จรัญ มะลูลีม : ความทันสมัยแบบฉบับอิสลามอิหร่าน

จรัญ มะลูลีม

อีกนัยหนึ่งคือความทันสมัยไม่ได้หมายถึงการเป็นชาวตะวันตกหรือคริสเตียน

แต่หมายถึงการมีแนวโน้มที่เป็นวิทยาศาสตร์

ในทำนองเดียวกัน ความทันสมัยไม่ได้หมายถึงการทำตามแฟชั่นตะวันตกอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปในหมู่ผู้คนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก

สำหรับอิมามโคมัยนีแล้ว มุสลิมต้องมีทั้งสองอย่างคืออิสลาม และวิทยาศาสตร์ หรือทันสมัยแต่ไม่ใช่ตะวันตก

อิมามไม่สับสนในเรื่องนี้เพราะอัล-กุรอานไม่ใช่ไบเบิล

อัล-กุรอานไม่ขัดแย้งหรือต่อต้านวิธีการของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อความรู้

โดยวิทยาศาสตร์นั้นมุ่งอยู่ที่การแสวงหาความจริงที่เป็นทั้งหลักการและวิธีการ

ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับทรรศนะของอัล-กุรอานในเรื่องความรู้ที่สนับสนุนการสอบถาม สอบสวนและการใคร่ครวญซึ่งไม่เหมือนกับตะวันตกในบางยุคสมัยที่มีการต่อต้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกันระหว่างการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมที่ผ่านมา มาจากทั้งภายนอกและภายใน

ภายนอกก็เนื่องมาจากการครอบครองทางการเมือง และการได้รับความดึงดูดใจจากลัทธิวัตถุนิยมที่เข้มแข็งของตะวันตก ภายในก็เนื่องมาจากความหยุดนิ่งทางการศึกษาของมุสลิม

น่าเสียใจว่ามุสลิมรับเอาทัศนคติของตะวันตกมาอย่างมืดบอดและลอกเลียนเหตุผลในเรื่องนี้มาทั้งเรื่องภายนอกและภายใน

 

อิมามเชื่อว่าระบบมหาวิทยาลัยของอิหร่าน สามารถเยียวยาได้ ถ้าความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เติมเต็มด้วยหลักศีลธรรมอิสลาม

ดังนั้น สำหรับอิมามแล้ว วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผสมกับศีลธรรมของอิสลามจะเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูคุณค่าของวัฒนธรรมอิสลาม

สิ่งนี้จะเป็นผลให้มีการผลิตมุสลิมใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิธีการทางวิทยาศาสตร์และความทันสมัย แต่ต้องมีความมั่นใจในแนวทางของศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเขาและเธออีกด้วย

ในความคิดของอิมามมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นอิสลามในลักษณะที่ว่าวิชาที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องเชิญชวนสู่ความจำเป็นของชาติและเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ชาติ หลักสูตรที่ใช้กันอยู่ที่มหาวิทยาลัยเวลานี้ก่อให้เกิดแรงโน้มเอียงของคนหนุ่มสาวไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ อีกส่วนหนึ่งโน้มเอียงไปสู่ตะวันตก

อิมามพูดถึงการศึกษาดังกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้ชาวมุสลิมอยู่ในสภาพที่พึ่งพาอยู่เรื่อยไปและในการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสลามต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตอิสระ เป็นอิสระจากตะวันตกและตะวันออก

ดังนั้น ประเทศมุสลิมก็จะเป็นประเทศเอกราชพร้อมกับมีมหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระและมีวัฒนธรรมอิสลามของตัวเองด้วยการทำตามข้อแนะนำของอิมาม

รัฐบาลของอิหร่านได้มีกระบวนการทำมหาวิทยาลัยให้เป็นอิสลาม มีการสนับสนุนการสัมมนาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาและวิจัยด้วยจุดหมายที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมอิสลามอย่างมีพลวัต

ด้วยแนวทางเช่นนี้การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่านซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการชี้ทางให้แก่อุมมะฮ์ (ประชาชาติมุสลิม) จึงได้กลับสู่รากฐานเดิม ซึ่งครั้งหนึ่งถูกทำให้มืดมิดลงไป อันเนื่องมาจากการใช้กระบวนการศึกษาตามวัฒนธรรมตะวันตก

สำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะชาวอิหร่าน การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามมีส่วนอนุเคราะห์อย่างสำคัญต่อความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมแก่หนุ่มสาวชาวมุสลิมจำนวนมากอันเป็นความมั่นใจที่เกือบจะสูญสิ้นไปแล้วระหว่างทศวรรษ 1970

อิมามโคมัยนีได้เตือนว่าความรู้และวัฒนธรรมมิได้เป็นสมบัติของมหาอำนาจทางการเมืองของฝ่ายใด หรือชุมชนใด แต่เป็นของมนุษยชาติทั้งมวล และทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนอนุเคราะห์ต่อความรู้หรือวัฒนธรรมเหล่านี้

ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของชุมชนจะต้องมาจากปัญญาที่เป็นอิสระ ศีลธรรมที่เข้มแข็งและวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ

แต่ไม่ใช่ความเข้มแข็งที่มาจากการเมืองเพียงอย่างเดียว

 

การเมืองกับอิสลามในทัศนะของอิมามโคมัยนี

ในการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของนักอิสลามนิยมในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและบทบาทของสำนักคิดชีอะฮ์ต่ออิสลามการเมืองของอิหร่านที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ประการแรก เราต้องเข้าใจพื้นฐานการตั้งสมมติฐานที่ว่าอิสลามได้สร้างแบบอย่างทางการเมืองขึ้นมา และการตั้งสมมติฐานนี้ได้เปลี่ยนผ่านศรัทธาที่ครอบคลุมค่านิยมทางจิตวิญญาณไปสู่ปฏิบัติการทางการเมืองร่วมสมัย

เป็นครั้งแรกที่การปฏิวัติของอิมามโคมัยนีได้มอบข้อสันนิษฐานในรูปแบบที่เป็นกลไกการทำงานและในฐานะที่เป็นรูปแบบของทฤษฏีการเมืองของรัฐ

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีความรอบคอบเมื่อพูดถึงอิมามเพราะว่าเรามิได้พูดถึงอิสลามแบบกลับสู่ฐานราก (Islamic fundamentalism) อย่างที่ตะวันตกชอบเรียกขาน

โดยพื้นฐานทุกศาสนามีฐานราก นั่นคือทุกศาสนาขึ้นอยู่กับการแสดงออกถึงสัจธรรมในการยึดตามตัวอักษรที่มาจากคัมภีร์ที่ได้รับการเปิดเผย สิ่งที่เราพูดกันอยู่ในที่นี้คือศาสนาในฐานะที่เป็นอุดมการณ์

อุดมการณ์นั้นประกอบไปด้วยการระบุถึงการมีเหตุผลอันสมควรสำหรับระเบียบทางการเมืองที่ต้องการ มันแสดงให้เห็นถึง “ความถูกต้อง” ดังนั้น จึงมอบหมายความรู้สึกแห่งวัตถุประสงค์ต่อกิจการต่างๆ ทางการเมืองในเรื่องของนโยบาย

และท้ายที่สุดคือเรื่องของอุดมการณ์เข้ามาเสริมแต่งภาพที่เป็นผลที่ตามมาในทางประวัติศาสตร์

 

ในฐานะของอุดมการณ์ ลัทธิโคมัยนีได้สนองตอบบรรทัดฐานเหล่านี้ แต่อิมามก็มิได้ดำรงอยู่ในความว่างเปล่า หากแต่แบบอย่างซึ่งอิมามทำให้เป็นอุดมการณ์และเป็นอิสลามการเมืองนั้นให้ความสว่างทางปัญญาแก่รากเหง้าของแนวคิดชีอะฮ์ อันเป็นพื้นฐานทางศาสนาของชาวอิหร่านภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของชาวเปอร์เซียในอิสลาม

จักรวาลทางศีลธรรมเป็นแบบแผนของการกระทำที่มาจากการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมในทุกกิจการที่พระองค์ทรงสร้าง สิ่งนี้มีนัยว่าการเมืองและข้อกำหนดทางศีลธรรมไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะว่าข้อกำหนดทางศีลธรรมนั้นมาจากแหล่งเดียวกันและเป็นรากฐานของสังคมที่ยุติธรรม

ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน W.M.Watt, Islamic Political Thought , Edinburgh : Edinburgh University Press, 1908 และ Hamid Enayat, Modern Islamic Political Thought, Austin : University of Texas Press, 1982

