รายงานพิเศษ : เปิดโลกอาเซียน ล้านนา-ล้านช้าง ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ (จบ)

วิวริมโขง

การลงพื้นที่ภาคสนามของมูลนิธิโครงการตำราฯ ในตอนแรกสิ้นสุดที่การข้ามด่านจากจังหวัดน่าน เข้าสู่ท่าเรือปากแบง ฝั่ง สปป.ลาว

และเป็นการเริ่มต้นออกเดินทางไปในอาณาจักรล้านช้าง โดยการล่องเรือไปตามลำน้ำโขง

เพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง”

ท่าเรือปากแบง
ท่าเรือปากแบง

ปากแบง-หลวงพระบาง

“ล่องโขง สู่เมืองมรดกโลก”

ลงเรือที่ท่าเรือปากแบง ซึ่งมีภูมิศาสตร์ค่อนข้างน่าสนใจ ชาวบ้านได้อธิบายว่า สาเหตุที่เรียกว่า “ปากแบง” เพราะเป็นจุดที่แม่น้ำแบ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง เป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปอุดมไซและหลวงน้ำทา จึงเรียกปากแบ่ง แต่สำเนียงภาษาลาวถิ่น ออกเสียงเป็น “ปากแบง” เป็นเมืองท่องเที่ยวของแขวงอุดมไซ เป็นจุดแวะพักของเรือและนักเดินทางจากหลวงพระบาง ทั้งขาไปและขากลับ โดยใช้เวลาล่องเรือไปหลวงพระบางประมาณ 6 ชั่วโมง

ถ้ำติ่ง
ถ้ำติ่ง

แม่น้ำโขง ตามข้อมูลที่ ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้อธิบายให้ฟัง เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นลำดับที่ 10 ของโลก ประมาณ 4,909 กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ซึ่งต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงนั้น ไหลคู่ขนานกับแม่น้ำแยงซี ก่อนที่จะวกลงใต้สู่อาคเนย์ ไหลผ่านหกประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม นี่คือความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำสายนี้

สำหรับชื่อของแม่น้ำโขง นั้นมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อาจารย์ชาญวิทย์ ได้เคยเขียนอธิบายในนิตยสารสารคดีไว้ว่า กว่าจะมีชื่อเรียก “แม่โขง” ตลอดทั้งสายจริงๆ อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันและเป็นสากล ก็พัฒนามายาวนาน

กล่าวคือ เมื่ออยู่ในเมืองจีนก็มีชื่อว่า “แม่น้ำหลานซาง” หรือ “แม่น้ำล้านช้าง” และที่น่าสนใจก็คือ เมื่ออยู่ในทิเบต ชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “ต้าจู” (Dzachu) ซึ่งแปลว่า “แม่น้ำหิน” หรือ “น้ำหิน”

ตลอดเส้นทางการเดินเรือ เพื่อมุ่งหน้าไปยังหลวงพระบาง ไกด์ชาวลาวได้เล่าให้เห็นภาพปัจจุบันของ สปป.ลาว ว่า ขณะนี้ชาวจีนได้มาลงทุนทำธุรกิจกันมาก มีการสร้างเขื่อน มีการทำเกษตรกรรม แม้แต่การก่อสร้าง

ผู้เขียนเองก็สังเกตได้ชัดเจนว่า ที่ปากแบงนั้น ก็มีกลุ่มคนจีนมาลงทุนทำธุรกิจโรงแรม และค้าขายเป็นจำนวนหลายครัวเรือน

เหตุที่ชาวจีนทะลักเข้ามาลงทุน ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะลาวยังมีทรัพยากรที่มากต่อการขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน ลาวและจีนก็มีโครงการความร่วมมือในเรื่องสาธารณูปโภคหลายอย่าง

ไกด์ชาวลาวบอกเราในมุมกลับกันว่า ในระยะยาว อาจจะต้องมีการควบคุมการใช้ทรัพยากรเหล่านี้เหมือนกัน รวมทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิม สิ่งแวดล้อม ที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป

ความหลากหลายของแม่น้ำโขง ตลอดสองริมฝั่ง ได้เห็นวิถีชีวิต การทำเกษตรกรรม การเกิดขึ้นของแหล่งชุมชน การค้าขาย ก่อสร้าง และธรรมชาติที่ยังงดงามอยู่มาก ก็เป็นเช่นเดียวกับความหลากหลายแม้กระทั่งชื่อที่ยังเรียกไม่เหมือนกัน ในแต่ละที่ แต่ละถิ่น แต่ละวัฒนธรรมที่เรียกต่างกันออกไป ซึ่งมาเหมือนกันในยุคสมัยของเรานี่เอง เหมือนกันอย่างไร อย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้อธิบายไว้ก็คือ เมื่อมีการศึกษาในระบบโรงเรียน ระบบสื่อสารคมนาคมสากล ทำให้เราเรียกชื่อแม่น้ำเหล่านี้เหมือนกันหมดว่าแม่โขง หรือสะกดเป็นภาษาอังกฤษบรรทัดฐานว่า The Mekong River

ล่องเรือมาถึงบ้านปากอู แวะชม ถ้ำติ่ง ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่บนหน้าผาซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำโขง ต้องบอกว่าสวยงามมาก เมื่อถ่ายภาพออกมาจากหน้าผาจะได้เห็นบรรยากาศแม่น้ำโขงที่สวยงามไปอีกแบบ

ต้องใช้ความพยายามในการเดินขึ้นไป เนื่องจากถ้ำริมหน้าผานี้ มีสองชั้น ชั้นล่างสูงจากระดับน้ำ 60 เมตร ส่วนชั้นบนต้องขึ้นบันไดไปอีก 218 ขั้น

สิ่งที่เราจะพบเมื่อขึ้นไป ก็คือ พระพุทธรูปจำนวนมาก ถ้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาร ในวันขึ้นปีใหม่ของลาว จะมีประชาชนเดินทางมาสรงน้ำพระพุทธรูปจำนวนมาก

พระธาตุพูสี
พระธาตุพูสี

ถึง หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม แห่ง สปป. ลาว เมืองนี้อดีตเคยเป็นเมืองหลวงของลาวมาก่อน ในยุคอาณาจักรล้านช้าง ภูมิศาสตร์ของเมืองหลวงพระบางนั้น อยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม วัดวาอารามซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีอยู่จำนวนมาก

อีกทั้งบ้านเรือนก็ดูมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เมืองหลวงพระบางนี้ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขง

ในปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก

ยังมีวัฒนธรรมการใส่บาตรพระตอนเช้า หลายท่านคงเคยได้เห็นตามภาพสื่อต่างๆ ผู้เขียนได้ไปใส่บาตรด้วยในตอนเช้า ปัจจุบันมีบริการเก้าอี้ให้นั่งคอยพระด้วย

เมื่อมาถึงหลวงพระบางขึ้นจากเรือ แล้วมาต่อรถ เราก็เร่งเวลาการเดินทาง เพื่อมาให้ทันชม พระธาตุพูสี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง

พระอาทิตย์อัสดง
พระอาทิตย์อัสดง

ถามว่าทำไมต้องมาให้ทัน เพราะที่นี่ถือว่าเป็นสถานที่ไฮไลต์สำคัญ ในการชมพระอาทิตย์ตกดิน

แถมมีการพูดกันว่า หากมาถึงหลวงพระบางแล้ว จะต้องขึ้นไปสักการะพระธาตุพูสีสักครั้ง เพราะถ้าไม่ไปบูชา ก็เหมือนมาไม่ถึง

นอกจากแข่งกับเวลาแล้ว อาจจะต้องออกแรงกันอีกมาก เพราะพระธาตุนั้นอยู่บนเนินเขาสูงกว่า 150 เมตร ต้องขึ้นบันไดไปอีกหลายขั้น

เป็นโชคดีอย่างยิ่งที่วันนั้นเมฆไม่มาก ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า เป็นภาพที่สวยงาม เป็นความงามของธรรมชาติล้านช้าง ที่ต้องมาดูให้ได้จริงๆ

ทุ่งไหหิน
ทุ่งไหหิน

ทุ่งไหหิน-สงครามที่ทั่วโลกรู้ แต่คนไทยมักจะไม่รู้

เมื่อมาถึงสถานที่แห่งนี้ ความน่าสนใจเกิดขึ้นในใจผู้เขียนว่า หินเล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มาจากไหน แล้วมีไว้ทำอะไร น่าจะเป็นความฉงนสนใจเดียวกับที่ผู้ร่วมคณะอีกหลายท่านที่น่าจะเห็นพ้องต้องกัน

