วิเคราะห์ : การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

การเลือกตั้ง 2562 บอกอะไรแก่เรา

ระยะเวลาห่างเหินการเลือกตั้งนานเกือบ 8 ปี ช่วยทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่างต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่น เกิดความกระตือรือร้นของประชาชนจำนวนมากที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

สังคมเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารทางด้านโซเชียลมีเดียและพฤติกรรมการใช้ชีวิต (live style) ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อการเลือกตั้งด้วย ทั้งในแง่ first vote ช่องทางใหม่ๆ ในการสื่อสารทางการเมือง

ที่สำคัญ พัฒนาการของพรรคการเมืองเก่า ซึ่งตอนนี้หลายคนเรียกว่า “พรรคอนาคตเก่า” เช่นพรรคการเมืองแบบครอบครัว พรรคการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมืองของพวกพ้อง ที่เคยมีอิทธิพลทางการเมืองนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาได้เสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้ง 2562

อย่างไรก็ตาม การเมืองหลังเลือกตั้งกลับยิ่งน่าสนใจอย่างยิ่งด้วยเหตุผลหลายประการ

 

การเมืองหลังการเลือกตั้ง

ในขณะนี้การเมืองหลังการเลือกตั้งหลายคนมองไปที่คณิตศาสตร์ทางการเมือง คือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเท่าไร และใครจะเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล

ผมเห็นด้วยครับ

แต่ควรมองสิ่งนี้ด้วย

โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและมรดกของ คสช.

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับไหนก็ตามแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น

รัฐธรรมนูญ 2521 หรือรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบ สะท้อนการประนีประนอมกันระหว่างผู้นำกองทัพและพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองยังมีความอ่อนแออยู่ แต่กองทัพก็เริ่มให้ความสำคัญและยอมรับการมีส่วนร่วมของพลังของภาคธุรกิจซึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองและมีบทบาทเชิงนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาสังคม รวมทั้งการสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยมีการออกแบบให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อถ่วงดุล ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ทั้งนี้ องค์กรอิสระและบทบาทของภาคประชาสังคมที่มีบทบาทมากขึ้นล้วนเกิดจากการปฏิรูปการเมือง (political reform) ในช่วงนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยผลของการปฏิรูปการเมืองและการให้บทบาทของฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้น ประกอบกับพลังของภาคธุรกิจมีมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเวลานั้นครองอำนาจต่อเนื่อง พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทั้งสองครั้ง เกิดการปะทะและต่อสู้กันของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายอำนาจดั้งเดิม (establishment) ทั้งในรัฐสภาและการเมืองนอกรัฐสภา การเมืองมวลชนบนท้องถนน ซึ่งก็ลงท้ายด้วยการก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือรัฐประหาร พ.ศ.2549 และ พ.ศ. 2557

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 ซึ่งประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ได้ออกแบบให้ผู้มีอำนาจขณะนั้นมีอำนาจเด็ดขาดและสืบทอดอำนาจได้ กล่าวคือ

มี คสช. ซึ่งมีอำนาจในการใช้มาตรา 44 เป็นกฎหมายเบ็fเสร็จ คสช.เป็นคนแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีช่องทางเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กำกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกำหนดแนวทางในการปฏิรูปและประเทศตามที่คสช.วางเอาไว้ อันมีผลผูกพันกับทุกรัฐบาลในอนาคต

ก่อนเลือกตั้ง 2562 มีการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งผู้ก่อตั้งเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรีและเหล่าพันธมิตรทั้งในพรรคการเมืองอื่นๆ และภาคเอกชน หลังจากการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐก็ได้รับชัยชนะมีคะแนนเสียงแม้จะไม่เด็ดขาดก็ตาม

หลังจากนั้นรัฐมนตรีจำนวน 15 รายก็ลาออกไปเพื่อรับตำแหน่งในสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งสมาชิกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนหนึ่งด้วย

 

การเมืองหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและมรดกของ คสช. อาจเป็นโครงสร้างที่ไม่เข้มแข็งอย่างที่คิด ทั้งนี้ ดูได้จาก

ประการที่หนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกันของพรรคพลังประชารัฐกับพรรคคู่แข่ง การต่อรองตำแหน่งและเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐก็เกิดขึ้นไม่ต่างจากในอดีต

ความจริงแล้วการเมืองเรื่องอำนาจ (power politics) มีอยู่ในระบบรัฐสภาในทุกๆ ประเทศ แต่ดูเหมือนว่าหลังการเลือกตั้ง 2562 การเมืองไทยนับเป็นการเลือกตั้งที่มีเดิมพันทางการเมืองสูงทั้งจากฝ่ายที่ครองอำนาจ กับพรรคฝ่ายตรงกันข้ามที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คือฐานการเมืองเดิมของพรรคกลุ่มคุณทักษิณ ชินวัตร คือพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนเดิม

ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ฐานเสียงและคะแนนนิยมต่อกลุ่มของคุณทักษิณ ชินวัตร ยังคงเหนียวแน่นอยู่มาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

ประการที่สอง สัญญาณปัจจัยภายนอก สัญญาณจากภายนอกนี้ ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 2 กรณี กรณีที่หนึ่ง คือการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค หลังจากนั้นไม่นานก็มีการดำเนินการทางกฎหมายด้วยการยุบพรรคไทยรักษาชาติ จนพรรคไทยรักษาชาติหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อันทำให้ดุลยภาพทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติและพันธมิตรทางการเมืองต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

กรณีที่สอง เป็นคำกล่าวของคุณชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เขากล่าวว่า

“…แต่สิ่งที่เป็นห่วงกันคือ อย่าให้เกิดความแตกแยกขึ้น (ช่วงที่มีการแข่งขันหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่-ขยายความโดยผู้เขียน) เพราะในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง เพิ่งจะมีในช่วงหลัง อาจเป็นเพราะโลกเปลี่ยนหรือคนที่เข้ามาใหม่อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจบ ทุกอย่างก็จะจบ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงปัจจัยภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำและชี้นำ…”

สัญญาณจากภายนอกนี้ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองไทยย้อนกลับไปดูช่วงการเมืองไทยนับตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา (2521-ปัจจุบัน) อันอาจจะวิเคราะห์ได้ว่า เป็นปัจจัยภายนอกที่มีความหมายและทรงพลัง

อีกทั้งเป็นพลังเดิมในบริบทใหม่ของเศรษฐกิจการเมืองไทย