เหตุและผลที่ต้องเช็กบิล! ใครเบี้ยวไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง มีสิทธิอดต่อภาษีทะเบียนรถ

เช็กบิล ค้างจ่าย “ใบสั่ง-ค่าปรับ” ดีเดย์ 1 ก.ค. อายัดต่อทะเบียนรถ

เรื่องร้อนสัปดาห์นี้หนีไม่พ้น ใครเบี้ยวไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง มีสิทธิอดต่อภาษีทะเบียนรถ

หลังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เดินหน้าลิงก์ระบบตรวจใบสั่งค้างจ่ายออนไลน์ ดีเดย์ 1 กรกฎาคมนี้ เจอปุ๊บระงับต่อภาษีทะเบียนรถรายปี มีผลย้อนหลัง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2561

ข้อมูลจะขึ้นในระบบ มีผลอายัดชำระภาษีทันที และจะได้ป้ายชั่วคราวแบบรายเดือนใช้แก้ขัด จ่ายค่าปรับใบสั่งเมื่อไหร่ค่อยมาต่อ ถึงจะให้ป้ายประจำปี แต่หักระยะเวลาที่ล่าช้า

เมื่อกรรมคือผลของการกระทำ ผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรย่อมถูกใบสั่ง ขณะที่ยังมีช่องโหว่ของกฎหมายเปิดให้ไหลรอดไปได้ เมื่อใบสั่งมีอายุความแค่ 1 ปี ถ้าไม่ถูกยึดใบขับขี่ เพียงทิ้งไว้เฉยๆ ก็ไม่ถูกลงทัณฑ์ สำหรับคนถูกใบสั่ง ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ก็คงนั่งยิ้มกริ่ม

แต่งานนี้เย็นใจต่อไม่ได้แล้ว มีการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออุดรอยรั่วนี้

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา กองบัญชาการศึกษา (รอง ผบช.ศ.) ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงถึงยาแรงที่ถูกดีไซน์ ให้ขานรับใบขับขี่อัจฉริยะและระบบจัดเก็บใบสั่งออนไลน์ หรือโปลิศทิกเก็ตแมเนจเมนต์ (พีทีเอ็ม) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อลิงก์ข้อมูลใบสั่งระหว่างตำรวจกับขนส่งให้ไปต่ออย่างไม่สะดุดว่า ตอนนี้ทั้งตำรวจกับกรมการขนส่งทางบกได้เชื่อมระบบดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มทดสอบการใช้งานแบบออฟไลน์ โดยยังไม่มีการสั่งระงับต่อภาษีประจำปี ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อสุ่มหาตัวอย่างผู้ขับขี่รถยนต์ที่กระทำผิดได้รับใบสั่งและนำไปต่อภาษีรถว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ก่อนเร่งแก้ไข ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหา

ส่วนกรณีมีการทำสัญญาซื้อขายรถและเปลี่ยนมือเจ้าของคนใหม่ กฎหมายระบุให้ดำเนินการแล้วเสร็จใน 15 วัน หากนายเอขายรถให้นายบี โดยมีใบสั่งค้างชำระ นายเอก็ต้องไปจัดการเคลียร์ตัวเองเช่นกัน

ในประเด็นนี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผูบัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลงานด้านจราจร ขยายความเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีข้อมูลรถค้างชำระค่าปรับครบแล้ว เพียงแต่ยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ต้องปรับปรุง เช่น ข้อมูลของรถกรณีที่ยังแจ้งโอนรถไม่แล้วเสร็จ เกิดค่าปรับค้างจ่ายจากเจ้าของรถเดิม ซึ่งเจ้าของรถใหม่สามารถขออุทธรณ์คำสั่งอายัดได้ตามกฎหมาย แต่ยังอยู่ระหว่างรอทดสอบว่าระบบจะตอบสนองอย่างไร จะปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ทันทีหรือต้องใช้ระยะเวลารายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากแค่ไหน

