ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘ยาบ้ากับศาสนา’ อาชญากร คนป่วย หรือเทพเจ้า?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
กวนเกษียรสมุทร ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฉากการกวนเกษียรสมุทร มีที่มาจากเทพปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าเรื่องเกี่ยวกับเทวดาและอสูรร่วมกันกวนน้ำอมฤต หรือน้ำที่กินแล้วไม่ตาย หลายครั้งที่คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์เรียกน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า น้ำโสม (ภาพจาก: http://dfree.diaryclub.com/20060927/svb)

กลายเป็นพุทธิไอเดียที่ทำเอาคนวิจารณ์กันไปทั้งบาง เมื่อรัฐท่านมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อ “เมทแอมเฟตามีน” (Methamphetamine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของ “ยาบ้า” ด้วยการถอดออกจากบัญชี “ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1”

ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 หมายถึง พวกยาเสพติดที่ร้ายแรงติดระดับตัวท็อป อย่างเช่น เฮโรอีน เป็นต้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว หลายเสียงก็ว่ากันว่า ยาบ้า ไม่ได้ร้ายแรงจนจัดอยู่ในประเภทนี้ได้

ซ้ำเจ้าเมทแอมเฟตามีนที่ว่า ถ้าใช้ให้ถูกให้ควร ก็นำมาใช้ทางการแพทย์ได้อีกด้วย (ถึงแม้ว่าจะมีสารชนิดอื่นที่ทำหน้าที่เดียวกับเมทแอมเฟตามีนได้เหมือนกันก็เถอะ)

แต่เหตุผลสำคัญตัวจริงเสียงจริงในการที่รัฐท่านจะถอดเจ้าเมทแอมเฟตามีนนี้ ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 เป็นเรื่องของปัญหาทางข้อกฎหมายมากกว่า

เพราะการที่เมทแอมเฟตามีนถูกจัดอยู่ในไฟรั่มของยาเสพติดร้ายแรงระดับท็อปนั้นทำให้ผู้เสพยาบ้า มีฐานะเป็น “อาชญากร” และไม่ใช่ “ผู้ป่วย” ที่มีอาการเสพติดสารเหล่านี้ โดยไม่มีโอกาสคัดง้างใดๆ ในทางกฎหมายได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ต้องหาเกิดขี้เกียจ หรือไม่อยากเสี่ยงที่จะไปจับจ่ายซื้อหายาเอาไว้เสพกันบ่อยๆ ก็เลยซื้อยาบ้ามากักตุนเอาไว้กับตัวเอง 15 เม็ด

กฎหมายไทยจะถือว่าจำนวนขนาดนี้มีไว้เพื่อการจำหน่าย ซึ่งโทษย่อมหนักกว่าเป็นผู้เสพแน่

เช่นเดียวกับที่หากมีใครมาขอแบ่งปันยาบ้าไปจากผู้ต้องหาไปแม้แต่เพียงเม็ดเดียว กฎหมายบ้านเราก็จะถือว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้จำหน่ายแล้วเหมือนกัน

การที่ยาบ้าถูกจับยัดไว้ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 จึงทำให้ผู้เสพยา ถูกลบเอาความป่วยไข้ที่เขามีออกจากมโนสำนึกของทุกคน รวมทั้งข้อกฎหมาย และผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า คนส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อ “อาชญากร” แตกต่างจาก “ผู้ป่วย” กันอย่างไรบ้าง?

สิ่งที่ในปัจจุบันเราเรียกว่า ยาเสพติด นั้น หลายอย่างเคยถูกใช้ในพิธีกรรมทางศาสนามาก่อนนะครับ

ตัวอย่างที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ ในศาสนาพระเวท ซึ่งก็คือต้นกระแสธารของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนี่เอง

คำว่า “ศาสนาพระเวท” ได้มาจากชื่อของ “คัมภีร์พระเวท” อีกทอดหนึ่ง คนไทยสมัยก่อนอาจจะคุ้นๆ ชื่อ “ไตรเพท” ไม่ว่าจะได้ยินมาจากบทพากย์ในยี่เก หรืออะไรก็ตาม แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็อันเดียวกันทั้งนั้นแหละ

