เจาะ…ร่าง กม.ปริยัติธรรม ชู “ป.ธ.6-9” เทียบวุฒิ “ป.ตรี-เอก”

สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และแวดวงสงฆ์ โดยการสนับสนุนของแม่กองธรรมสนามหลวง, แม่กองบาลีสนามหลวง และคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา มีสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน พยายามผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. … เพื่อรองรับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม แผนกบาลีและแผนกสามัญศึกษา

เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป วงการสงฆ์เริ่มขาดแคลนศาสนทายาทเนื่องจากมีผู้เข้ามาบวชน้อยลง

การมีผู้เข้ามาบวชมากๆ นอกจากจะช่วยเผยแผ่ศาสนาซึ่งเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไปแล้ว ยังช่วยจรรโลงโลกนี้ให้น่าอยู่ ด้วยว่ามีที่พึ่งทางใจให้กับสังคม

ด้วยเหตุนี้ พศ. และแวดวงสงฆ์จึงพยายามหามาตรการที่จะจูงใจให้ผู้ชายเข้ามาบวชเรียนมากขึ้น

แม้ไม่ได้บวชไปตลอดชีวิต แต่อย่างน้อยเมื่อลาสิกขาไปแล้ว ย่อมเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าด้วยว่ามีหลักธรรมในการดำเนินชีวิตและยังมีวุฒิทางการศึกษาติดตัวอีกด้วย

 

ดร.บุญเลิศ โสภา ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา (พศ.) เผยว่า สาระในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนอกจากจะช่วยจูงใจให้หนุ่มๆ เข้ามาบวชมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปและที่สำคัญยังเป็นเครื่องการันตีให้ครูผู้สอนนักธรรม นักบาลี และครูสอนแผนกสามัญศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความมั่นคงมากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ครูขาดความมั่นคง ขาดสวัสดิการและความก้าวหน้า

ทำให้เกิดปัญหาครูหมุนเวียนอยู่บ่อยครั้งเพราะมักลาออกไปสอบบรรจุเข้ารับราชการและไปประกอบอาชีพอื่น

แผนกสามัญศึกษาเรียนเหมือนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของ ศธ. ทุกประการ เพียงแต่เรียนวิชาการพระพุทธศาสนาด้วย โดยเมื่อจบหลักสูตร จะได้วุฒิ ม.ต้น และ ม.ปลาย เหมือนกับ ศธ. ส่วนแผนกธรรม เรียนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม พุทธประวัติ ธรรมวินัย สอบเป็นนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก

โดยในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนดให้พระที่สอบนักธรรมชั้นเอกได้ จะได้วุฒิ ม.3 หรือมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะต้องเรียนวิชาสามัญเพิ่มเติมตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด, ส่วนแผนกบาลี เรียนภาษาบาลี พระไตรปิฎก ซึ่งจะลึกซึ้งกว่าแผนกธรรม โดยจะมีการสอบประโยค 1-2 และเปรียญธรรม (ป.ธ.) 3-9 ประโยค

โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ ป.ธ. 3 ประโยค เทียบเท่ากับวุฒิ ม.6 หรือ ม.ปลาย

และในมาตรา 25 กำหนดให้ ป.ธ. 6-9 ประโยค เทียบเท่ากับวุฒิระดับอุดมศึกษา โดย ป.ธ.6 เทียบเท่ากับวุฒิปริญญาตรี, ป.ธ.8 เทียบเท่ากับวุฒิปริญญาโท และ ป.ธ.9 เทียบเท่ากับวุฒิปริญญาเอก

โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง พศ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปพร้อมกับปฏิทินการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองรองรับนั้น ศธ. ได้ให้ความเห็นว่าสำหรับมาตรา 25 นั้น พศ. และ ศธ. ควรต้องหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบในทางปฏิบัติ

“เนื่องจากการกำหนดวุฒิเทียบเท่ากับวุฒิปริญญาตรี โทและเอก นั้นจะต้องเป็นไปตามหลักสูตรและเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)”

 

ความจริงก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่ที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แนะนำว่าให้ พศ. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงบประมาณหรือ ศธ. ซึ่งสำนักงบประมาณ ในฐานะที่เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับผู้เรียนการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง 3 แผนกนั้น ไม่ขัดข้องกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คงเหลือเพียง สกอ. ที่ยังติดใจในบางประเด็น

ฉะนั้น หลังการประชุม ครม. ดังกล่าว พศ. จึงเร่งหารือร่วมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษาประกอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. … เพื่อรองรับมาตรา 25 ดังกล่าวซึ่งจะได้นำไปหารือร่วมกับ ศธ. ในลำดับต่อไป

หากได้รับความชอบเห็นชอบ ก็จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ระเบียบคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยการศึกษาวิชาสามัญตามเกณฑ์มาตรฐาน กกอ.” ขณะนี้ร่างกรอบแนวทางดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ

ดังนี้

 

การศึกษาระดับปริญญาตรี คือ การศึกษาวิชาสามัญสำหรับผู้สำเร็จ ป.ธ. 6 ประโยค ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกอ. หรือคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนด

การศึกษาระดับปริญญาโท คือ การศึกษาวิชาสามัญสำหรับผู้สำเร็จ ป.ธ. 8 ประโยค ต้องสอบวัดคุณสมบัติใน 3 รายวิชา ต่อไปนี้ 1.ศึกษาระเบียบวิธีวิจัย 2.สัมมนาพระไตรปิฎก 3.ศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา โดยมีเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษา ดังนี้

1. ต้องทำสารนิพนธ์เป็นภาษาบาลี เพื่อสอบวัดคุณสมบัติ 1 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายวิชาสัมมนาพระไตรปิฎก หรือรายวิชาศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา

2. ต้องเสนอโครงร่างสารนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายวิชาสัมมนาพระไตรปิฎก หรือรายวิชาศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้สอบคุณสมบัติ เพื่อขอสอบสารนิพนธ์ พร้อมความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ให้ถือปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม เรื่องการสอบวัดคุณสมบัติหลักสูตรบัณฑิตศึกษา

3. ต้องสอบผ่านสารนิพนธ์เป็นภาษาบาลี

และ 4. ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษจากสถาบันภาษา ตามที่ กกอ. หรือคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนด และเลือกสอบภาษาต่างประเทศอีก 1 ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาเยอรมัน หรือภาษาฝรั่งเศส

 

ส่วนการศึกษาระดับปริญญาเอก คือ การศึกษาวิชาสามัญสำหรับผู้สำเร็จ ป.ธ. 9 ประโยค ต้องสอบวัดคุณสมบัติใน 3 รายวิชา ต่อไปนี้

1. สัมมนาพระไตรปิฎก

2. ศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา

และ 3. สัมมนาพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่

โดยมีเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษา ดังนี้

1. ต้องทำดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาบาลี เพื่อสอบวัดคุณสมบัติ 1 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายวิชา 3 วิชา ดังกล่าว วิชาใดวิชาหนึ่ง

2. ต้องเสนอโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรายวิชาที่กำหนดให้สอบคุณสมบัติ เพื่อขอสอบดุษฎีนิพนธ์ พร้อมความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ให้ถือปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม เรื่องการสอบวัดคุณสมบัติหลักสูตรบัณฑิตศึกษา

3. ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษจากสถาบันภาษา ตามที่ กกอ. หรือคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมกำหนด และเลือกสอบภาษาต่างประเทศ อีก 1 ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาเยอรมัน หรือภาษาฝรั่งเศส

และ 4. ดุษฎีนิพนธ์ต้องได้รับการเผยแพร่ทางวารสารทางวิชาการที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้ ระยะเวลาการศึกษาทั้งสามระดับให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยการศึกษาระดับอุดมศึกษา

 

จากนี้ขึ้นอยู่กับ ศธ. ว่าจะเห็นด้วยกับสาระร่างกรอบแนวทางดังกล่าวที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเทียบโอน ป.ธ.6 ป.ธ.8-9 เท่ากับวุฒิปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ตามลำดับหรือไม่

ซึ่งต้องรอลุ้นต่อไปโดยล่าสุด พศ. ได้ทำเรื่องเสนอ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ. เพื่อลงนามส่งถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อหาข้อสรุปในส่วนของ ศธ. แล้ว

ทั้งนี้ ท่ามกลางความคาดหวังของแวดวงสงฆ์ที่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมคลอดออกมาโดยเร็ว