ธงทอง จันทรางศุ | กลุ้ม-ห่วงใย มหาวิทยาลัยไทย

ธงทอง จันทรางศุ

ช่วงเวลานี้ข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์นอกจากความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองแล้ว

เรื่องที่ยึดครองพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในมุมเล็กๆ ก็คือเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องเด่นของสังคมไทยมาช้านาน

ใครสอบเข้าคณะไหนได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง คณะนี้คะแนนสูงกว่าคณะโน้น

แล้วในที่สุดเราก็จะได้เห็นโรงเรียนบางโรงเรียนยกป้ายไวนิลขึ้นหน้าโรงเรียนด้วยความภาคภูมิใจว่านักเรียนที่จบชั้นมัธยมของตนสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะแพทย์ คณะวิศวะได้คะแนนเป็นลำดับต้นๆ

เรื่องเช่นนี้เป็นวัฏจักรที่พบเห็นได้เป็นประจำทุกปี

ถ้ามองดูอย่างผิวเผินแล้ว เราก็อาจจะรู้สึกว่าโลกใบนี้ยังเหมือนเดิม

การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนวิธีการไปอย่างไรก็ตาม จากระบบที่เรียกว่าการสอบเอ็นทรานซ์ในสมัยเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน เปลี่ยนมาเป็นการสอบแอดมิชชั่นในยุคต่อมา แล้วมาเป็นระบบทีแคสในปัจจุบัน

เด็กนักเรียนที่เรียนจบมัธยมก็ต้องแข่งขันกันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่ง “มีที่นั่งจำกัด” เหมือนเดิม

แต่ช้าก่อนท่านผู้ชม! ในฐานะที่ผมยังวนเวียนอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยในหน้าที่ต่างๆ ผมสังเกตเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในมุมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือสูงขึ้นไปกว่านั้น ในสายตาของผู้บริหารการศึกษาของประเทศ ความกังวลที่เพิ่มพูนขึ้นตามวันเวลา

มีประเด็นให้ห่วงใยทั้งเรื่อง “ปริมาณ” และ “คุณภาพ”

เราลองมาดูเรื่องปริมาณก่อนไหมครับ ในยุคที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน มหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐมีจำนวนน้อย มหาวิทยาลัยที่เป็นของเอกชนก็เพิ่งเริ่มก้าวเดิน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมอยากเรียนกฎหมาย ทางเลือกของผมเมื่อพุทธศักราช 2516 ก็มีอยู่เพียงแค่สามแห่ง ถ้าไม่เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปริมาณเด็กที่เข้าสนามสอบแข่งขันในแต่ละปีมีจำนวนหลายแสน ในขณะที่มหาวิทยาลัยสามารถรับเด็กนักเรียนเข้าเรียนได้ในจำนวนจำกัด

หมายความว่าจะต้องมีคนผิดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบปิดหรือจำกัดจำนวนรับนับหมื่นนับแสนคน

ท่ามกลางค่านิยมของเมืองไทยที่ถือว่าใบปริญญาบัตรมีความสำคัญและเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่ความสำเร็จของชีวิต

การถือกำเนิดเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยที่ไม่จำกัดจำนวนรับเช่นมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดมีขึ้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคมเวลานั้น

แต่เราลองมาดูสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบันกันบ้าง

จากยุคสมัยที่เรียกว่าเบบี้บูม แต่ละปีมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยหนึ่งล้านคน

ทุกวันนี้ตัวเลขลดลงไปดูเหมือนจะอยู่ที่ประมาณ 600,000 คนเท่านั้น

ไม่ต้องดูมาถึงระดับมหาวิทยาลัยหรอกครับ เพียงแค่โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการที่แต่ก่อนจำเป็นต้องเปิดอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

วันนี้ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ (ที่ยังเถียงกันไม่เสร็จว่าจะเรียกว่าอะไรดี) ก็เอามือกุมขมับไปตามๆ กัน เพราะมีโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่เพียงแค่สิบคนหรือยี่สิบคน ในชั้นเรียนตั้งแต่ประถมปีที่หนึ่งถึงชั้นประถมปีที่หก

ครั้นจะตัดสินใจยุบโรงเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีแรงเสียดทานและผลกระทบหลายอย่างที่จะตามมา

กลายเป็นโรคกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปเสียอย่างนั้น

แล้วมาถึงระดับมหาวิทยาลัยจะรอดไปจากปัญหาชนิดนี้หรือครับ

ขณะที่เด็กนักเรียนมีจำนวนน้อยลง เรากลับมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ

เฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐก็นับร้อยแห่ง มีมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมาก

และที่เด็ดยิ่งไปกว่านั้นคือมีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามาจัดการเรียนการสอนในประเทศเราด้วย

มีใครสังเกตบ้างไหมครับว่า ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปีนี้ หลายสถาบันและหลายคณะมีการรับรอบสองรอบสาม