ที่เรียกว่าไตรเพท หรือไตรเวท ก็เพราะพระเวทประกอบขึ้นจากคัมภีร์จำนวน 3+1 เล่ม หมายความตรงตัวว่า มีคัมภีร์สำคัญแต่ดั้งเดิมอยู่ 3 เล่ม จึงถูกเรียกว่า ไตรเวท คือพระเวททั้ง 3 แต่ต่อมาถูกเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1 เล่ม จึงต้องกลายเป็น 3+1 เพราะคำว่าไตรเวทนั้นมันติดหู ติดปากไปแล้ว

ไตรเวทแต่ดั้งเดิมประกอบไปด้วย ฤคเวท, สามเวท และยชุรเวท เรียงตามลำดับอายุของคัมภีร์ ส่วนที่เพิ่มเติมมาเป็นพระเวทที่ 4 คือ อาถรรพเวท

ส่วนที่พวกพราหมณ์ไม่ตัด อาถรรพเวท ไปเป็นคัมภีร์ประเภทอื่น ที่ไม่ใช่พระเวท อย่างที่ทำกับคัมภีร์ประเภทอื่นๆ อีกให้เพียบจำนวน คงเป็นเพราะพวกพราหมณ์ถือว่า มีเพียงแต่พระเวทเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง (หรือที่เรียกกันว่า “ศรุติ”) ไม่ได้ผ่านการดัดแปลงแก้ไข หรือผ่านมาจากปากของมนุษย์อีกทอด (พราหมณ์เรียกคัมภีร์ประเภทหลังนี้ว่า “สมฤติ”)

ถึงแม้ว่า ศาสนาพระเวทจะอวตารร่างกลายมาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่พระเวทก็ยังคงถูกนับถือในฐานะคัมภีร์สูงสุดของพวกพราหมณ์มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ลักษณะอย่างนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคัมภีร์จำนวน 3+1 เล่มนั้น ที่ประกอบขึ้นเป็นพระเวทได้เป็นอย่างดี

และในพระเวทจำนวน 3+1 เล่มนั้น ก็มีอยู่เล่มหนึ่งเลยทีเดียว ที่เกี่ยวข้องกับอะไรบางอย่าง ที่ในปัจจุบันเรานิยามมันว่าเป็น “สิ่งเสพติด” นั่นก็คือคัมภีร์ “สามเวท” ซึ่งมีบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าที่ใช้สำหรับให้พราหมณ์อุทคาตา (Utgata) สวดในขณะที่คั้น กรอง และถวายน้ำ “โสม” แก่เทพเจ้าทั้งหลาย

ในภาษาสันสกฤต คำว่า “โสม” (soma) ไม่ได้หมายถึงแค่ “พระจันทร์” แต่ยังหมายถึง “เครื่องดื่มที่ให้ฤทธิ์มึนเมา” อีกด้วย

ดังนั้น บทสวดหลายๆ บทในคัมภีร์สามเวท จึงไม่ได้ว่าด้วยการถวายพระจันทร์ให้กับเทพเจ้าองค์ไหน แต่หมายถึงการสังเวยน้ำโสมให้กับเทพเจ้าองค์ต่างๆ อย่างไหว้ให้ดี พลีให้ถูก ต่างหาก

มีหลายแนวความคิดเลยว่า เจ้าโสมที่ฮิตกันในหมู่เทวดาสมัยพระเวทนี่ มันทำมาจากอะไร?

เพราะบางท่านก็ว่า เป็นน้ำที่ได้จากการหมักเถาวัลย์ หรือรากไม้บางชนิด

ในขณะที่บ้างก็ว่าไม่ใช่น้ำเมาแต่เป็นกัญชา หรืออะไรที่คล้ายๆ อย่างนั้นต่างหาก

ส่วนแนวคิดที่หลังๆ มานี้ดูจะมาแรงที่สุดเขาว่า มันน่าจะเป็นเห็ดเมาชนิดหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

แต่ไม่ว่าเจ้าโสมมันจะทำมาจากอะไรก็ช่างมันเถอะครับ เพราะประเด็นสำคัญในที่นี้อยู่ที่มันเป็นสิ่งที่ให้ฤทธิ์มึนเมา ซึ่งถูกนำมาถวายให้แก่เทพเจ้าทั้งหลายเป็นแน่

และก็เป็นสิ่งที่ทวยเทพทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเป็นอย่างมากเสียด้วย

ไม่อย่างนั้นจะต้องมีตำราประเภท how to ว่าด้วยวิธีการเสิร์ฟน้ำโสมให้แก่เทพเจ้าแต่ละพระองค์ แทรกอยู่ในคัมภีร์อย่างสามเวท ซึ่งก็สำคัญพอจะเป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไปทำไมกัน?

