ประชา สุวีรานนท์ : เสือบินในทิเบต (จบ)

ตอน 1

บทบาทของทิเบตในการเมืองโลกน่าสนใจตรงที่มีความขัดแย้งกับจีนมาเนิ่นนาน แต่เดิม จีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของตน และชาติอื่นๆ ก็พยายามไม่ยุ่งกับกรณีนี้

จะมียกเว้นก็คือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออังกฤษและสหรัฐจะดึงทิเบตเข้าเป็นพวก เพราะต้องการเส้นทางส่งอาวุธให้แก่รัฐบาล เจียง ไค เช็ก

ในยุคสงครามเย็น ทิเบตมีฐานะคล้าย “ลูกกำพร้า” เพราะทั้งๆ ที่จีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐก็ยังเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญมากนัก และในเมื่อจีนถือว่าเอกราชของประเทศนี้คือการขบถ จึงดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อไป

สหรัฐเคยส่งกำลังเข้าไปช่วยฝ่ายขบถที่ต่อต้านจีนบ้าง แต่หลังจากนั้นก็ละเลยเรื่อยมา เช่น ไม่ให้วีซ่าแก่ประมุขและไม่ยอมรับฐานะทางการเมืองของประเทศ

แต่การลุกขึ้นสู้ครั้งนั้นทำให้ทิเบตเป็นข่าวไปทั่วโลก และส่งผลให้ทะไลลามะต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ซึ่งตอนแรกก็ประทับอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ตอนเหนือของอินเดีย

และทำตัวเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต รวมทั้งดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง ระหว่างนั้นสหรัฐก็ยังเมินเฉย

ต่อมา เมื่อหันมาชูประเด็นสิทธิมนุษยชน จึงให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มากขึ้น

02-26mission-copy

ในการ์ตูน ซึ่งเริ่มขึ้นหลังสงครามโลกไม่นาน ชาวทิเบตรู้ว่ามหาอำนาจของโลก ทั้งจีน รัสเซีย และอเมริกา กำลังต้องการหาประโยชน์จากตน จึงไม่ไว้ใจชาวต่างชาติและเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นของของฝ่ายใด และอาศัยว่าอยู่ในที่ลึกลับและเข้าถึงยาก จึงปิดประเทศอย่างจริงจัง

ก่อนจะหาทางเข้าไปได้ สามเกลอจึงต้องปลอมตัวเป็นชาวออสเตรเลีย เปิดบริษัทการบินขึ้นที่เมืองดาร์จีลิง ซึ่งอยู่ในเขตอินเดียและใกล้เชิงเขาหิมาลัย

ขณะเดียวกัน ฝ่ายศัตรูซึ่งมาจากประเทศไหนไม่รู้แน่ (แต่ดูคล้ายโซเวียต) ก็เคลื่อนตัวเข้ามา ฝ่ายนี้ต้องการตัวนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเช่นกัน

พวกเขาเริ่มด้วยการส่งสายลับมาทำวินาศกรรมเครื่องบินของบั๊ก

เมื่อเข้าสู่ตอนที่สอง คือ ราชการในแดนนรก บั๊ก แดนนี่ บินเข้าไปในเขตทิเบตแต่หายสาบสูญไป และเมื่อเพื่อนอีกสองคนตามไปช่วยก็ถูกจับตัวไว้ พระทิเบตรู้ว่าชาวต่างชาติทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐ กำลังต้องการบุกประเทศ เขาจึงไม่ไว้ใจเสือบินและเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นของของฝ่ายใด

แต่เนื่องจากฝ่ายศัตรูบุกเข้าจับตัวทะไลลามะ ซึ่งขณะนั้นมีอายุไม่เกินห้าขวบ และต้องการแลกตัวกับนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน

พระผู้ใหญ่ตกใจมาก จึงยอมปล่อยให้เสือบินคนหนึ่งนำเครื่องบินขึ้นเพื่อออกไปตามกษัตริย์องค์น้อยกลับมา