 

อัล-กุรอานในฐานะที่เป็นวิวรณ์จากพระผู้เป็นเจ้าได้วางข้อกำหนดสำหรับชุมชนของพระองค์เอาไว้และแสดงรัฐธรรมนูญทางสังคมและการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของเวลาหรือสภาพแวดล้อม

แบบแผนทางการเมืองอื่นๆ ล้มเหลว เพราะแบบแผนดังกล่าวสร้างมาจากปัญญาของมนุษย์ที่ผิดพลาดโดยมิได้อ้างถึง “หนทางที่ถูกต้อง” ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงวิวรณ์ไว้

แต่มุสลิมก็อาจจะ “ละเลย” ในการรับรู้และมิได้นำเอาบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามาใช้ก็ได้

และนี่อาจทำให้พวกเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลในเรื่องของการฉ้อฉลจากผู้ที่มิได้เป็นมุสลิม

การต่อต้านความรู้สึกไร้ศีลธรรมนั้นเป็นแก่นกลางอุดมการณ์ของอิมามโคมัยนี

สำหรับอิมามแล้วมันเป็นสัจธรรมที่ว่าจักรวรรดินิยมตะวันตกได้นำมาซึ่งความเสื่อมถอยทางศีลธรรมในโลกมุสลิมโดยผ่านเศรษฐกิจ การเมือง และการหาประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ที่ว่าด้วยแบบแผนที่เป็นกลยุทธ์จากยุโรป

ได้ขยายไปถึงสหรัฐจากการวางแผนร่วมกันต่อต้านแบบแผนทางศีลธรรมของอิสลาม

 

ในการเผชิญหน้ากันทางประวัติศาสตร์ระหว่างความดีและความชั่วนั้นอิมามมีความคิดว่าอิสลามได้หาคำตอบให้กับการท้าทายของการเอารัดเอาเปรียบไว้สองแนวทางด้วยกัน

ประการแรก ชาวมุสลิมเป็นผู้รับผิดชอบในการทำให้สังคมของพวกเขาบริสุทธิ์ตามหลักการของการญิฮาดภายใน (ญิฮาด อัด-ดาคอลี – Jihad al-dakhali) ในความหมายนี้ญิฮาดหมายถึง “การต่อสู้ดิ้นรน” เพื่อสัจธรรมในสังคมที่ฉ้อฉลด้วยการใช้ความยุติธรรมและสังคมที่สมบูรณ์

ดังนั้น ลัทธินิยมตะวันตกในทุกรูปแบบจะต้องถูกขจัดออกไปจากอิหร่าน

ประการที่สอง ความคิดในเรื่องสังคมที่ยุติธรรม จะต้องถูกนำมาใช้ในโลกมุสลิมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของประเทศต่างๆ ซึ่งรัฐบาลแสดงให้เห็นว่ามีความโน้มเอียงไปสู่การปกครองแบบโลกวิสัยของตะวันตก หรือมีความสัมพันธ์ทางทหารและทางเทคโนโลยีกับตะวันตก

ในที่นี้อิมามมีความคิดว่าญิฮาดเป็นแบบอย่างภายนอกของความปรองดอง (ญิฮาด อัลคอริญี – Jihad al-khariji) สำหรับอิมามชัยชนะของอุดมการณ์อิสลามเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกหนีได้ อิสลามจะอยู่ในสถานที่ที่ถูกต้องในการเป็นแนวหน้าของโลกวัฒนธรรม

อุดมการณ์ของอิมามโคมัยนีเป็นอุดมการณ์ที่ใช้หลักจักรวาลวิทยาของลัทธิมานี (Manichean) นั่นคือพลังแห่งความดีและความชั่ว

อย่างไรก็ตาม พลังต่างๆ เหล่านี้มีอยู่อย่างถาวรในระบอบการเมืองโลกไม่ว่าเราจะมองความขัดแย้งระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์หรือลัทธิทุนนิยม ระหว่างประชาธิปไตย เสรีนิยมหรือฟาสซิสต์ ระหว่างความร่ำรวยของฝ่าย “เหนือ” และความขาดแคลนของฝ่าย “ใต้” หรือระหว่างมหาอำนาจกับโลกที่สาม

ผลก็คือการกำหนดหน้าที่ต่อผู้ศรัทธาเพื่อปรับปรุงความยุติธรรม