แต่ทวยเทพทั้งหลายนั้นไม่ได้ทรงดื่มโสมเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเพียงเท่านั้น

มีนักภารตวิทยาตั้งข้อสังเกตว่า มีอยู่หลายครั้งเลยที่ไท้เธอเหล่านี้ใช้เพื่อสำหรับเป็น “สารกระตุ้น” โดยมีตัวอย่างคลาสสิกอยู่ในเทพปกรณ์ในคัมภีร์ฤคเวทที่ว่าด้วย การที่พระอินทร์ไปปราบวฤตราสูร อสูรรูปงูใหญ่ที่นำน้ำทั่วทั้งโลกไปกักเก็บไว้เป็นของส่วนตัวมันเสียอย่างนั้น

เรื่องของเรื่องก็คือ ก่อนที่พระอินทร์จะทรงไปออกศึกนั้น พระองค์ก็ต้องทรง “บิ๊วด์” ตัวเองก่อนจะไปรบด้วยการยกซดเจ้าโสมเข้าสู่พระวรกายเสียจนเต็มคราบ จึงจะสามารถออกไปต่อรบกับเจ้าปีศาจด้วยอย่างมุ่งมั่น

นักภารตวิทยาหลายท่านก็เลยบอกว่า เจ้าโสมเองก็คงมีฤทธิ์ในการเป็นการเป็นสารกระตุ้น บางคนอย่างเช่น เกอราโด อีสต์เบิร์น (Gerardo Eastburn) ผู้สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับศาสนาโซโรแอสเตอร์ (ซึ่งเป็นต้นเค้าและเกี่ยวพันอย่างมากกับศาสนาพระเวท) ถึงกับบอกเอาไว้ชัดๆ ในงานค้นคว้าของท่านที่ชื่อ The Esoteric Codex : Zoroastrainism ว่า

น้ำโสมให้ฤทธิ์เหมือนกับ “แอมเฟตามีน” (Amphetamine)

แอมเฟตามีน เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2430 ในรูปของ แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulphate) อีกหนึ่งปีต่อมา ได้มีการสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือ เมทแอมเฟตามีน ที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางรุนแรงกว่าเดิม

ซึ่งทั้งเจ้าแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนนี่เอง ที่ถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักของยาบ้า (อันที่จริงแล้วคำว่า ยาบ้า นั้นเราก็แปลมาจากคำว่า Amphetamine หรือแอมเฟตามีน ในภาษาอังกฤษนี่แหละ)

พูดง่ายๆ ว่าคุณอีสเบิร์นเขาบอกว่า “น้ำโสม” ของพวกเทวดาพระเวทนั้น ออกฤทธิ์ไม่ต่างไปจาก “ยาบ้า” ดังนั้น ถ้าบรรดาทวยเทพจากมาดริ๊งก์ แดรงก์ ดรั๊งก์ น้ำโสมกันที่ประเทศไทย ณ ปีพุทธศักราชนี้ พวกพระองค์ก็คงจะตกอยู่ในสถานะ “อาชญากร” มากกว่าที่จะถูกปรนนิบัติพัดวีอย่าง “เทพเจ้า”

แต่โปรดอย่าลืมนะครับว่า ก่อนที่เราจะเปลี่ยนมาเรียกเจ้า “แอมเฟตามีน” ว่า “ยาบ้า” นั้น เราเคยเรียกมันว่า “ยาม้า” มาก่อน เพิ่งมาเปลี่ยนเอาเมื่อ พ.ศ.2539 เพราะ ณ ขณะจิตนั้น รัฐท่านเห็นว่าชื่อยาม้า มีความหมายส่อไปในทางว่าเป็นยาที่กระตุ้นให้ทำงานได้อึดทนมากขึ้นนั่นเอง (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ผู้เสพในยุคก่อนหน้านั้นกลุ่มหนึ่งจะเป็นผู้ใช้แรงงาน จะเสพเพื่อให้ตนเองให้ไม่ง่วง ไม่เหนื่อยจริงๆ)

