญิง”ในวรรรคดีสุนทรภู่ และครั้งหนึ่งที่ถูกหญิงปันใจให้ “เพื่อน”

ญาดา อารัมภีร
สาวชาววังกอดกันแนบชิดที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี)

“เลสเบี้ยน” รักระหว่างหญิงกับหญิง เป็นรักดึกดำบรรพ์ที่มีมาช้านาน โดยเฉพาะรักเร้นลับของสาวชาววังเป็นข้อมูลเบื้องลึกละเอียดยิบที่บันทึกไว้ในผลงานหลายเรื่องของท่านสุนทรภู่เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี เล่าถึงสาวเมืองรมจักรระหว่างโดยสารเรือตามเสด็จท้าวทศวงศ์และนางเสาวคนธ์ยกทัพไปเมืองลงกา ดังนี้

“ข้าหลวงเหล่าสาวสวรรค์กำนัลนาง นั่งเท้าคางบ้างก็เอกเขนกพิง

บ้างแอบเพื่อนเหมือนหนึ่งน้องประคองปลอบ ชวนชื่นชอบชมชลาประสาหญิง

บ้างเบียดผลักควักค้อนชอ้อนอิง บ้างช่วงชิงที่นั่งทำรังแก”

จะเห็นได้ว่าบางคนทำทีตีสนิทหาทางใกล้ชิดแบบเนียนๆ

ที่มีใจให้กันแล้วก็ออกอาการหึงหวง มีหยอกเย้า ออดอ้อน ค้อนใส่กันทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางสายตาคนทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เป็นส่วนตั๊วส่วนตัว พฤติกรรมยิ่งแนบแน่นลึกซึ้ง ดังที่นิทานคำกลอนเรื่อง ลักษณวงศ์ บรรยายว่า

“บ้างเล่นเพื่อนเบือนกายให้เพื่อนกอด ประสานสอดกรเกี้ยวไม่ไกลข้าง

นาสิกเสียดเบียดชิดอยู่ติดปราง จับนมนางบ้างหลับประทับกัน”

เป็นวิธีการแสดงความรักที่ไม่ต่างกับชายจริงหญิงแท้เลยแม้แต่น้อย

คนไทยโบราณเรียกรักร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิงด้วยกันว่า “การเล่นเพื่อน” คำว่า “เพื่อน” ในที่นี้มิได้หมายถึงมิตรสหาย หรือผู้ที่คบหาชอบพอกัน แต่หมายถึง คู่รัก ชู้รัก หรือแฟนนั่นเอง

อันที่จริงชายหรือหญิงล้วนมีอารมณ์เพศอยู่ในตัวจะมากหรือน้อยเท่านั้น

วิธีการปลดเปลื้องระบายอารมณ์ก็สุดแต่รสนิยม

สังคมของสาวชาววังในเขตพระราชฐานชั้นในมีแต่ผู้หญิงล้วนก็ต้องพึ่งพาเพศเดียวกันช่วยบรรเทาความร้อนรุ่มกายใจให้เบาบาง

สุนทรภู่อยู่ในวังคงจะเห็นพฤติกรรมเล่นเพื่อนของสาวชาววังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็เลยเสียดสีด้วยการกำหนดให้เมืองรมจักรของท้าวทศวงศ์ (พ่อตาศรีสุวรรณ น้องชายพระอภัยมณี)

เป็นสังคมเสรีรักร่วมเพศที่ผู้ครองเมืองเปิดโอกาสให้นางในรักกันเองได้ ดังที่เรื่อง พระอภัยมณี บรรยายว่า

“ฝ่ายห้ามแหนแสนสนมเมืองรมจักร แต่ล้วนนักเลงเพื่อนเหมือนกันหมด

ด้วยเมื่ออยู่บุรีภิรมย์รส เพราะท้าวทศวงศาไม่ว่าไร

จนเคยเล่นเป็นธรรมเนียมนางรมจักร ทั้งร่วมรักร่วมชีวิตพิสมัย

กลางคืนเที่ยวเกี้ยวเพื่อนออกเกลื่อนไป เป็นหัวไม้ผู้หญิงลอบทิ้งกัน”

