สงครามสื่อสารยุค 5G ภัยคุกคามต่อความมั่นคงสหรัฐ/รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

สงครามสื่อสารยุค 5G

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงสหรัฐ

 

ทําไมรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าอุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ยถูกนำมาใช้ในการสอดแนมและลักลอบเก็บข้อมูลความลับต่างๆ ของบริษัทอเมริกัน

คาดว่าคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับล่าสุดที่เป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยนั้น จะเป็นการนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรบริษัทโทรคมนาคมจีน โดยเฉพาะบริษัทหัวเว่ยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้สามารถเข้ามาแข่งขันติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ในสหรัฐ

หากยอมให้ Huawei กระจายอิทธิพลทางด้านไอทีเข้าไปในอเมริกา ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลจีนสามารถล้วงความลับทางราชการผ่านระบบไซเบอร์ของบริษัทโทรคมนาคมจีนได้

นับตั้งแต่ปี 2018 อุปกรณ์โทรคมนาคมยุค 5G อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงนานาชาติเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดสหรัฐ เกิดความวิตกกังวลการขโมยความลับทางการค้า สถานการณ์ อเมริกา vs Huawei เริ่มขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐใช้อำนาจผู้บริหารลงนามในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อปกป้องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐจากปรปักษ์ต่างชาติ

ออกกฎหมายใหม่ที่จะส่งผลให้มีการห้ามบรรดาเอกชนในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดใช้อุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์เครือข่ายสำหรับเครือข่ายการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 หรือเครือข่าย 5 จี ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด

ด้วยเหตุผลที่ว่าการกระทำดังกล่าว “ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งยอมรับไม่ได้ หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของบุคคลของสหรัฐอเมริกา”

 

คําสั่งดังกล่าวนี้พุ่งเป้าเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีจากจีน โดยเฉพาะบริษัท Huawei ซึ่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครือข่ายการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5 จี ได้ล้ำหน้ากว่าบริษัทตะวันตก

และคาดกันว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ Huawei จะสามารถครองตลาดการสื่อสารไร้สายในยุค 5 จีทั่วโลก

คำสั่งดังกล่าวมีผลโดยตรงห้ามไม่ให้เอกชนของสหรัฐอเมริกาจัดซื้อหรือใช้อุปกรณ์สำหรับเครือข่ายสื่อสารของ Huawei ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดตลาดสหรัฐอเมริกาลงโดยสิ้นเชิง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์มีคำสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานของทางการจัดซื้อหรือใช้งานอุปกรณ์ของ Huawei มาแล้ว

นอกจากนั้น คำสั่งดังกล่าวจะส่งผลให้สำนักงานว่าด้วยอุตสาหกรรมและความมั่นคง (บีไอเอส) ของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ต้องบรรจุชื่อบริษัทที่เชื่อว่าก่อให้เกิดภัยคุกคามดังกล่าว

ซึ่งในที่นี้คือ Huawei และอาจรวมถึงแซดทีอี บริษัทคู่แข่งของ Huawei จากจีนเช่นเดียวกัน เข้าไปในรายชื่อของบริษัทต้องห้าม ที่เป็นกลุ่มเดียวกันกับบริษัทใดๆ ที่ละเมิดการแซงก์ชั่นต่ออิหร่านของสหรัฐอเมริกา และจะส่งผลให้บริษัทอเมริกันทั้งหลายจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากบีไอเอสก่อนจึงสามารถขายสินค้า-บริการ หรือถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวได้

โดยการขออนุญาตดังกล่าวอาจถูกปฏิเสธหากบีไอเอสเห็นว่าการขายหรือการถ่ายโอนดังกล่าวส่งผลให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา หรือเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์ตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศเลื่อนการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ Huawei ออกไปเป็นเวลา 90 วัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มเวลาเพื่อเปิดทางให้มีการอัพเดตซอฟต์แวร์รวมถึงการปฏิบัติตามความตกลงที่มีการเซ็นสัญญาไว้แล้ว เพื่อให้สามารถดูแล สนับสนุน บำรุงรักษาสินค้าปัจจุบันที่ Huawei จำหน่ายอยู่ต่อไปได้

โดยใบอนุญาตชั่วคราวดังกล่าวมีอายุ 90 วัน จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2019

ถึงอย่างไรการกระทำของนักการเมืองสหรัฐในเวลานี้ ถือเป็นการประเมินความแข็งแกร่งของ Huawei ต่ำเกินไปและไม่มีทางสกัดกั้นความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นบริษัทธุรกิจระดับโลกของ Huawei ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5 จีของ Huawei ซึ่งมีความก้าวหน้าไปไกลกว่าใครๆ โดยที่ไม่มีใครมีวันตาม Huawei ได้ทันภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้

 

ในยุคของเทคโนโลยี 5G ที่ทุกๆ อย่างนั้นกำลังจะเร็วเกินการควบคุมและฉีกทุกข้อจำกัดเดิมที่เราเคยมีมา รัฐบาลสหรัฐอาจคิดถูกที่พยายามควบคุมภัยคุกคามนี้ไว้แต่เนิ่นๆ

แนวคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายไร้สาย 5G แห่งชาติจะเป็นมาตรการตอบโต้จีนอีกหนทางหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐบางคนมองว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามกับสหรัฐทั้งในโลกไซเบอร์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา Huawei ได้ลงนามในข้อตกลงติดตั้งเครือข่าย 5G ใน 40 ประเทศทั่วโลก

ในจำนวนนี้กว่า 20 ประเทศอยู่ในยุโรป

ที่ผ่านมาบริษัทจีนแห่งนี้สามารถสร้างระบบและอุปกรณ์โทรคมนาคมทันสมัยระดับสากล ถึงขั้นที่ทั้งสหรัฐและอังกฤษต้องหันมาใช้กันอย่างกว้างขวาง

ก่อนที่จะเกิดความสงสัยหวาดกลัวต่อความมั่นคงและปลอดภัยที่น่าจะเกิดปัญหาขึ้น

ความห่วงกังวลต่อจีน ที่อาจจะขึ้นมาครองตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีเอไอแทนสหรัฐ ผลจากแนวนโยบายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมไปถึงการเพิ่มการลงทุนอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสนับสนุนการวิจัยระยะยาว ให้นักวิจัยในสหรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลกลางมากขึ้น

เป้าหมายหลักของโครงการคือ ปกป้องความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี AI ของสหรัฐให้คงอยู่ต่อไป ท่ามกลางสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่กำลังระอุ ยังมีเรื่องของความเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่อเมริกาเป็นผู้นำมาตลอดนั้นกำลังถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีจีน

 

คําอธิบายของ Huawei ในช่วงที่ผ่านมาว่า “มันไม่ใช่ภัยคุกคามต่อความมั่นคง” และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ทางการสหรัฐยังไม่ได้มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดๆ เลยว่าทาง Huawei มีความร่วมมืออันไม่เหมาะสมใดๆ ในการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารเพื่อประโยชน์กับรัฐบาลจีน หรือแม้แต่ในอนาคตก็ตามที นอกจากนั้น มันยังมีวิธีการตั้งหลายรูปแบบที่จะจำกัดความเสี่ยงใดๆ ประเภทนั้นได้ อย่างที่ได้ทำกับในหลายๆ ชาติที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารของ Huawei อยู่ทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจมากๆ ไม่แพ้คำชี้แจงนี้เลยก็คือ ประธานบริหารของ Huawei Technologies ยังตั้งข้อโต้แย้งเอาไว้อีกด้วยว่า

รัฐบาลสหรัฐเองนั้นมีพฤติกรรมที่อาจเรียกได้ว่าปากว่าตาขยิบที่สุดชาติหนึ่ง เพราะขณะที่ตัวเองกำลังกล่าวหาจีนด้วยเรื่องของมาตรฐานทางความมั่นคงต่างๆ นานา

แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของสหรัฐเองกลับเป็นหนึ่งในชาติที่มีผลงานการสอดแนมเต็มไปหมดทั่วโลก