ถึงแม้ว่าที่จริงแล้วเราจะเรียกเจ้าแอมเฟตามีนนี้ว่า ยาม้า มาก่อนเพราะก่อนหน้านี้มันถูกบริษัท WELLCOME ที่มีสัญลักษณ์บริษัทเป็นรูป “ม้า” นำเข้ามาในไทย ในฐานะยารักษาโรค ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความอึด ถึก ขยัน เลยก็เถอะ

นั่นเป็นเพราะเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่มีฤทธิ์เป็น “ยาเสพติด” เมื่อมองในอีกด้านหนึ่งก็สามารถนำมาใช้เป็น “ยารักษาโรค” ได้เหมือนกัน

บรรดาเทพเจ้าในยุคพระเวทก็ด้วยเหมือนกันนะครับ พระองค์คงจะเลือกมองมันในแง่ง่ามที่ดี ก่อนจะหยิบเอามันมาใช้อย่างเกิดประโยชน์เป็นที่สุด

ไม่ใช่แค่เทวดาในพระเวท ในคัมภีร์อเวสตะ ของพวกโซโรแอสเตอร์ เจ้าโสม (ที่ถูกเรียกในสำเนียงที่ต่างออกไปว่า Haoma) ก็ถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการให้แก่เทพเจ้าด้วยเหมือนกัน

เช่นเดียวกับในพระเวทเล่มอื่นๆ และคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์รุ่นหลัง กลุ่มคนแบบชุมชนดั้งเดิมจำนวนมากในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เองก็มีหลักฐานการใช้โสมในพิธีกรรมทางศาสนาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

นอกเหนือจากน้ำโสมที่ฮิตกันในหมู่ชนชาติอารยันแล้ว ในศาสนาพื้นเมืองต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกต่างก็มีการใช้สิ่งที่โลกในยุคปัจจุบันนิยามเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันในหลากหลายศาสนาเลย

ชาวคริสต์ใช้ไวน์ (แน่นอนว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เป็นสัญลักษณ์แทนเลือดของพระคริสต์

ในขณะที่สารพัดเทศกาลในประเทศนี้ พี่ไทยก็เมาหมด โดยไม่ได้แคร์ว่าจะเป็นเทศกาลเนื่องในศาสนาไหน นี่ไม่ได้เกี่ยวกับนิสัยประจำชาติแต่เป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเครื่องดองของเมา ในศาสนาผีพื้นเมือง ที่เข้ามาผสมปนเปกับศาสนาจากภายนอกที่รับเข้ามาใหม่ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นมุมมองในโลกยุคก่อนที่หยูกยาเหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับพิธีกรรมและศาสนา

ภายใต้นิยามของโลกสมัยใหม่ ผู้เสพยาเสพติด (เกินขนาด) นอกจากจะเป็น “อาชญากร” เพราะข้อกฎหมาย บางทีเขาก็เป็น “ผู้ป่วย” ในมุมมองทางการแพทย์ด้วยนะครับ การพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองอาจจะยากลำบาก และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม แต่ก็คุ้มที่จะอดทน

เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างของประเทศที่ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างโปรตุเกส ที่อดทนถึง 16 ปี แต่ก็ลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้มาก มีคนติดคุกเพราะคดีทำนองนี้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และสังคมสงบสุขขึ้นอย่างชัดเจน

แน่นอนว่าในโลกสมัยใหม่ที่ค่าบรรทัดฐานในสังคมแตกต่างไปจากยุคสมัยเดิม “เทพเจ้า” ยังกลายเป็นแค่ “คนป่วยขี้เมา” ได้ เมื่อใช้มาตรวัดจากความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน

แล้วทำไมในโลกสมัยเดียวกันจะต้องกีดกันไม่ให้ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ไม่ต้องแบกรับตราบาปของ “อาชญากร” แต่สามารถกลายเป็น “ผู้ป่วย” ได้บ้าง

ในเมื่อพวกเขาแค่เคยอ่อนแอเสียจนหลงผิดไปอยู่บ้าง

แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นความหลงผิดที่มีความป่วยไข้คอยคัดท้ายแค่นั้นเอง?