“หัวไม้ผู้หญิง” ก็คือ นักเลงผู้หญิงที่เจ้าชู้เกี้ยวเรื่อยไป

วิธีการจีบก็ครือๆ กันกับชายจริงหญิงแท้นั่นแหละ ติดตาต้องใจใครขึ้นมาก็หาทางใกล้ชิดด้วยสารพัดลีลาตามถนัดของแต่ละคน

“เห็นสาวสาวชาวเมืองการเวก ที่เอี่ยมเอกต้องใจจนใฝ่ฝัน

แกล้งพูดพลอดทอดสนิทเข้าติดพัน ทำเชิงชั้นชักชวนให้ยวนใจ”

ของอย่างนี้ไม่ผิดอะไรกับยาเสพติด เผลอไผลไปสักหน่อย รู้รสชาติเข้าสักนิดมีแต่จะติดใจ ครั้งเดียวไม่เคยพอเสียด้วย ดังที่สุนทรภู่เล่าถึงสาวเมืองการเวกว่า

“พวกพาราการเวกไม่รู้เล่น คิดว่าเช่นซื่อตรงไม่สงสัย

ต่อถูกจูบลูบต้องทำนองใน จึงติดใจไม่หมายให้ชายเชย”

ถึงตอนนี้ผู้ชายหลายคนคงร้องว่า “เกิดมาเสียของ” เพราะ

“หนุ่มหนุ่มเกี้ยวเบี้ยวบิดไม่คิดคบ เหตุเพราะสบเชิงเพื่อนจึงเชือนเฉย”

ตรงนี้แหละที่สุนทรภู่ผู้แต่งแทรกตัวเองลงไปเต็มๆ โดยติติงว่าไม่เห็นด้วยกับการเล่นเพื่อนของสาวๆ เมืองรมจักรและการเวก

“แต่เมืองเราชาวบุรีนี้ไม่เคย อย่าหลงเลยเล่นเพื่อนไม่เหมือนจริง”

อย่างไรก็ดี คำเตือนดูจะเป็นหมัน เพราะปรากฏว่า

“อันรมจักรนัครากับการเวก อภิเษกเสนหาประสาหญิง

ออกอื้ออึงหึงหวงเพราะช่วงชิง ถึงลอบทิ้งทุบตีเพราะที่รัก”

ได้กันแล้วก็ทั้งห่วง หวง และหึงครบสูตร มีเรื่องมีราวกันก็เพราะหึงหวงนี่แหละ

ในเมื่อสาวเมืองรมจักรขึ้นชื่อว่าเจ้าชู้เป็น “หัวไม้ผู้หญิง” หรือนักเลงผู้หญิง อย่าคิดว่าจะรักเดียวใจเดียวกับสาวเมืองการเวกเท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มีรักเก่าเร้าใจกับสาวเมืองผลึกมาแล้ว ด้วยเหตุนี้เมื่อโอกาส เวลา สถานที่เป็นใจได้มาเจอกันอีกครั้งในงานอภิเษกสินสมุทรกับนางอรุณรัศมี สาวเมืองรมจักรจึงทุ่มไม่อั้น ต้อนรับขับสู้เต็มที่ ไม่ว่าตัวเองจะตกที่นั่งเงินทองมีน้อยใช้สอยประหยัดหรือไม่ก็ตาม

ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

“ฝ่ายห้ามแหนแสนสนมเมืองรมจักร ล้วนรู้หลักเหลือสาวเพลงยาวขยัน

กับสาวสาวชาวเมืองผลึกนั้น รู้จักกันแต่เมื่อครั้งไปลังกา

ล้วนเคยเป็นเล่นอีกไม่หลีกเลี่ยง นัดเพื่อนเลี้ยงโต๊ะกันด้วยหรรษา

ที่มีทรัพย์รับเพื่อนก็เยื้อนมา ได้หน้าตาตั้งปึ่งท่าขึงคม

ที่รักใคร่ให้ของเครื่องทองนาก กระจกฉากมีดน้อยไม้สอยผม

ที่ขัดทรัพย์รับเพื่อนต้องเลื่อนกรม ผ้านุ่งห่มหอบจำนำมาทำยศ”