ส่วนขั้นตอนการทดลองใช้งานขณะนี้ พล.ต.ต.เอกรักษ์บอกว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกรับชำระค่าปรับจากผู้ถูกใบสั่งค้างจ่ายไปแทนตำรวจแล้ว จะรวบรวมข้อมูลรายสัปดาห์ก่อนส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมเงินค่าปรับ แต่เมื่อเปิดใช้งานเต็มรูปแบบตามกำหนดจะเป็นระบบออนไลน์ เมื่อชำระค่าปรับแล้วจะแสดงในระบบทันที ไม่ต้องรอนำส่ง

และหากผู้ขับขี่ต้องการปฏิเสธไม่ได้กระทำผิดกฎจราจร ทางตำรวจจะไม่ยึดใบขับขี่ แต่จะให้ไปยื่นคำร้องแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งได้แจกเอกสารแบบกรอกที่ขนส่งทั่วประเทศ และแนบหลักฐานสำเนาใบสั่ง เล่มทะเบียนและรูปถ่ายรถส่งไปรษณีย์ไปยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งเพื่อตรวจสอบความถูกต้องใน 15 วัน ในระหว่างนี้ยังสามารถต่อภาษีทะเบียนรถได้ตามปกติ แต่ทางขนส่งจะออกเอกสารชั่วคราวอายุ 30 วัน ใช้แทนป้ายกลม จากนั้นเมื่อตรวจสอบและชำระค่าปรับที่โรงพักจึงจะนำหลักฐานค่าปรับมาแสดงเพื่อขอรับป้ายภาษีจริง

“นอกจากนี้ ทางตำรวจและกรมการขนส่งทางบกยังได้พัฒนาเว็บไซต์สำหรับตรวจสอบใบสั่งค้างจ่ายร่วมกันกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งกำลังเร่งพัฒนาให้เปิดใช้งานได้ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับช่องทางชำระค่าปรับอื่นๆ จะสามารถจ่ายเงินค่าปรับแบบออนไลน์ได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร และผ่านระบบเอทีเอ็ม ขณะที่แอพพลิเคชั่นใบขับขี่อัจฉริยะของกรมการขนส่งทางบกจะไม่ถูกนำมาใช้ตรวจสอบค่าปรับดังกล่าวได้”

พล.ต.ต.เอกรักษ์บอกอีกว่า ที่ผ่านมาทางตำรวจได้เดินหน้าพัฒนาระบบใบสั่งออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน จากสถิติใบสั่งค้างชำระในช่วงปี 2561 มีสูงถึง 16 ล้านใบ แต่ยอดชำระเพียง 16.5% หรือประมาณ 2.6 ล้านใบ ขณะที่ยอดใบสั่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมากว่า 5.3 ล้านใบ มียอดชำระประมาณ 10% จากทั้งหมด หรือประมาณ 530,000 ใบเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกประการ กล่าวคือ ส่วนแบ่งค่าปรับที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนไม่น้อยต่างจับจ้องกล่าวหาว่าตำรวจทำคะแนนแจกใบสั่งหรือไม่ พล.ต.ต.เอกรักษ์แจกแจงว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้จะเสนอที่ประชุมให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณายกเลิกเงินรางวัลค่าปรับในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกใบสั่ง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยเปลี่ยนเป็นเงินกองทุนพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์แทน ทางกรมการขนส่งทางบกจะไม่ได้เงินจากส่วนนี้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการสุ่มทำแบบสอบถามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกว่า 7,000 นาย และประชาชนอีกจำนวนมาก พบว่ากว่า 80% เห็นด้วยกับการยกเลิกเงินรางวัลดังกล่าว

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งค่าปรับแต่เดิมที่ระบุไว้ตามมาตรา 141/1 ของ พ.ร.บ.จราจรทางบก เงินค่าปรับ 50% จะถูกแบ่งให้กับกรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 50% แบ่งให้กับตำรวจที่ออกใบสั่ง 25% ถือเป็นค่าเสี่ยงภัยในการทำงาน จำกัดเดือนละสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หากเกินจะตัดเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน อีก 20% แบ่งเป็นเงินสนับสนุนงานจราจร และอีก 5% ตกเป็นของแผ่นดิน

ดังนั้น “ขาดองใบสั่ง” ทั้งหลายต้องรีบไปชำระค่าปรับแล้ว

แต่แก้จุดสำคัญที่สุดคือ จิตสำนึกการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร