เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น ว่าด้วย “น้ำ” และการ “จมน้ำ” ในภาพยนตร์

ความหมายของ “น้ำ” นอกจากใช้ดื่มเข้าร่างกายแล้ว ยังใช้ “ชะล้าง” สิ่งสกปรกออกจากร่างกายด้วยเช่นกัน

ในศาสนาคริสต์น้ำถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้สำหรับ “ศีลจุ่ม” รับขวัญเด็กทารกและชำระล้างบาปสำหรับผู้กลับตัวกลับใจ เป็นการถือกำเนิดเป็นคนใหม่ด้วยอีกทาง

ไม่ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ ที่คนลงไปจุ่มตัวอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำคงคาที่ท่าเมืองพาราณสี

น้ำในภาพยนตร์ก็ดูว่าจะสื่อความหมายเช่นนั้น

ฉากย้อนเวลาใน Cafe Funiculi Funicula หรือ “เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น” ฉบับภาพยนตร์กับหนังสือจึงให้ภาพความรู้สึกที่แตกต่างกัน

ในหนังสือจะเขียนบรรยายฉากย้อนเวลา หลังไอร้อนลอยขึ้นจากกาแฟที่เติมจนเต็มถ้วยว่า มีอาการแกว่งไปมาคล้ายอาการวิงเวียน ทัศนียภาพรอบด้านบิดเบี้ยว ร่างโงนเงนดังไอตรงหน้า ตัวเริ่มลอยขึ้นอย่างช้าๆ กลายเป็นไอระเหยลอยหายไป จากนั้นตัวละครจะตื่นขึ้นมาในห้วงเวลาที่ย้อนกลับไป

ส่วนในภาพยนตร์จะให้มิติที่ลึกไปกว่านั้น ฉากย้อนเวลาจะเป็นการจมลงไปในน้ำ ค่อยๆ จมลงไปจนเห็นภาพเหตุการณ์ในอดีตที่ตัวละครอยากย้อนเวลากลับไป (กรอบภาพต่างๆ ในห้วงเวลาต่างๆ ที่แขวนเรียงรายอยู่ใต้น้ำ และเสียงสะท้อนที่ดังก้องกังวาน)

จากนั้นจึงเหมือนโผล่พรวดขึ้นมาจากน้ำกลับสู่ห้วงเวลาเดิมๆ อีกครั้ง

ฉากดังกล่าวไม่ต่างอะไรจากสัญลักษณ์ในพิธีแบบติสต์ “ล้างบาป” และ “เกิดใหม่” อีกครั้ง

ผู้ยืนถือกาน้ำสีเงินที่เป็นคนบริการกับคนนั่งเก้าอี้รับบริการที่มีถ้วยกาแฟวางอยู่ตรงหน้า จึงไม่ต่างจากบาทหลวงกับผู้มาสารภาพบาป

และร้านกาแฟแห่งนี้ก็คือโบสถ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกาแฟที่ยังอุ่นอยู่ใช้เป็นตัวกำหนดเวลาของคำสารภาพความในใจ

ภาวะของการจมลงไปในน้ำที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ สอดรับกับอาการของคนอึดอัด กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ดิ่งลึกลงในสำนึกผิดของตัวเอง ขอโอกาสแก้ตัว อาการสำลักน้ำของคนหัวใจสลายเมื่อสูญเสียผู้เป็นที่รักไป

และร้านกาแฟฟูนิคูลี ฟูนิคูลา เป็นตำนานเล่าขานเพียงแห่งเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาเธอเหล่านั้นที่เข้ามาใช้บริการได้ตะเกียกตะกายตัวขึ้นมาจากความสำนึกผิดที่พลั้งเผลอทำร้ายความรู้สึกของคนที่รักและหลงลืมช่วงเวลาดีๆ ที่ควรจะใช้ร่วมกัน

