ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะลำบากยากเย็นมากยิ่งขึ้น ?

ปากท้องยุคการเมืองไม่ลงตัว

ความลงตัวทางการเมืองอันจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นความหวังของการมีศักยภาพในการบริหารประเทศ

ดูจะห่างไกลกับการเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเรา

และนั่นเป็นสภาวะที่นำมาสู่ความเสี่ยงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะลำบากยากเย็นมากยิ่งขึ้น

เป็นที่รับรู้กันอยู่หลายปีที่ผ่านมานี้ การดำเนินชีวิตของคนไทยที่จะให้เป็นไปอย่างปกติ มีกิน มีใช้ พอไม่ให้เดือดร้อนมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะคนระดับล่างที่หาเช้ากินค่ำ

การจัดระเบียบเมืองที่ทำให้ถนนและทางเท้าไม่ระเกะระกะ แม้จะดูดีและถูกใจบางคนที่มีความรู้สึกนึกคิดไปทางเจ้าระเบียบ

แต่หลายกรณีคือการทำลายอาชีพของคนระดับดิ้นรนหากินในเมืองใหญ่

สารพัดโครงการสาธารณูปโภคที่เร่งอนุมัติแบบไม่สนใจถึงผลกระทบสร้างปัญหาการจราจรในเมืองหลวงหนักหนาสาหัส รถติดวินาศสันตะโรทั่วกรุง

พร้อมๆ กับการจำกัดเวลาเปิดกิจการสถานบันเทิง และการตั้งด่านตรวจเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ร้านรวงต้องปิดกันเป็นแถว

การทำมาหากินฝืดเคืองไปทั่ว

ทว่าท่ามกลางเสียงบ่นถึงชีวิตที่มองไม่เห็นหนทางที่จะประคองให้อยู่ได้

ผู้บริหารประเทศที่รับผิดชอบปัญหาปากท้องของประชาชนยังพล่ามถึงเศรษฐกิจในภาพรวมที่ดีขึ้นอยู่ไม่ขาดปาก

ดังว่าชีวิตที่ไม่ดีของประชาชนนั้น เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไร้ความสามารถในการทำมาหากินของคนคนนั้นเอง

ยังอวดความรู้ความสามารถด้วยเสียงอันดัง เพื่อกลบคำติฉิน แบบไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น

เพียงแต่ในที่สุดแล้วไม่มีทางที่ใครจะหนีความจริงพ้น

กำลังซื้อที่ขาดหายกระทั่งต้องแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินสารพัดวิธีที่เพื่อกระตุ้นให้วงจรเศรษฐกิจพอกลับมาหมุนได้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ จะไม่ได้ผลตามที่คาด

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ “ความมั่นใจ” ที่ในโอกาสที่จะหารายได้น้อยลงไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดสภาพ ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าจ่าย เก็บเงินไว้ก่อนปลอดภัยกว่า

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562” ดูจะสะท้อนความมั่นใจดังกล่าวได้ไม่น้อย

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) ซึ่งรัฐบาลหยิบมาใช้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย

ปรากฏในคำถามที่ว่าจะไปใช้จ่ายตามมาตรการนี้หรือไม่ คำตอบร้อยละ 64.35 บอกว่าไม่ไป

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อถามว่า อยากให้มีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ร้อยละ 96.17 ตอบว่าไม่มีมาตรการที่อยากให้เพิ่มเติม

ซึ่งถ้าจะอธิบายว่ามาตรการที่พยายามสร้าง พยายามทำ ไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาได้ก็คงไม่ผิด

และเมื่อความกล้าที่จะใช้จ่ายไม่เกิดขึ้น

แรงเหวี่ยงของกำลังซื้อที่จะทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนไปได้จะยังคงมีปัญหา

และนั่นย่อมหมายถึงคำถามจะกลับมาหาคำตอบที่ “ความลงตัวทางการเมือง”