ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | แมลงวันในไร่ส้ม |
เผยแพร่ |
แมลงวันในไร่ส้ม
2 นัดแรก-สภาผู้แทนฯ
เลือก ‘ชวน’ นั่งประธาน
จับตาโหวต ‘บิ๊กตู่’ นายกฯ
การประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรก มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ
เป็นการประชุมซึ่งมีวาระการประชุมสำคัญ คือ เลือกประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาด้วย
ทีวีรัฐสภาได้ถ่ายทอดการประชุมดังกล่าวออกไป โดยมีสื่อต่างๆ นำสัญญาณไปถ่ายทอดต่อ โดยเฉพาะผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งของเฟซบุ๊ก
เชื่อว่ามีประชาชนติดตามการประชุมครั้งนี้จำนวนมาก เพราะเป็นการประชุมสภาครั้งแรก หลังจากขาดหายไป 5 ปี เนื่องจากเกิดรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
สภาชุดก่อนหน้านี้ คือชุดที่ 24 จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ
ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคนที่เกลียดชังนายทักษิณ ชินวัตร และกลายเป็นความพยายามล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ
ซึ่งสุดท้าย ประสบความสำเร็จ หลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดตั้งม็อบ และตั้ง กปปส.ขึ้นมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถอยกรูด ถอนร่าง พ.ร.บ.ออก แต่ม็อบไม่ยอมเลิก เดินหน้าขับไล่รัฐบาล จนรัฐบาลยุบสภาในเดือนธันวาคม 2556 กำหนดเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่สุดท้ายการเลือกตั้งเป็นโมฆะ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งนายกฯ รักษาการ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาฯ สมช.
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ ต่อจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กองทัพบกเชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆ ประชุมเพื่อหาทางออกที่สโมสร ทบ. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ถามตัวแทนพรรคเพื่อไทยว่าจะยอมลาออกจากรัฐบาลรักษาการหรือไม่
นายชัยเกษม นิติศิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทยตอบว่า โดยกฎหมาย ลาออกไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยึดอำนาจ
ปิดฉากการเมืองระบอบประชาธิปไตย และระบอบรัฐสภาในยุครัฐบาลเพื่อไทยเพียงเท่านั้น
หลังจากเว้นว่างมา 5 ปี ระบอบรัฐสภาไทยกลับมาอีกครั้ง
เป็นสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มาจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กับวุฒิสภา ประกอบด้วย 250 ส.ว. มาจากกระบวนการเลือกกันเอง และสรรหา ก่อนให้ คสช.จิ้มตัว จนได้ 250 คน และมีบัญชีสำรองอีก 50 คน
การประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรก ไม่ราบรื่น และขลุกขลักในหลายแง่มุม
สถานที่ประชุมก็มีส่วน เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือไม่ครบ ไม่ว่าจะเป็นที่นั่ง ซึ่งไม่เหมาะกับการประชุมยืดเยื้อ ไมโครโฟน ระบบเสียง ระบบการลงมติ
สาเหตุเพราะอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เรียกว่า “สัปปายะสภา” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังสร้างไม่เสร็จ และล่วงเลยกำหนดสัญญาที่จะต้องสร้างเสร็จ ในปี 2558 มา 4 ปีแล้ว
มีการขยายเวลามาเรื่อยๆ ล่าสุดคาดว่าจะพร้อมใช้งานปลายปี 2562
ขณะที่อาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน ที่ใช้งานมา 44 ปี ก็ปิดไปแล้ว หลังจากใช้ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นัดสุดท้าย เมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา
การประชุมนัดแรก มีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อายุ 91 ปี เป็นประธานชั่วคราว
