ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5 นิทรรศการแห่งเรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ปากเปล่า (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

กรกฤต อรุณานนท์ชัย กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานในนิทรรศการล่าสุด “ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5” ของเขาว่า

“ในงานชุดนี้ เราจะพูดถึงสิ่งที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกผ่านสิ่งที่จับต้องได้ เป็นประวัติศาสตร์ปากเปล่า ที่เกิดจากการเล่าเรื่อง (Storytelling) หรือมุขปาฐะ เรากำลังสำรวจเรื่องพลังอำนาจในพื้นที่ที่ไร้แสง มองไม่เห็น มนุษย์เข้าถึงไม่ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีหรือจินตนาการเข้าช่วย ซึ่งจะเป็นที่ที่การเล่าเรื่องถูกนำเข้ามาใช้

อย่างในวิดีโอที่ฉายในงานนี้ เราจะมองความไม่มีประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงยุคหลังสงครามโลกมาจนถึงยุคนี้ ทั้งการเข้ามาของซีไอเอ ผ่านยุคสงครามเวียดนาม ไปจนถึงเรื่องราวของเอกสารวิกิลีกส์ที่เปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับคุกลับในประเทศไทยแถวอุดรธานี ที่ใช้กักตัวและทรมานผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งอดีตผู้บริหารคุกนี้ ปัจจุบันกลายเป็น ผอ.ของซีไอเอ

เราพยายามเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่า ในความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศจากอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่อยู่ในความมืดของป่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มันมีลักษณะยังไง รวมไปถึงเรื่องของบุคคล สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจ ว่ามันทับซ้อนกันในพื้นที่เหล่านี้ยังไง

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการหลักของหอศิลป์

อย่างเรื่องทีมฟุตบอลหมูป่าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงที่เป็นพื้นที่มืดมิด แต่ก็กลายเป็นโอกาสให้หลายคนเข้าไปสร้างเรื่องราว ซึ่งเรื่องราวดั้งเดิมที่โด่งดังที่สุดของถ้ำหลวงคือเรื่องเจ้าแม่นางนอน ซึ่งเป็นนิทานปรัมปราแบบไทยๆ ที่เป็นเรื่องของผู้หญิงกับผู้ชาย เรื่องราวความรัก ความไม่สมหวัง แล้วก็มีเรื่องพญานาคเข้าไปเกี่ยวด้วย

แล้วพอมันมีเหตุวิกฤตนี้เกิดขึ้น ที่มีมนุษย์เข้าไปติดอยู่ในพื้นที่นี้ แล้วมีเหตุอันตรายเกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้วก็มีกลุ่มคนต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา

อย่างอีลอน มัสก์ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยก็มีเรื่องราวในแบบของเขาเอง คือการที่มนุษย์สามารถต่อสู้กับธรรมชาติได้ ด้วยการเอาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของเขามาพยายามช่วยเด็กๆ ออกจากถ้ำ ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้ก็อาจจะเกิดจากความไม่สมดุลของสิ่งแวดล้อม ที่ฝนตกเยอะขึ้นอาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการหลักของหอศิลป์

หรือการที่อาจารย์เฉลิมชัย (โฆษิตพิพัฒน์) (และศิลปินเชียงราย) เอาเรื่องราวนี้ไปวาดเป็นภาพ และกำลังจะสร้างพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวงขึ้นมา ก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอีกแบบหนึ่ง

หรือมองในแง่ของการเมือง ภัยธรรมชาติที่ว่านี้ก็สร้างโอกาสให้รัฐบาลไทย ทำให้ทหารที่เข้ามาช่วยเหลือกลายเป็นฮีโร่ คนที่ถูกช่วยเหลือก็เป็นคนไร้สัญชาติ เป็นคนชายขอบที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากอำนาจศูนย์กลาง แต่ภายหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำ

พวกเขาก็กลายเป็นคนมีสัญชาติ (ไทย) ไป

หรือคำชะโนด ที่เป็นพื้นที่ที่เกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องภูตผีในเมืองไทยในแบบพื้นฐานที่สุด คือการเชื่อว่าภูตผีสามารถแฮ็กระบบทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีจ้างหนัง, เปรตกู้, เจ้าแม่นาคี หรือการขอหวยก็ตาม

คำชะโนด เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์หรืออัตวิสัย (หรือ Subjectivity มุมมองหรือความคิดเห็นของบุคคล โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเชื่อ ความต้องการ อาจหมายถึงแนวความคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

ซึ่งตรงข้ามกับความรู้และความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงในทางปรัชญา) ของคน จนกลายเป็น “ความจริง” ขึ้นมา แบบเดียวกับถ้ำหลวง

ในคำชะโนดก็จะมีการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตลอด ยิ่งหลังจากที่มีเจ้าแม่นาคีออกมา มันก็กลายเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของผู้มีอภินิหาร

เป็นสถานที่ที่ร่างทรงต่างๆ เข้าไปแสดงอภินิหารของตนเอง

จนสุดท้ายทหารต้องเข้าไปคุม เพราะมันเละเทะวุ่นวายเกินไป

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการหลักของหอศิลป์

กลไกหลักๆ ของการทำงานศิลปะจัดวางชุดนี้เกิดจากการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ บวกกับการพูดคุยกับคุณเม อดาดล (อิงคะวณิช /นักทฤษฎีสายภาพเคลื่อนไหวและภัณฑารักษ์) เกี่ยวกับเรื่องของ Ghost Cinema (ภาพยนตร์ผี) ของไทย ที่เป็นเรื่องราวของภูตผีท้องถิ่น หรืออันที่จริงก็คือความเป็นอัตวิสัยของคนในชุมชนหนึ่ง ที่ต่อกรกับผู้มีอำนาจที่เข้ามาในพื้นที่ของตน

ยกตัวอย่างเช่น ในยุคสงครามเย็น ที่ทหารอเมริกันเข้าไปในพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อตามจับคอมมิวนิสต์ แล้วมีชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าในถ้ำมีผี ถ้าคุณเดินเข้าไป ผีจะทำให้คุณป่วยจนท้องเสีย แล้วบังเอิญว่ามีทหารเข้าไปแล้วเกิดท้องเสียขึ้นมาจริงๆ ทหารคนอื่นเลยไม่กล้าเข้าไป

นี่เป็นตัวอย่างของการใช้พลังอำนาจที่มองไม่เห็น หรือเรื่องเล่าขานแบบปากต่อปากต่อสู้กับอำนาจ

พอหลังจากนั้นทหารอเมริกันก็เริ่มใช้เทคโนโลยีของภาพเคลื่อนไหว เสียง แสง จากลำโพงและเครื่องฉายหนัง ในการหลอกคอมมิวนิสต์ว่ามีผีอยู่ในป่าอีกทีหนึ่ง

พอทหารออกจากพื้นที่ เขาก็ทิ้งเครื่องมือเหล่านี้ให้กับผู้นำชุมชนในสมัยนั้น ซึ่งก็คือพระสงฆ์ แล้วพระก็ฉายหนังในวัดในป่าให้คนหรือให้ผีดู ซึ่งผมคิดว่านี่คือที่มาของผีจ้างหนัง เพราะเหตุการณ์มันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

อย่างเหตุการณ์ผีจ้างหนัง ก็คือมีผีมาจ้างหนังกลางแปลงให้ไปฉายในป่าที่คำชะโนด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ราว 30 ปีที่แล้ว ตอนนี้ถ้าคุณไปที่คำชะโนดก็จะมีคนยืนยันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านจะบอกว่าพวกเขาเห็นคนแปลกๆ ใส่ชุดขาว ไม่พูดไม่จา มาดูหนังจริงๆ

ผมก็เลยใช้ภาพนี้เป็นกุญแจหลักของผลงานวิดีโอจัดวางในห้องนี้ เหมือนการเอาพิธีกรรมกับกิจกรรมของการเล่าเรื่องของมนุษย์มาเหลื่อมซ้อนกัน

ดังนั้น พื้นที่ในห้องนี้มันจะมีโครงร่างของความเป็นมนุษย์ในหลายๆ มิติ แต่ในขณะเดียวกันการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในห้องห้องนี้ก็คือ Visual (ภาพที่ปรากฏแก่สายตา) อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไอเดียหลักของงานวิดีโอผมทุกตัว

ในงานส่วนนี้ ตัวละครทุกคนจะปรากฏตัวในชุดขาว เหมือนผีมาดูหนัง ซึ่งหน้าจอกลายเป็นสีเขียว ซึ่งเราอาจตีความว่ามันเป็นสีของกรีนสกรีนที่ถูกใช้เป็นฉากในการถ่ายหนัง ในตัววิดีโอเองก็จะมีบทหนึ่งที่พูดว่า “เวลาอยู่ในที่มืดอย่างในถ้ำ เรามักจะมองเห็นแสงสีเขียว”

บางคนก็อาจจะตีความว่าสีเขียวเป็นตัวแทนของทหารไทย ทหารอเมริกัน หรืออาจจะเป็นตัวแทนของพญานาคก็เป็นได้

การที่เรามองประวัติศาสตร์และพยายามหาจุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น งานของผมไม่ได้เป็นการเสียดสี

แต่เป็นการนำหลายๆ เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่พูดถึง หรือแม้แต่มองเห็นมาอยู่ด้วยกันในห้อง เพื่อให้เกิดการสนทนาขึ้นมา

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับระบบที่เราพยายามจะสร้างขึ้นมา และพยายามหาภาษาหรือวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจว่าความจริงคืออะไรกันแน่?”

นิทรรศการ “ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5”

จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง)

ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 20 เมษายน-วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +66830872725