ซันนี่รับหน้าที่นี้ แต่เพื่อนอีกสองคนถูกเก็บไว้เป็นตัวประกัน ก่อนออกบิน เขาถูกบั๊กสั่งว่าจุดมุ่งหมายคือ ฟอน บรานซ์ ซันนี่ต้องพาหนีออกไปให้ได้ แม้จะต้องทิ้งเพื่อนก็ตาม ผ่านการต่อสู้ทางอากาศกับฝ่ายศัตรู ท่ามกลางหิมะ ความหนาวเย็น หุบเขาลึก และอากาศที่เบาบาง ซันนี่บุกเข้าไปแย่งนักวิทยาศาสตร์ออกมาได้ แถมยังได้ตัวทะไลลามะมาด้วย

หลังจากนั้น แทนที่จะบินกลับฐานทัพสหรัฐ ซันนี่กลับเดินทางไปหาพระผู้ใหญ่ชาวทิเบตอีกครั้ง เพื่อขอแลกตัวกษัตริย์องค์น้อยกับเพื่อนนักบินสองคน ซึ่งปรากฏว่าสำเร็จโดยดี

ในตอนจบ ทั้งสามจึงพานักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันมาคืนให้โลกเสรี และตนเองก็กลับมาได้อย่างปลอดภัย

03-26mission-copy

แนวคิดเรื่อง The Orientalist หรือ The Return of the King ถูกสะท้อนผ่านการ์ตูนหลายเรื่องที่ลงในวีรธรรมรายสัปดาห์ ที่น่าสนใจคือ “ป๊อปอายกู้บัลลังก์สลัดบุรี” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2511

เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อกษัตริย์โบลโซ่ ซึ่งเป็นเพื่อนของป๊อปอาย ถูกปฏิวัติและไล่ออกจากประเทศ พระเอกจึงต้องเข้าไปช่วย

มุขเด็ดของตอนนี้คือ การที่ประชาชนเลือกเอาคอมพิวเตอร์ขึ้นครองราชย์แทนกษัตริย์

แต่ในตอนจบ ป๊อปอายสามารถถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ และนำโบลโซ่กลับสู่บัลลังก์ได้สำเร็จ

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้เขียนคงสนุกมากจนต้องมีตอนต่อชื่อ “ป๊อปอายขึ้นครองราชย์”

พระเอกขอซื้อ “สลัดบุรีเหนือ” อันเป็นดินแดนแห้งแล้งกันดารของประเทศและตั้งตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ อันเป็นเหตุให้กษัตริย์โบลโซ่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

มุขเด็ดของตอนนี้คือ ประเทศนี้มีแสตมป์เป็นสินค้าออกของประเทศ

อีกอันหนึ่งคือ เนื่องจากไม่มีคนอาศัยอยู่เลย ป๊อปอายจึงไปพาฮิปปี้หลายคนมาเป็นพสกนิกร ซึ่งก็จะสร้างปัญหาตามมาอย่างมากมาย

 

เสือบินสองตอนนี้ดำเนินแนวทางเดียวกันคือกู้บัลลังก์ของทะไลลามะ แน่นอน อเมริกันเป็นพระเอก และโซเวียตเป็นผู้ร้าย แต่ที่สนุกคือการเผชิญหน้ากับชาวทิเบต ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ก็ไม่น่าไว้ใจและเต็มไปด้วยความเชื่อที่ล้าหลัง อีกทั้งมีเด็ก คนแก่ในท้องถิ่นเป็นตัวแทน

ไม่ต้องสงสัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นซับซ้อนกว่าการ์ตูนแน่ๆ แต่แนวคิดนี้ก็มีความสำคัญ ปรากฏการณ์ต่างๆ ในยุคสงครามเย็น เช่น การที่สหรัฐเข้าไปผลักเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย ให้ก้าวหน้าสู่ความทันสมัย

แต่ในขณะเดียวกันก็ดันให้ถอยกลับไปหาระบบดั้งเดิม เช่น เผด็จการทหาร ทั้งช่วยเหลือในการสร้างระบบราชการที่เข้มแข็งและสนับสนุนรัฐประหารที่เหี้ยมโหด

นอกจากนั้น ยังชูสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้อยู่สูง แม้แต่จักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐก็ยังรักษาไว้ เพียงแต่ลดทอนให้มีฐานะเป็นเพียงสัญลักษณ์ในบางแห่ง

ก่อนที่บทบาทแบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจาณ์อย่างมากในช่วงต่อมา แนวคิด the Orientalist ก็ได้ช่วยพยุงสภาพทางการเมืองของสงครามเย็นโดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว กัมพูชา และไทย เอาไว้ได้นาน