รักกันให้ข้าวของแทนใจกันนั้นมันไม่เสียหายอะไร แต่ถ้ารักจนหลง ไม่เป็นอันทำงานทำการ นี่สิเสียงานเสียการเสียชื่อ ดังที่สุนทรภู่เล่าไว้ในเรื่อง สิงหไกรภพ ว่า

“แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน

ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ”

คนรักกันชอบกันนอกจากแสดงออกด้วยการให้ของกำนัลหรือมีสัมพันธ์ทางกายและใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ยังแสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใย ดังตอนศึกลังกาตีเมืองการเวก ชาวเมืองหนีตายกันอลหม่าน ในภาวะที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดนั้น ต้องยกนิ้วให้คนที่ “เล่นเพื่อน” หาได้ทำเช่นนั้นไม่

“ที่รักเพื่อนเหมือนชีวิตร่วมจิตใจ อุตส่าห์ใส่สะเอวอุ้มกอดกุมมือ”

สังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดูจะไม่ยอมรับพฤติกรรมเล่นเพื่อนเท่าไรนัก ดังที่สุนทรภู่บรรยายให้เห็นว่าเป็นสิ่งต้องห้ามต้องปิดบัง ดังตอนหนึ่งของเรื่อง ลักษณวงศ์ ว่าไว้ว่า

“ที่เล่นเพื่อนเบือนกอดแม่ยอดรัก ครั้นกึกกักก็กระโดดหน้าต่างไป”

แสดงว่ากลัวใครรู้ใครเห็น แค่มีเสียงกุกๆ กักๆ ขณะที่กำลังกระชับความสัมพันธ์ก็ต้องล้มเลิกกลางคัน รีบหนีไปทันที

สุนทรภู่ท่านคงจะรับไม่ได้ ทำใจลำบากกับเรื่องนี้ จึงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยเอาไว้หลายตอนด้วยกัน เริ่มจากให้ตัวละครเอกของเรื่องคือ พระอภัยมณีออกอาการต่อต้านการเล่นเพื่อน โดยให้ศรีสุวรรณยืนยันรับรองว่าพี่ชายไม่มีทางข้องเกี่ยวกับสาวรักร่วมเพศเป็นอันขาด

“แต่ห้ามแหนแม้นเห็นว่าเล่นเพื่อน ถึงรูปเหมือนนางฟ้ามาก็เฉย

ทั้งคู่เขาเล่าก็ไม่พอใจเชย พระไม่เคยคบหารักษาองค์”

ต่อต้านผ่านตัวละครเท่านั้นยังไม่พอ สุนทรภู่ออกปากวิจารณ์เองก็มี ดังตอนที่ตัดพ้อแม่หม้ายรายหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกันเอาไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

“สงสารแต่แม่หม้ายสายสวาท นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล

อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองใน เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว

แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง จะร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว

นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวข้าวเหนียวลาว ลืมข้าวเจ้าเจ้าประคุณที่คุ้นเคย”

สุนทรภู่เป็นชายที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักรัก” อยู่ๆ คนเคยใกล้กลับปันใจให้คนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ใช่ผู้ชายเสียด้วย เท่ากับความเป็นชายถูกสั่นคลอน เสียความมั่นใจ เสียอารมณ์ ที่สำคัญคือ “เสียหน้า” ถูกหยามเชิงโลกีย์และเชิงชายไปพร้อมๆ กัน

ใช่จะมีเพียงท่านสุนทรภู่เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับ “การเล่นเพื่อน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยมีพระราชดำรัสเตือนพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ว่า

“…พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำสั่งพ่อให้มากนักหนา อย่า “เล่นเพื่อน” กับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้…”

สมัยนี้แม้คำว่า “เล่นเพื่อน” จะพ้นสมัยไม่มีใช้แล้ว แต่พฤติกรรมยังมีอยู่ ไม่ว่าสังคมไทยจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม