โดรนเพื่อการเกษตร…ไม่ใช่เรือเหาะ! | มนัส สัตยารักษ์

ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เตรียมปล่อยกู้ให้เกษตรกรซื้อ “โดรน ทำเกษตร ลำละ 500,000 บาท”

เป็นข่าวที่วิจารณ์กันฮือฮาในโลกออนไลน์ ความฮือฮามาจาก 2 ทาง ทางที่มองในแง่ดีก็คือ เป็นความคิดเพื่อคนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบมาตลอดชีวิตและตลอดชาติ แต่ที่ฮือฮากันไม่น้อยกว่าก็คือ กลัวซ้ำรอยแผลเก่าที่ยังไม่หายอีกหลายแผล.. “เอื้อนายทุน”

เฉพาะส่วนตัวผม นอกจากจะพลอยตื่นเต้นไปกับข่าววันนี้แล้ว ผมยังหวนคิดย้อนกลับไปถึง “พ่อ” ผู้เป็นเกษตรกร ขณะเดียวกันก็คิดล่วงหน้าไปไกลถึงอนาคตอีกหลายประเด็นด้วย

เมื่อผมพอรู้ความ จำได้ว่ารูปถ่ายที่ติดกระจกบานใหญ่ของบ้านและถือเป็นภาพฮิตประจำบ้าน คือภาพถ่ายพ่อนั่งยองประคองไก่ตัวใหญ่ขนยาวสวยงามอย่างภาคภูมิใจ

พ่อพยายามบอกใครต่อใครว่าพ่อเป็นเกษตรกร ผมเกิดมาก็เห็นหนังสือชื่อ “กสิกร” (หรือประมาณนี้) หลายเล่มวางทั่วบ้าน พ่ออ่านและศึกษาด้วยตัวเองหลายสาขา ทั้งเรื่องยางพารา พืชเศรษฐกิจต่างๆ คู่มือและตำราเลี้ยงไก่ เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ทางการเกษตรกรรม

พ่อเป็นเกษตรกรที่ติดตามวิทยาการแผนใหม่ อย่างที่ภาษาปัจจุบันเรียกว่า “อัพเดต” ทีเดียว ถ้าพ่อมีชีวิตอยู่ในยุคนี้พ่อต้องซื้อ “โดรน” มาใช้แน่นอน ตามหลักเหตุผลและความจำเป็นคือ ไม่ต้องให้ลูกชาย 2 คนที่ยังอยู่ในวัยเด็กมัธยมต้นหิ้วน้ำไปรดต้นทุเรียนปลูกใหม่ 52 ต้นในสวนซึ่งอยู่ห่างจากคลอง “อู่ตะเภา” อำเภอหาดใหญ่ ประมาณ 2 กิโลเมตร และบางทีน้ำก็ไม่ไหลมาทางสวนของเรา

ทำไมผมจึงจำรายละเอียดปลีกย่อย (แม้กระทั่งตัวเลข) ถึงขนาดนี้? ถ้าไม่เรียกมันว่าเป็น “ความประทับใจ”

ผมเดาว่าพ่อคงมีเจตนาแค่ให้ลูก “รู้จัก” การทำเกษตรกรรมเท่านั้น เพราะเราพ่อ-ลูกทั้ง 3 คน สนุกกับการรดน้ำต้นไม้ และเราไม่ได้รดทุกวัน เราจะทำเมื่อรู้สึกว่าผู้ดูแลสวนปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ และเราหาคนงานไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในสภาพนี้ไม่นาน เพราะวิกฤตน้ำท่วมหาดใหญ่ “สวนทุเรียน” ของเราซึ่งมีทุเรียนสายพันธุ์ดีจากกระทรวงเกษตรฯ ลอยตามสายน้ำหายเกลี้ยงไปทั้ง 52 ต้น

พ่อกลับไปล้มลุกคลุกคลานกับยางพาราและฝันร้ายกับภัยธรรมชาติอย่างเดิม และนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลูกชายของพ่อทั้ง 3 คน ไม่มีใครเป็นเกษตรกรเลย

ผมคุ้นเคยกับ “เครื่องบินเล็ก” มาพักหนึ่งก่อนที่โลกจะพัฒนาขึ้นเป็นโดรน (drone) หรือ “ยานบินไร้คนขับ” (ตามนิยามของ google)

เพื่อนคู่หูในวัย 50 เศษของผมคนหนึ่ง มีความรู้และเชี่ยวชาญทั้งเรื่องเครื่องบินเล็กและเรื่องถ่ายภาพยนตร์ เขามีไอเดียถ่ายภาพยนตร์ทางอากาศ โดยลงทุนน้อยกว่าการเช่าเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินพาณิชย์ แล้วยกกล้องพร้อมกองถ่ายบินขึ้นไปเก็บภาพ

นั่นคือ เอากล้องถ่ายภาพยนตร์ติดตั้งในเครื่องบินเล็ก (ที่รับน้ำหนักกล้องได้) แล้วบังคับทั้งกล้องและเครื่องบินด้วยรีโมตจากภาคพื้นดิน

ไอเดียของเขาได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในการลดค่าใช้จ่ายของกองถ่ายฯ และเพื่อนก็มีความสุขกับการได้บำบัดโรค “ร้อนวิชา” แต่ภาพที่ได้ไม่ราบรื่น (smooth) เท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อเอาโดรนมาแทนเครื่องบินเล็ก ภาพที่ราบรื่นราวกับถ่ายโดยใช้เครน ทำให้เราหมดสนุกกับการถ่ายภาพยนตร์จากเครื่องบินเล็ก

ปัญหาในระยะแรกเป็นเรื่อง “ระยะทางและเวลา” ในการทำงานของโดรน กับเรื่องของไซเบอร์และอินเตอร์เน็ตที่เรายังตามหลังประเทศลาวอยู่ประมาณ 1 ปี

ปัจจุบันนี้เราเชื่อว่าปัญหาการพัฒนาของโดรนก็ทำนองเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด หรือรถไฟความเร็วสูง นั่นคือเรื่องขีดความสามารถของแบตเตอรี่หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั่นเอง

ผมสำรวจ “ตลาดโดรน” จากอินเตอร์เน็ต พบว่าข้อกังวลต่างๆ ของประชาชนในเรื่อง “เอื้อนายทุน” นั้นน่าจะยุติลงได้ เนื่องจากในตลาดมีโดรนชนิดต่างๆ จำนวนมาก หลายยี่ห้อ ตั้งแต่ราคาไม่ถึงพันบาทไปจนถึง 500,000 บาท (หรือกว่านั้น) ตามแต่สเป๊กที่ต้องการ ทั้งนี้ รวมทั้งมีที่ไทยผลิตเองด้วย

นอกจากนั้นยังมีออปชั่น จดทะเบียนและขออนุญาตให้ รวมทั้งมีประกัน 1 ปี

โดรนเพื่อการเกษตรที่ใช้พ่นยาและปุ๋ย ส่วนใหญ่จะมีราคาที่ถูกกว่าเงินเดือนวุฒิสมาชิกหรือ ส.ว. คือราคาไม่ถึง 130,000 บาท

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้า ส.ว.เมืองไทยยุคนี้สวมหัวใจ ส.ส. หรือ ส.ว.มาเลเซีย (ยุคมหาธีร์) สักเสี้ยวหนึ่ง เกษตรกรไทยอาจจะมีโอกาสได้ใช้โดรนช่วยในการทำเกษตรครบทุกอำเภอในเวลาไม่ถึงปี!

“ส.ว.62” มีอำนาจและหน้าที่หลักเพียงประการเดียวคือ สนับสนุนการเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ตามแผนสืบทอดอำนาจของนายวันชัย สอนศิริ ทนายความที่เป็น สนช.

หลังจากเสร็จสิ้นหน้าที่หลักแล้ว ส.ว.62 ก็แทบจะไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรอีก ดังนั้น ถ้าจะพูดว่าได้กินเงินเดือน 120,000 กว่าบาทไปฟรีๆ เป็นเวลา 5 ปี-ก็น่าจะพูดได้

นี่มิใช่เป็นการพูดเสียดสีรัฐบาลเอื้อนายทุนนะครับ ผมอ่านรายชื่อ ส.ว.250 คนแล้ว เชื่อว่าพ่อ-แม่หรือบรรพบุรุษของท่านเป็นเกษตรกรเกินครึ่ง คนที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างหากที่ไม่ได้มาจากเกษตรกร และเขาเป็นพวกของนายทุนขนานแท้และดั้งเดิม

รอยแผลเก่าที่ยังไม่หายเจ็บอีกรอยหนึ่งก็คือแผลจาก “เรือเหาะ” เหตุที่ยังไม่หายเจ็บ เพราะผมไม่เชื่อว่าเป็น “ค่าโง่” แต่เชื่อว่าเป็น “ค่าแกล้งโง่” มากกว่า

ค่าเรือเหาะรวมอุปกรณ์(กล้อง) 350 ล้าน ค่าซ่อมบำรุงปีละ 50 ล้าน รวม 200 ล้าน คิดอย่างโง่ๆ หักค่าอุปกรณ์ก็คือ รัฐเสียหายไปเฉยๆ 500 ล้านบาท

500 ล้านบาทที่ ธ.ก.ส. จะเอาไปให้เกษตรกรกู้ซื้อโดรนเพื่อการเกษตร ในราคาลำละ 500,000 บาทนั้น จะซื้อได้ถึง 1,000 ลำ !