รายงานพิเศษ / มองข้ามช็อต วันบ้านสี่เสาฯ ไร้ ‘ป๋า’ จับตาบทบาท ‘บิ๊กแอ้ด’ ผนึก ‘3 ป.’ จับตา ‘ชวน-บิ๊กตู่’ ดับเบิ้ลนายกฯ จับตาความแรงของ ตท.21 ใต้เงา ตท.20

รายงานพิเศษ

 

มองข้ามช็อต

วันบ้านสี่เสาฯ ไร้ ‘ป๋า’

จับตาบทบาท ‘บิ๊กแอ้ด’ ผนึก ‘3 ป.’

จับตา ‘ชวน-บิ๊กตู่’ ดับเบิ้ลนายกฯ

จับตาความแรงของ ตท.21 ใต้เงา ตท.20

บรรดานายทหารลูกป๋า สายบ้านสี่เสาเทเวศร์ ไม่ได้เกิดอาการช็อกอำนาจใดๆ หลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

ไม่ได้ทำให้เกิดสภาวการณ์ “อำนาจเปลี่ยนมือ” หรือเปลี่ยนขั้ว

ด้วยเพราะบทบาทของ พล.อ.เปรมในทางการเมืองและกองทัพ ได้ค่อยๆ ลดน้อยลงตามกาลเวลาที่เนิ่นนาน อีกทั้งบรรดานายทหารลูกป๋า ต่างก็ทยอยเกษียณราชการ ไม่ได้คุมกำลัง หรือเป็น ผบ.เหล่าทัพเช่นในอดีต

สอดรับกับที่เป็นจังหวะที่ขั้วอำนาจ 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ขึ้นมาสอดแทรกกันพอดี

หลังการรัฐประหารปี 2549 บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หัวหอก 3 ป. ทะลวงขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในเวลาต่อมา นั่งนานถึง 3 ปี

โดยที่ พล.อ.อนุพงษ์ก็ได้รับการหนุนเนื่องตั้งแต่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ. และผลักดันน้องๆ ทั้งทหารเสือราชินี และบูรพาพยัคฆ์ขึ้นมา

3 ปีที่ พล.อ.อนุพงษ์เป็น ผบ.ทบ. ก็ได้วางตัวบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ขึ้นมาตามจังหวะ จากแม่ทัพภาคที่ 1 เสธ.ทบ. รอง ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์

แถมทั้งเป็น ผบ.ทบ.ยาวถึง 4 ปี  จึงได้มีการวางทายาทและฐานกำลังไว้ในทุกหัวระแหงของกองทัพ

โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์นำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั่งเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช.มา 5 ปี ก็ได้หยั่งรากอำนาจลึกในกองทัพไว้ จนมั่นใจว่า ไม่มีใครคิดล้มล้างตนเองด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร

จนถึงการสนับสนุน ผลักดันให้บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นายทหารน้องรัก สายวงศ์เทวัญ ขยับขึ้นมาจนเป็น ผบ.ทบ.เมื่อตุลาคม 2561

โดยที่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ตบเท้าแสดงออกถึงการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันมาตลอดกว่า 6 เดือนของการเป็น ผบ.ทบ.

เรียกได้ว่า ทั้ง 3 พี่น้องคุมกองทัพแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยบารมีของการดูแลและจัดทัพของพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ขั้วอำนาจ 3 ป. จะขึ้นมาแทนที่ขั้วอำนาจบ้านสี่เสาฯ แต่ทว่า 3 พี่น้องขึ้นมาเป็นฐานอำนาจที่หนุนยกบ้านสี่เสาฯ ให้โดดเด่น

จะเห็นได้ว่า ตลอดการเป็นรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์นำพี่ใหญ่ พี่รอง และ ครม.ทหาร ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าเข้าอวยพร พล.อ.เปรม ทั้งปีใหม่ สงกรานต์ และวันเกิด 26 สิงหาคม มาตลอด

อันเป็นส่งสัญญาณการเป็นฝ่ายเดียวกัน และให้เกียรติ เคารพ พล.อ.เปรมอย่างมาก เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่า ขั้ว 3 ป.ขึ้นมาคุมอำนาจแทนขั้วบ้านสี่เสาฯ

ขณะที่ พล.อ.เปรมก็แสดงบทบาทของการเป็น “กองหนุน” สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด ทั้งการเอ่ยปากการันตีว่า เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่โกง และให้กำลังใจทุกครั้งที่พบหน้า

ด้วยภาพพจน์การเป็นคนดี ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และสถานภาพการเป็นประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน ที่ถวายงานใกล้ชิดสถาบัน ก็ยิ่งเสริมภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้เพราะการที่ 3 ป. เคยเป็นทหารเสือราชินี ร.21 รอ. กันมาตั้งแต่เป็นนายทหารหนุ่มๆ ได้ตามเสด็จฯ จึงได้พบปะและรู้จัก พล.อ.เปรมมายาวนานอีกด้วย

จึงทำให้ขั้วบ้านสี่เสาฯ และขั้ว 3 ป. สอดรับเสริมกันได้ดี แม้ในวันที่ไม่มี พล.อ.เปรมแล้วก็ตาม

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ยิ่งเมื่อมีการจับตาไปที่บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รักษาการประธานองคมนตรี ทำหน้าที่แทน พล.อ.เปรม

ด้วยเพราะรู้กันดีว่า พล.อ.สุรยุทธ์เป็นลูกป๋า ที่ป๋าไว้วางใจอย่างมาก และการันตีว่าเป็นคนดี และเป็นนายทหารที่เดินตามรอยเท้าป๋าในเรื่องของการเป็นนายทหารที่พูดน้อย สุขุม นุ่ม นิ่ง เรียบง่าย แต่ทว่ามีความเด็ดขาด แบบที่เรียกว่า คมในฝัก

หากแต่การเป็นนายทหารรบพิเศษ ที่แตกต่างจากทหารม้าแบบป๋าเปรม จึงทำให้ในภาพความเงียบนิ่งนั้น มีความเป็นนายทหารสายเหยี่ยวอยู่ในเชิงด้วย

ดังนั้น พล.อ.สุรยุทธ์จึงถูกจับตามองว่า จะขึ้นมามีบทบาทหลักแทน พล.อ.เปรม แห่งขั้วบ้านสี่เสาฯ และมีบทบาทที่เข้มข้นกว่า เพราะยังแข็งแรง ดูแลสุขภาพตามสไตล์รบพิเศษ แม้จะอายุ 75 ปีแล้วก็ตาม

 

แม้การจากไปของ พล.อ.เปรม จะทำให้ต้องมีการคืนบ้านสี่เสาฯ ให้กองทัพบก และสำนักงานทรัพย์สินฯ หลังเสร็จสิ้นงานพระราชทานเพลิงศพ ในอีกกว่า 3 เดือนข้างหน้า หรืออาจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือสำนักงานโครงการที่ พล.อ.เปรมได้บริจาคเงินเก็บตั้งแต่เป็นทหาร จนเป็น ผบ.ทบ. เป็นนายกฯ จนถึงเป็นประธานองคมนตรี หลักร้อยล้านบาท ให้แก่คนยากจนก็ตาม

แต่ชื่อของบ้านสี่เสาฯ ก็จะยังคงเป็นสัญลักษณ์ของขั้วอำนาจของ พล.อ.เปรม ที่กำลังจะมี พล.อ.สุรยุทธ์มารับหน้าที่แทน

ที่อาจจะทำให้ “บ้านลาดกระบัง” ของ พล.อ.สุรยุทธ์ คืออีกสัญลักษณ์หนึ่งของขั้วอำนาจบ้านสี่เสาฯ ภาค 2 กลับมาถูกจับตามองในกาลข้างหน้า

แม้ว่าจะมีนายทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกป๋าแถวหน้า เป็นลูกป๋าที่ พล.อ.เปรมรักและไว้วางใจ ทั้งบิ๊กหมง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีต ผบ.สูงสุด ที่ยังเป็นประธานมูลนิธิรักเมืองไทย และ พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตปลัดกลาโหมก็ตาม

แต่ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นลูกป๋าที่เดินตามรอยเท้าป๋า ในการขึ้นเป็นองคมนตรี และเคยเป็นอดีตนายกฯ จนวันนี้ กลายเป็นหลักชัยในบรรดา 15 องคมนตรี ในรัชกาลที่ 10

ด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของ พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้การประสานขั้วอำนาจบ้านสี่เสาฯ กับ 3 ป. ในยามที่ไม่มี พล.อ.เปรมแล้ว มาเป็น พล.อ.สุรยุทธ์ นั้นไร้รอยต่อ

แม้ว่าระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ จะเคยมีเรื่องคาใจกันในอดีตเมื่อครั้งที่บิ๊กป้อมถูกเด้งเข้ากรุก็ตาม แต่วันเวลาก็เยียวยาทุกอย่าง

อีกทั้งการมีเป้าหมายเดียวกัน ก็ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กัน

หาก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยในอีกไม่ช้านี้ ก็ยังคงมีกองหนุนพิเศษอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ต่อไป เพียงแต่สไตล์จะแตกต่างกับ พล.อ.เปรมบ้าง

แม้ว่า พล.อ.เปรมได้ลาจากไป โดยที่ยังไม่ได้เห็นรูปร่างของรัฐบาลใหม่ และนายกฯ คนใหม่ แต่การที่ พล.อ.เปรมได้รับรู้ว่า นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นประธานสภา จากการรายงานของ พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิท ที่รายงานข่าวเป็นระยะๆ เรื่องเหตุการณ์ในการเปิดประชุมสภาวันแรก 25 พฤษภาคม 2562 เพื่อเลือกประธานสภา

พล.อ.เปรมก็คงจะโล่งใจได้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะกลับมาเป็นนายกฯ ตามที่ป๋าเคยประเมินสถานการณ์ไว้

ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะเข้านอนหลับไปในคืนนั้นตอน 4 ทุ่ม แล้วก็ไม่ตื่นขึ้นมาอีกในรุ่งเช้า และก็ลาจากลูกป๋าทุกคนไป หลังรวมพลังฟิตร่างกายให้แข็งแรง จนถวายงานครั้งสุดท้าย ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ถือว่าหายห่วง

 

การเจรจาต่อรองทางการเมืองที่ พล.อ.ประวิตรลงมาเจรจาเอง ให้นายชวนมาเป็นประธานสภา และการโหวตในสภาวันนั้น จะทำให้เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ตาม

ในอีกมุมหนึ่ง ความสุขุม รอบคอบ และเคยเป็นอดีตนายกฯ และอดีตประธานสภา น่าจะเป็นผลดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อต้องกรำศึกในสภา

พล.อ.ประยุทธ์จึงดูมีความมั่นใจว่า จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ และจะเดินหน้าสู้ต่อ ถ้าอยู่ก็ต้องไหว และไม่คิดถอย ไม่ว่านักการเมืองจะเป็นแบบเดิมๆ ก็ตามที

ในเวลานี้ ทุกอย่างจึงพร้อม รอการคัมแบ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์สู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งแล้ว

เพราะกองทัพก็ยังคงพร้อมที่จะเป็นแบ๊กอัพให้ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป แม้จะไม่มี คสช. และไม่มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) อีกต่อไปแล้ว

แต่หันมามอง ทบ.ในยุคที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่เปี่ยมเพาเวอร์ จึงทำให้พลังอำนาจในการจัดทัพบกเข้มข้น

ในฐานะที่เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะคัมแบ๊กมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และเป็นที่เกรงใจของ พล.อ.ประวิตร ที่จะรีเทิร์นมาคุมกลาโหมอีกครั้ง

หาก พล.อ.อภิรัชต์สนับสนุนใคร ก็มีโอกาสที่จะช่วยผลักดันให้ชื่อผ่านด่าน พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไม่ยาก

แม้ว่า ทบ.ในยุคนี้ จะเป็นยุคของเตรียมทหาร 20 เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.อภิรัชต์ แต่ด้วยเหตุที่ พล.อ.อภิรัชต์ มาเรียนจบพร้อม ตท.21 ทำให้มีเพื่อน 2 รุ่น

พล.อ.อภิรัชต์จึงพยายามเลือกเพื่อนที่เป็นคนดีและคนเก่ง จากทั้ง ตท.20 และ ตท.21 ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

เพราะตอนนี้มีทั้งบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นรอง ผบ.ทบ. บิ๊กตู่ พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา เป็น ผช.ผบ.ทบ. บิ๊กหนุ่ย พล.ท.ธเนศ  กาลพฤกษ์ รอง เสธ.ทบ.

ในส่วนแม่ทัพภาค คุมกำลัง มีบิ๊กป๋อ พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 และบิ๊กเดฟ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4

 

ท่ามกลางข่าวสะพัดใน ทบ.ว่า พล.อ.อภิรัชต์มีแผนที่จะดันเพื่อน ตท.21 หลายคน ที่เป็นคนเก่งของรุ่น และที่เป็นเพื่อนรักขึ้นมา

เริ่มจาก ดันบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ จากรอง สธ.ทบ. ขึ้นพลเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เมื่อโยกย้ายเมษายนที่ผ่านมา

จากเดิมที่คาดกันว่า พล.อ.อภิรัชต์มีแผนที่จะส่ง พล.อ.เฉลิมพล ข้ามไปเป็น เสธ.ทหาร เพื่อให้เตรียมจ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุดในอนาคต เพราะเกษียณกันยายน 2566

แต่มีข่าวสะพัดว่า จะให้ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบก ในโยกย้ายปลายปีนี้ก่อน

หากขึ้น 5 เสือ ทบ.ในปลายปีนี้ แม้ พล.อ.เฉลิมพลจะกลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ก็ตาม แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า มีการวางตัวบิ๊กบี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 จากเตรียมทหาร 22 ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. แล้วเตรียมขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่อจากบิ๊กแดง

นั่นหมายถึงโอกาสที่ พล.อ.เฉลิมพลจะเบียดขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็มีน้อย เพราะเกษียณกันยายน 2566 พร้อมกัน

แต่ก็ให้จับตามองนายทหาร ตท.21 ที่จ่อขึ้นมาแชร์อำนาจใน ทบ. เพราะหลายคนเป็นมือทำงานให้ พล.อ.อภิรัชต์ แบบที่เรียกว่า วางใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งบิ๊กนัย พล.อ.สุนัย ประภูชเนย์ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ที่ข่าวว่า ตุลาคมนี้จะขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ.

โดยมีบิ๊กแยม พล.ท.ปราการ ปทะวานิช เป็น ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ที่เทียบเท่าแม่ทัพภาคที่ 7 อยู่แล้ว พล.ท.อนุสรณ์ ปัญญะบูรณ์ เป็นเจ้ากรมการทหารช่าง

 

ที่น่าจับตาคือ ระดับแม่ทัพภาค ที่มีทั้งบิ๊กหม่อง พล.ต.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 และบิ๊กโม พล.ต.จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ท.วิชาญ สุขสง แม่ทัพน้อยที่ 4 จ่ออยู่

แต่ พล.ท.ฉลองชัย และ พล.ท.พรศักดิ์ น่าจะเป็นแม่ทัพภาคต่ออีกปี ท่ามกลางข่าวสะพัดถึงความแรงของ ตท.21 จนทำให้เกิดรอยร้าวเล็กๆ ขึ้น

โดยที่ พล.อ.อภิรัชต์คงต้องบริหารจัดการบรรดาผองเพื่อน ทั้ง ตท.20 และ ตท.21 ให้สมดุล

เช่นเดียวกับการดูแลนายทหารทุกขั้วฝ่าย ทั้งบูรพาพยัคฆ์ ทหารเสือราชินี และทหาร “คอแดง” ที่เป็นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ใน พล.1 รอ.

แต่เชื่อกันว่า หาก พล.อ.ประวิตรยังคงได้มาเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมในรัฐบาลหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย

ปัญหาในกองทัพ จะยังคงไม่ถึงขั้นที่จะเป็นปัจจัยการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง หรือการปริแตกร้าว เพราะบารมีของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกองทัพยังคงมีพลัง

ยกเว้นมีปัจจัยพิเศษ กล้ำกรายเข้ามาในกองทัพและการเมือง แบบนอกเหนือการควบคุมเท่านั้นเอง