อาจารย์ชาญวิทย์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ และผู้บรรยายพิเศษในการเดินทางครั้งนี้ ได้พาคณะนำชมทุ่งไหหิน ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการค้นพบนับร้อยจุด (site) ที่เชียงขวาง สปป.ลาว

อาจารย์อธิบายว่า ทุ่งไหหิน น่าจะเป็นสุสานของคนระดับผู้นำ เพราะหากเป็นการทำพิธีศพคนธรรมดาต้องฝังลงไปกับดิน (ไม่มีพิธีกรรมที่ซับซ้อน) นอกจากนั้น ยังนำชมไหใบที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นใบที่มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า นักปฏิวัติลงไปปรึกษาหารือในไหเรื่องจะเข้ายึดเวียงจันทน์

อาจารย์ชาญวิทย์และคณะ
อาจารย์ชาญวิทย์และคณะ

ในการชมทุ่งไหหินครั้งนี้ พบว่ามีฝาไหเท่าที่เห็นเหลืออยู่ 1 ฝา อาจารย์ชาญวิทย์คาดว่า เดิมต้องมีหม้อไห ของใช้ประกอบอยู่ด้วย แต่เนื่องจากอยู่มา 3 พันปี ก็คงจะถูกขโมยไปทีละชิ้นสองชิ้น เช่นเดียวกับสังคโลกที่สุโขทัย เมื่อ 50 ปีที่แล้วยังเคยเห็นเศษๆ อยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีฝรั่งเข้ามาทุ่งไหหินในปี ค.ศ.1930 ยังทันเจอกระดูกของมนุษย์

อาจารย์ชาญวิทย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หินที่ถูกสลักเป็นไห เป็นหินตามธรรมชาติบริเวณนี้ หรือเป็นหินที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น?

%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%99

นักธรณีวิทยาซึ่งร่วมเดินทางไปด้วย อธิบายว่า หินที่อยู่ตามธรรมชาติในทุ่งไหหินเป็นหินปูนที่แข็งมาก เป็นหินคนละชนิดกับหินที่ถูกแกะสลักเป็นตัวไห ซึ่งเป็นหินทรายที่ถูกย้ายมาจากที่อื่น หากเป็นหินทรายกับหินแกรนิตจะแกะง่าย แต่ถ้าเป็นหินปูนจะแกะเป็นรูปทรงไม่ได้

ที่น่าสนใจคือก่อนตั้งไห ใต้ดินข้างล่างนี้น่าจะมีการฝังอะไรบางอย่าง

หลุมระเบิด
หลุมระเบิด

จากนั้น อาจารย์ชาญวิทย์ นำชมร่องรอยหลังจากที่สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดปูพรม ในช่วงปี ค.ศ.1946-1973 เพราะทุ่งไหหิน ตั้งอยู่ในเมืองเชียงขวาง คือเมืองที่เชื่อมระหว่างเวียดนามเหนือและเส้นทางลงไปเวียงจันทน์ เพราะฉะนั้น นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่น่าสนใจคือมีไหแตกจำนวนมาก

สหรัฐอเมริกามาทิ้งระเบิดปูพรมโดยใช้สนามบินในประเทศไทย เช่น จ.นครพนม จ.อุดรธานี อำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์

นี่เป็นสงครามที่ทั่วโลกรู้แต่คนไทยมักจะไม่รู้ อาจารย์ชาญวิทย์บรรยายอีกว่า สหรัฐอเมริกาจ้างทหารและตำรวจไทยเป็นทหารรับจ้างมารบในลาวโดยการใช้บัตรประจำตัวประชาชนลาว

ถ้าหากเราขึ้นเฮลิคอปเตอร์มองลงมาที่เชียงขวางจะเห็นรูปกลมๆ นั่นคือร่องรอยของระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปูพรม สงครามครั้งนั้นโหดมาก ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

หากไม่ได้เดินทางมาถึงสถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนเองก็คงไม่รู้เรื่องราวของสงครามนี้เป็นแน่แท้ เพราะอย่างที่บอกก่อนหน้าว่า มีคนไทยมารับจ้างรบในสงครามครั้งนี้ด้วย ทุ่งไหหิน จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ที่สมควรให้คนไทยและอาเซียน ได้เดินทางมาศึกษา

ขอบคุณคลิป ภาคสนาม จาก คุณฟ้ารุ่ง ศรีขาว