เพราะรับเท่าไหร่ก็ไม่เต็มจำนวนเสียที

ตามหลักดีมานด์ซัพพลายเวลานี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ และผู้ซื้อคือนักเรียนครับ ผู้ขายคือมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ต่อรองอะไรได้มากนัก

เว้นเสียแต่ว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีบุญเก่า เช่น มีชื่อเสียงมาแต่ดั้งเดิมพอจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนสนใจได้เป็นพิเศษ

ไม่ต้องดูอื่นไกล เพียงแค่กลับมาเปรียบเทียบเรื่องคณะนิติศาสตร์จากเดิมที่มีเพียงแค่สามแห่ง ปัจจุบันมีกี่สิบแห่งแล้วผมก็นับไม่ถูกไม่ถ้วนเหมือนกัน รายงานข่าวแจ้งว่าปีนี้ก็มีเปิดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งด้วย

ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วผมได้ข่าวว่า ในคณะนิติศาสตร์ที่มีที่นั่งสามารถรับนักศึกษาได้ร้อยกว่าคน มีคนสมัครเข้ามาเรียนเพียงแค่ 20 คน

เมื่อถามต่อไปว่าแล้วมิขาดทุนหรือ ก็ได้รับคำตอบว่าขาดทุนจากคณะนี้ก็ต้องไปนำรายได้มาจากคณะอื่นมาถัวกันไป

อีกข้อหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญคือการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศก็เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งของคนยุคนี้

จริงอยู่ครับว่าคนที่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีฐานะในทางเศรษฐทรัพย์ตามสมควร

แต่เราก็จะละเลยประเด็นนี้ไปเสียไม่ได้ ในขณะที่ในมุมกลับกัน การจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเรายังไม่มีนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในบ้านเราในจำนวนที่จะพูดได้เต็มปากว่าเราก้าวเข้าสู่ระดับสากลได้แล้ว

ที่เห็นอยู่มากหน่อยก็เป็นนักศึกษาจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ เช่น เมียนมา หรือภูฏาน

กลุ้มใจกับเรื่องปริมาณแล้วเรามากลุ้มใจกันต่อเรื่องคุณภาพบ้าง

ถ้าไม่กลัวความจริงก็ต้องพูดความจริงกันว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยของเรากำลังพบกับความท้าทายที่สำคัญ นั่นคือประเด็นเรื่องคุณภาพ

ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยรุ่นเก่ากับมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ ความสามารถในการปรับตัวเพื่อแข่งขันในวงวิชาการ การเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นเวลาสี่ปีหรือหกปีไม่สามารถทำให้บัณฑิตของเราเรียนรู้ทุกอย่างของศาสตร์นั้นได้

แต่เราต้องทำให้บัณฑิตของเรามีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะไปแสวงหาความรู้ที่มีอยู่อีกมากมายและที่จะเกิดเพิ่มพูนขึ้นในวันข้างหน้าได้ด้วยตัวเขาเอง

อายุเฉลี่ยของผู้ที่จบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของเราอยู่ที่ประมาณ 22 ปี

ขณะเดียวกันกับที่สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงวัย มีความเป็นไปได้มากที่บัณฑิตเหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปอีก 60 ปีหลังจากจบการศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วเป็นอย่างน้อย

ผมเดาไม่ถูกจริงๆ ครับว่าโลกอีกหกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพียงที่ผ่านมาหกสิบกว่าปีของผมก็เปลี่ยนแปลงมาก

จนหัวใจอ่อนๆ ของผมแทบจะรับไม่ไหวแล้ว

ผมเชื่อว่าอัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงจะเพิ่มสูงขึ้น คนไทยที่เป็นระดับ “บัณฑิต” ตามที่แผ่นกระดาษรับรองวุฒิไว้ ต้องพร้อมที่จะอยู่กับโลกในวันข้างหน้า และพร้อมที่จะพาเมืองไทยของเราก้าวเดินไปพร้อมกับกระแสโลก แต่ในขณะเดียวกันกับที่เราก็ต้องรักษาความเป็นตัวตนของเราด้วย

งานช้างงานหินนะครับ ทั้งเป็นงานใหญ่และงานยาก

วันชื่นคืนสุขของชีวิตมหาวิทยาลัย ที่สนุกสนานตื่นเต้นไปกับงานรับน้องและพิธีกรรมต่างๆ กำลังหดสั้นลง หรือเปล่า “บางที” อาจจะหมดเวลาลงแล้วด้วยซ้ำ

ตื่นจากความฝันมาพบความจริงกันได้แล้วครับ

ว่าแต่งานรับน้องปีนี้ไปเที่ยวทะเลที่ไหนดีครับ เผื่อว่าพี่แก่ๆ อย่างผมจะตามไปเที่ยวบ้าง

อย่าลืมส่งข่าวกันบ้างนะ