เกิดปัญหาขึ้น เมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่พอใจการเจรจาจัดสรรตำแหน่งในพรรค และการที่แกนนำพรรคยกตำแหน่งประธานสภาให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง
จากเดิมที่วางตัวนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ จากฉะเชิงเทราเอาไว้
โดยทาง คสช.เห็นว่า นายชวนมีสถานะอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นภาพที่ดีกว่า และเตรียมจะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลด้วย
การตีรวนของกลุ่มในพรรค พปชร. ทำให้นายชัยต้องดึงเกมการประชุมออกไป เปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้อภิปรายก่อนเข้าสู่วาระสำคัญ
ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเข้าสภาเป็นครั้งแรก ได้ลุกขึ้นอภิปราย โชว์หน่วยก้านและความรู้ถือว่า “สอบผ่าน”
แม้ว่าหัวหน้าพรรค คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าสภา ปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ แล้วต้องออกจากห้องประชุมไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากศาลรับคดีถือหุ้นสื่อไว้พิจารณา
การตีรวนของกลุ่ม ส.ส.พปชร. ทำให้แกนนำพรรคสั่งถอย ด้วยการเสนอเลื่อนวาระการเลือกประธานสภาออกไปก่อน
เกิดการอภิปรายโต้แย้ง กินเวลานับชั่วโมง จนต้องพักการประชุม และกลับมาประชุมต่ออีกครั้งในช่วงบ่าย
นายชัยสั่งให้ลงมติ ผลคะแนนปรากฏว่า พรรครัฐบาลแพ้มติ 248 : 246 ที่ประชุมไม่ยอมให้เลื่อนวาระการประชุม
จึงต้องเดินหน้าเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ต่อ ด้วยการลงมติลับ ผลคือ นายชวนได้ตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติไปด้วยคะแนน 258 : 235 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่า มี ส.ส.จากพรรคนอกขั้วรัฐบาล มาลงคะแนนให้นายชวนด้วย
วันรุ่งขึ้น สื่อพาดหัวข่าวเกรียวกราว โดยมีคำว่า “งูเห่า” ปรากฏอยู่ด้วย
ส่วนการเลือกรองประธานสภา ในวันที่ 26 พฤษภาคม นายสุชาติ ตันเจริญ ได้เป็นรองคนที่ 1 ด้วยคะแนน 248 : 246 ชนะ น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากอนาคตใหม่ไปอย่างเฉียดฉิว
ตำแหน่งรองประธานคนที่สอง นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ได้ตำแหน่ง โดยชนะ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 256 : 239 คะแนน
ตัวเลขคะแนนทั้งสองขั้วที่เกิดการเพิ่มและลดลง ทำให้กระแสข่าว “งูเห่า” ยิ่งรุนแรงขึ้น
จากนี้ไป ข่าวสารการเมืองจะร้อนแรงขึ้นอีก ขณะที่การเมืองมีความชัดเจนขึ้น
การลงมติในการประชุมสภาทั้งสองวัน คือ 25 และ 26 พฤษภาคม พรรค ปชป.และภูมิใจไทย โหวตในทิศทางเดียวกับพรรค พปชร. บ่งบอกถึงความลงตัว
ขณะที่การเลือกตั้งใหม่ที่เขต 8 เชียงใหม่ในวันที่ 26 พฤษภาคม แทนผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่ถูกใบส้ม ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ได้รับเลือกด้วยคะแนนท่วมท้น ทิ้งขาดพรรค พปชร.ที่เข้าที่สอง
ส่งผลให้ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรค ปชป. และ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี จากพรรค พปชร. ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปพร้อมกัน
ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เดินทางไปส่งเทียบเชิญให้กับพรรค ปชป. และภูมิใจไทย ถึงที่ทำการพรรค ในบรรยากาศชื่นมื่น
ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลและ คสช.คาดว่า แกนนำรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วยพรรค พปชร., ปชป., ภูมิใจไทย และอื่นๆ รวม 20 พรรค และ 250 ส.ว. จะโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
การเมืองประเทศไทยจะเดินไปในบรรยากาศ และกฎกติกาที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ส่วนรัฐบาลใหม่ จากกฎกติกาที่ว่านี้ จะอยู่ได้ยาวนานและราบรื่นแค่ไหน เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายตั้งคำถาม