‘ส.ว.ชายแดนใต้’ ข้อคิดเห็นความคาดหวัง และ กลไกติดตาม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ทันทีที่มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน หรือ ส.ว.ใหม่ทางสื่อมวลชน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในโลกโซเชียลถึงความชอบธรรมหรือไม่อย่างไร

ไม่ต่างจาก ส.ว.จากชายแดนใต้

จาก ส.ว.จำนวน 250 คนดังกล่าว ปรากฏรายชื่อ ส.ว.ชายแดนใต้ 7 คน

2 คนเป็นคนไทยพุทธ คือ นายภานุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. กับ ส.ว.ตลอดเกือบ 20 ปี นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี

ในขณะที่ ส.ว.มุสลิม 5 คน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลไม่ธรรมดา รู้จักกันดีในแวดวงสังคมมุสลิมไทยและชายแดนใต้คือ

1.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล

2.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง/อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ข้าราชการบำนาญสายมหาดไทย เป็นอดีตนายอำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาส

3.นายอับดุลฮาลิม มินซาร อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

4.นายอนุมัติ อาหมัด อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

5.นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้/อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี/อดีตผู้ตรวจการราชการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งหมดทุกคน ประชาชนไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์สักเท่าไร เพราะพอทราบดีถึงประวัติและจุดยืนแต่ละคนก่อนหน้านี้

นอกจากนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล

นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล เป็นบุตรชายจุฬาราชมนตรี (ตำแหน่งรองเลขานุการจุฬาราชมนตรี และปัจจุบันเป็นอาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ซึ่งถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีจุดยืนด้านประชาธิปไตยเชิงประจักษ์ในหมู่นักวิชาการและประชาสังคมชายแดนใต้

เพราะหลายต่อหลายครั้งเคยออกแถลงการณ์ร่วมกับภาคีนักวิชาการและประชาสังคมที่เห็นต่างจากรัฐบาล คสช.และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้

ดังนั้น ในโลกโซเชียลจึงเกิดคำถามมากมายต่อการตัดสินใจรับตำแหน่ง ส.ว.ของอาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล โดยเฉพาะเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ท่าน (คนเราถ้าไม่รักกันจริงคงไม่ออกมาเตือน) ถึงขั้นเรียกร้องให้ท่านออกแถลงการณ์ หรือถึงขั้นลาออกเพื่อแสดงสปิริตด้านประชาธิปไตย

แม้กระทั่งจะแสดงความยินดีจากเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์และเคยทำงานร่วมกับท่าน เช่น มีประโยคที่กล่าวว่า “มีคำถามอยู่ว่า เราควรยินดีหรือเสียใจกับมิตรสหายที่ได้รับตำแหน่ง ส.ว.ในตำนานชุดนี้หรือไม่ ผมคงเลือกอย่างหลังครับ เพราะอย่างน้อยก็พอมีโอกาสให้ได้เลือกเองบ้าง ส่วนคนที่น่าจะยินดีที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ที่เลือกผู้คนกลุ่มนี้เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ หนึ่งในอำนาจสำคัญของระบอบการเมืองที่ตกลงกันว่าจะเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่มันควรเป็นอำนาจเราๆ ท่านๆ นี่ละครับ”

สำหรับ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุตส่าห์เขียนเฟซบุ๊กสื่อสารสาธารณะไม่เห็นด้วยต่อการรับตำแหน่ง ส.ว.ของหลายๆ คน รวมทั้งอาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล โดยเขียนว่า “อันตำแหน่งใดใดที่ได้มา จะเทียบเท่าศรัทธาก็หาไม่ ที่ปวงชนมอบโดยสมัครใจ เพราะความเป็นผู้ให้ใช่เพื่อตน ของบางอย่างเสียไปหาใหม่ได้ มิสิ้นไร้ไม้ตอกย่อมออกผล แต่บางอย่างพลาดพลั้งทั้งเสียคน เสียแล้วเสียเลยจนตลอดกาล”

โปรดดู https://www.facebook.com/kasian.tejapira

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219123729507010&set=pcb.10219123713826618&type=3&theater

อย่างไรก็แล้วแต่ มีผู้ให้กำลังใจรวมทั้งปกป้องอาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพลมากด้วยเช่นกัน เป็นการสะท้อนว่าท่านเป็นคนสาธารณะจริงๆ เช่น มีการกล่าวว่า “อย่าให้กระแสที่แอบแฝงมาชี้นำ อย่าลาออกครับ ขอให้เข้าไปเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงแทนพี่น้องมุสลิมและพี่น้องชาวไทยทุกคน”

ผู้เขียนลองถามเพื่อนสนิทระดับกรรมการอิสลามจังหวัดนครศรีธรรมราชท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ว่า

“ระดับ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อุตส่าห์เขียนเฟซบุ๊กติงในที่สาธารณะ หมายความว่าอาจารย์ซากีย์ในมุมมองอาจารย์ไม่ใช่ธรรมดามากๆ เเละน้อยคนจะได้รับเกียรติทักท้วง เพื่อนผู้เขียนคนดังกล่าวตอบว่า

“แบ (เรียกผมว่าพี่) ต้องเข้าใจ ในโลกนี้ไม่ได้มีแต่แดงเถือก มันมีคนหลายประเภทที่มองว่าอาจารย์ซากีย์อยู่ตรงนั้นมันไม่อาจวัดได้ว่าซากีย์เป็นคนอย่างไร มันมีคนอีกมากที่มองว่าซากีย์ขัดเสียมิได้ เมื่อต้องอยู่ตรงนั้นก็ใช้พื้นที่ทำประโยชน์เท่าที่ทำได้ ถ้าซากีย์คือนายซากีย์ มันไม่มีอะไรต้องผูกมัด บังว่ามันจะได้รับเลือกหรือ และถ้ามันถูกทาบทาม บังว่ามันจะรับหรือ อย่ามองแต่มุม กูไม่เอามึงอย่างเดียว”

หมายความว่า ท่ามกลางความขัดแย้งไฟใต้ 15 ปี และมี คสช.บริหารประเทศ รวมทั้งแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จตลอด 5 ปี ความขัดแย้งจากส่วนกลางย่อมส่งผลต่อชายแดนใต้เช่นกัน ผู้คนย่อมมีความรู้สึกรับได้/ไม่ได้เป็นธรรมดา

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาชายแดนใต้ รวมทั้งเรื่องวิถีมุสลิม ย่อมต้องการให้ทั้ง 7 คนทำงานโดยอิสระสมกับเกียรติที่ได้รับ (ที่เรียกว่า ส.ว.ย่อมาจากสมาชิกวุฒิสภาอันทรงเกียรติ)

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว ก็อยากจะรณรงค์ให้ ส.ว.ทุกคนยึดมั่นใน ม.114 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ถึงแม้ทางปฏิบัติทางการเมืองจะยาก เพราะผู้สืบทอดอำนาจแต่งตั้งท่าน)

ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี (ส่วนหน้า) ได้เตือนสติทั้ง ส.ว.และ ส.ส.มุสลิมว่า “สำหรับ ส.ว.หรือ ส.ส.มุสลิม ย่อมเป็นหน้าที่ โดยน้อมนำพระดำรัสแห่งอัลลอฮฺ (พระเจ้า) ใส่เกล้าและปฏิบัติตามแนวทางแห่งศาสนทูตของพระองค์เต็มกำลัง

พระดำรัสคือ

ความว่า อย่าปล่อยให้ความพลิกผันแปรเปลี่ยนในหมู่ผู้ปฏิเสธ (กลุ่มหนึ่งเรืองอำนาจ อีกกลุ่มหนึ่งตกต่ำ) มาล่อลวงใจเจ้าจนเห็นผิดเป็นชอบเลย มันก็แค่สิ่งของเล็กน้อย แล้วจากนั้นที่อยู่ของพวกเขาก็คือนรก ซึ่งมันเป็นสถานพำนักอันเลวร้ายยิ่ง

แนวทางแห่งศาสนทูตมุฮัมมัดก็เช่นกันคือ

“การญิฮาด (ต่อสู้ในหนทางพระเจ้า) ที่ประเสริฐสุดได้แก่การพูดสิ่งที่เป็นจริงและถูกต้องกับผู้นำที่อธรรม”

ในขณะที่ภาคประชาชนต้องไม่คอยติหรือคอยดูข้างนอกเพียงอย่างเดียว แต่ในฐานะพลเมืองประชาธิปไตย ต้องร่วมสร้างกลไกติดตามการทำงานของพวกเขาเพื่อแก้ปัญหาใต้

“จากผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีประชาสังคมและนักการเมือง (ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องฟาฏอนี โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ได้มีการประชุมร่วมระหว่างที่ ส.ส.จังหวัดชายแดนภาคใต้) มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า การสร้างกลไกการประสานงานและติดตามนั้น ส.ส.และ ส.ว.ในพื้นที่ควรร่วมกันสานเสวนา และประชุมพบปะระหว่างภาคประชาสังคมกับนักการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนและติดตาม

เพราะจากประสบการณ์ หลายปัญหาต้องแก้โดยฝ่ายบริหาร หลายปัญหาต้องแก้โดย ส.ส.และ ส.ว. โดยการออกกฎหมาย การส่งต่อข้อมูลจากภาคประชาสังคมสู่ ส.ส. และ ส.ว. และการขอข้อมูลจาก ส.ส.และ ส.ว.สำคัญมากๆ การสื่อสารเองควรมีหลายด้านและหลายช่องทาง การเชื่อมต่อองค์กรระหว่างประเทศ และการทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ และการขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าวควรเป็นวาระเร่งด่วน สำหรับกลไกประสานงานและติดตามผล

ควรประกอบด้วย

– กลไกพื้นที่

– กลไกผลิตนโยบาย

– กลไกประสานงานและการติดตามผล

– การนำเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่มิอาจตัดสินใจ ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบริหาร และระดับนิติบัญญัติ โจทย์ต่อไปและท้าทายคือกลไกประสานงานและการติดตามผล จะมีใครมาร่วมบ้าง และจะทำงานอย่างไร”

ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ การพัฒนาและแก้วิกฤตใต้น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดี หากนักการเมืองสลายขั้วทางการเมือง ไม่มีฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล โดยมี ส.ว.คอยหนุนเสริม เพราะพวกเขานักการเมืองมีความชอบธรรมในทางการเมือง โดยอย่างน้อยที่สุดพวกเขาได้ฉันทานุมัติจากประชาชนตามกระบวนการทางประชาธิปไตย