“การจมน้ำ” สารแห่ง “ทรงจำ” ทั้งดีและร้าย

ถอยกลับไป 10 กว่าปีที่แล้วในภาพยนตร์แอนิเมชั่น Spirited Away ของผู้กำกับฯ ฮายาโอะ มิซายากิ ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาหนังแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมประจำปี 2002 ว่าด้วยเรื่องของชิฮิโร่ เด็กสาวที่พลัดหลงเข้าไปในเมืองของเหล่าเทพและปีศาจ และออกตามหาพ่อ-แม่ของเธอที่ดันไปกินอาหารของเทพจนร่างกลายเป็นหมูเข้า

ส่วนหนึ่งนอกจากการช่วยเหลือพ่อ-แม่ออกจากเมืองลึกลับแล้ว

อีกนัยหนึ่ง หนังยังต้องการจะบอกว่า เมื่อเราได้ “ก้าวข้าม” อุปสรรคบางอย่างได้สำเร็จ เราจะเติบโตขึ้น

ฉากหนึ่งที่ชิฮิโร่เล่าว่า เมื่อตอนยังเล็ก เธอตกลงไปในแม่น้ำ คิดว่าจะจม แต่น้ำพัดเธอไปขึ้นฝั่ง เธอจำได้เพียงแต่ว่าแม่น้ำนั้นชื่อ “โคฮากุ”

ความทรงจำที่ระลึกขึ้นได้นี้ ได้ช่วยให้ “ฮากุ” ที่ต้องคำสาปของแม่มดกลายเป็นมังกรจดจำชื่อเดิมของตัวเองได้ว่าเขาชื่อ “โคฮากุ”

และเป็นเขาเองที่เคยช่วยเหลือเธอในตอนนั้น ร่างจึงกลับคืนเป็นมนุษย์อีกครั้ง

น้ำใน Spirited Away นอกจากใช้เป็น “ห้องอาบน้ำ” ของเหล่าทวยเทพเพื่อพักผ่อนร่างกายแล้ว น้ำยังถูกใช้เป็นความทรงจำในอดีตของความตายแล้วฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ เมื่อชิฮิโร่รอดพ้นจากความตายและได้กลับมาช่วยเหลือ “ฮากุ” ตอนที่บาดเจ็บกลับคืน

เข้มข้นไปกว่านั้น ในกรอบภาพเดียวกันในภาพยนตร์ Snatch (2000) ของผู้กำกับฯ กาย ริชชี่ ภาพที่แม่สุดรักของยิปซีหมัดหนัก (รับบทโดยแบรด พิตต์) ถูกไฟคลอกตายไปพร้อมกับรถบ้านนั้น นอกจากจะให้ภาพเพลิงร้อนระอุ แผดเผา เคียดแค้นในประกายตาที่ไม่สามารถช่วยเหลือแม่ของตนได้แล้ว ยังให้ภาพจดจำบางอย่างที่เขาต้องกลับไปล้มมวยอีกครั้งเพื่อไม่ให้ “ผู้มีบารมี” ย้อนกลับมาทำร้ายเพื่อนชาวยิปซีด้วยกันอีก

ในฉากชกมวยใต้ดินที่เขาต้องล้มกองไปกับพื้นแล้วไม่ต้องลุกขึ้นมานั้น หมัดสุดท้ายที่เขาโดนชกเข้าไปเต็มๆ แล้วร่างค่อยๆ ลอยละล่องอยู่กลางอากาศเป็นภาพสโลว์โมชั่น ก่อนที่ร่างจะทิ้งตัวลงสู่พื้นนั้น ภาพแทนสายตาคนดูโดยการให้ตัวละครจมลงไปในน้ำ ก่อนที่จะตัดฉับ ลุกขึ้นมาซัดหมัดใส่หน้าคู่ต่อสู้เปรี้ยงเดียวล้มคว่ำ

ฉากนี้ให้ภาพของการชำระบาป กลายเป็นคนใหม่ เป็นยิปซีที่ไม่ใช่ยอมให้คนอังกฤษมาข่มเหงรังแกและพร้อมจะเอาคืนอย่างสาสม เรียกว่า “น้ำนิ่งไหลลึก” อย่างแท้จริง

(เป็นฉากเดียวในเรื่องที่ผู้มีอิทธิพลใหญ่ๆ กับลูกสมุนนับสิบคน โดนคนตัวเล็กๆ ลอบวางแผนเอาคืนอย่างแยบยล)

ทั้งนี้ทั้งนั้น น้ำจึงเป็นมากกว่าน้ำและบาดลึกถึงหัวใจ เช่นในวรรณกรรมไทยสุดคลาสสิคเรื่อง “แผลเก่า” ของไม้ เมืองเดิม น้ำในลำคลองทุ่งบางกะปิที่ผู้เขียนให้ภาพว่า “คลองปลายน้ำสุดฟากข้างซ้ายของทุ่งบางกะปิ เป็นคลองเล็กแคบ แต่ไหลลึก ตลอดปีสองฝั่งราบรื่น”

ฉากเปิดของนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยน้ำในลำคลอง “เล็กแคบ” เป็นที่พลอดรักของหนุ่ม-สาวไอ้ขวัญกับอีเรียม และ “ไหลลึก” ไม่ต่างจากความรักของคนทั้งสอง ถึงขนาดที่เจ้าขวัญไปบนกับเจ้าพ่อไทรว่าจะรักอีเรียมคนเดียวไปจนตาย “น้ำ” จึงใช้เป็นทั้งสื่อรัก (ความทรงจำครั้งเก่า) และใช้เป็นจุดจบของความรักอีกเช่นกัน (เมื่ออีเรียมไม่หลงเหลือความทรงจำ) ดังจะเห็นว่าอีเรียมเป็นคนพูดเองว่า

“แม่แกว่า ผู้ชายน่ะเหมือนปลา พอน้ำใหม่มาก็ไปกับน้ำใหม่ ฉันจึงกลัวนัก”

แต่สุดท้ายเป็นตัวเรียมเองที่เป็นปลาเข้าเมืองไปกับน้ำใหม่แล้วลืมน้ำสายเก่าในลำคลองบางกะปิ

ที่เคยว่ายคู่เรียงเคียงกัน ดังที่ขวัญพูดว่า “เรียมเอ๋ย ท้องน้ำนี้ ลำน้ำนี้ของเรา ลำน้ำรักหนาเจ้าเรียม แต่มันจะเป็นเรือนตายของพี่ เจ้าอยู่ดีเถิด”

ฉากปิดตำนานรักของคนทั้งสองจึงเป็นโศกนาฏกรรมว่าด้วย “น้ำ” และการ “จมน้ำ” อีกครั้ง

“วิญญาณรักทั้งสองดวงของแม่เรียมและนายขวัญคงขึ้นล่องและดำผุดดำว่ายอยู่ทุกฤดูน้ำหลากกันอย่างแสนสำราญ สถิตเสถียรเป็นเจ้าแม่แห่งความรัก เจ้าพ่อแห่งลำน้ำทุ่งบางกะปิอยู่ตลอดกาลนาน”

มากกว่า “จมน้ำ” คือ “จมน้ำตา”

Cafe Funiculi Funicula หรือในชื่อภาษาไทยที่ใช้ชื่อเดียวกับหนังสือว่า “เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น” ผลงานกำกับฯของอายูโกะ ซึกาฮาระ ซึ่งเสริมเพิ่มเติมจากในหนังสือให้ตัวละครหลักอย่าง “คะซุ” (รับบทโดยคาสึมิ อาริมุระ) บาริสต้าในร้านกาแฟแห่งนี้ ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ยกกาสีเงินแล้วเทกาแฟลงในถ้วยแล้วพูดว่า “เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น” ได้มีโอกาสออกไปใช้ชีวิตส่วนตัวนอกร้านกาแฟ (ในหนังสือเราทราบเพียงว่าเธอมาช่วยงานที่ร้านหลังเลิกเรียน “หลังเสร็จงานเธอก็เอาแต่ขังตัวอยู่ในห้องและเอาแต่วาดรูปท่าเดียว”)

และได้รักกับชายหนุ่ม “เรียวสุเกะ” (เคนทาโร่ อิโต้) ที่ชอบมานั่งร้านกาแฟและแอบมองเธออยู่เป็นประจำ (ในหนังสือไม่มีตัวละครตัวนี้)

ทั้งสองได้มีฉากกุ๊กกิ๊กน่ารักๆ ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพสวยๆ ร่วมกัน ได้พัฒนาความสัมพันธ์จนตั้งครรภ์และอยู่กินกัน (อีกทั้งคะซุก็ควบรวมบทของเคที่เป็นพี่สะใภ้ของเธอ ซึ่งในฉบับหนังหั่นบทของเคทิ้งไป) จนกระทั่งมาเป็นคนที่จะต้องย้อนเวลากลับไปสู่เหตุการณ์บางอย่างในชีวิต

เรียกได้ว่าบทนี้เขียนเพิ่มเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวของคู่พระ-นางคู่นี้โดยเฉพาะ

ส่วนในบทคู่รักความสัมพันธ์อื่นๆ นั้นอาจจะมีปรับเปลี่ยนบ้างตามความเหมาะสม เช่นที่นั่งประจำของหญิงชุดเดรสที่ชอบอ่านหนังสือในหนังก็ผูกโยงมิติตัวละครตัวนี้ให้ลึกซึ้งขึ้น เธอไม่ได้เป็นเพียงแค่วิญญาณที่นั่งประจำเก้าอี้ย้อนเวลาเพียงอย่างเดียว (ตรงนี้หนังเขียนบทเพิ่มและเชื่อมโยงได้อย่างน่าสนใจ)

หรืออย่างนางพยาบาลที่คอยดูแลสามีที่ความทรงจำกำลังจะเลือนหาย ในหนังก็เปลี่ยนให้เป็นบุรุษพยาบาลดูแลภรรยาแทน เป็นต้น

นอกจากนั้น โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่า เก็บความในหนังสือได้ครบถ้วน ทั้งฉากร้านกาแฟที่อยู่ใต้ดินและบรรยากาศของการค่อยๆ รินกาแฟ ย้อนเวลากลับไป (เราคงไม่ต้องเก็บละเอียดถึงขนาดว่าในหนังสือเป็นนาฬิกาตั้งพื้นแบบโบราณขนาดใหญ่ แต่ในหนังเป็นนาฬิกาติดผนังน่ารักๆ)

รวมทั้งช่วงเวลาสะเทือนใจของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งสี่ฤดูกาลในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ไม่ว่าใครที่ได้ชมแล้วคงต้องเสียน้ำตาให้

ภาวะของการจมน้ำในภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจเปรียบได้กับการจมลงใน “ทะเลน้ำตา” ของตัวเอง (รวมถึงคนดู)

ปริมาณน้ำตาแห่งความสูญเสีย ที่ไม่ว่าจะร้องไห้ออกมาเท่าไหร่และมากมายเพียงใด ก็ไม่มีวันย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก

เราเพียงแต่ย้อนเวลากลับไปเพื่อพูดความในใจบางอย่างที่มันท้นอยู่ในอกและมองหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย

มองเพื่อจดจำภาพรอยยิ้ม มองเพื่อจดจำเวลาที่สูญเสียไป มองเพื่อจดจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยผูกพันกัน และมองดวงตาคู่นั้นที่สะท้อนตัวเราอยู่ในนั้น จากนี้และต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว

แม้จะ “เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น” ไม่มากและไม่น้อยเกินไป

?แต่เราจะจดจำคนที่เรารักไปทั้งชีวิต