วงค์ ตาวัน | พฤษภาอาถรรพ์

วงค์ ตาวัน

เดือนพฤษภาคม สำหรับการเมืองการปกครองของไทยเรานั้น เต็มไปด้วยเหตุการณ์ระดับที่ต้องบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์มากมายหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาทมิฬปี 2535 พฤษภาเลือด 99 ศพ ปี 2553 ไปจนถึงพฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดการรัฐประหารล้มประชาธิปไตย และได้รัฐบาล คสช.ที่อยู่ยาวนานถึง 5 ปี

ต่อเนื่องมาถึงพฤษภาคม 2562 ซึ่งภายในเดือนนี้ จะได้เห็นโฉมหน้าการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ว่าลงเอยผู้นำ คสช.จะได้อยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่

แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยผลการเลือกตั้งที่ออกมา ผสมผสานกับกระบวนการของ กกต. การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สุดพิสดาร จึงทำให้ตัวเลข ส.ส.ของแต่ละฝ่าย สับสนอลหม่าน ส่งผลต่อการจับขั้วเพื่อชิงตั้งรัฐบาล เป็นไปอย่างสูสีคู่คี่

แม้ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความพร้อมสูงมากกว่าแคนดิเดตนายกฯ ของทุกพรรค ด้วยมีกลไกระบบอำนาจให้การสนับสนุนครบทุกด้าน

“แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังมีอยู่”

ยิ่งเมื่อพรรคภูมิใจไทยเริ่มเล่นบทแข็งใส่ พร้อมกับจับมือกับประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น ก่อขั้วที่ 3 ทางการเมืองขึ้นมา เพื่อประกาศตัวขอเป็นแกนนำหลักในการตั้งรัฐบาลขึ้นมาอีกสูตร

นั่นจึงทำให้ขั้วที่ 1 หรือขั้วที่ 2 ยิ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่ชัด

ขั้วที่ 1 หมายถึงพรรคเพื่อไทย ที่ได้ ส.ส.เข้าสภามากสุดคือ 136 เสียง และประกาศแนวร่วม 7 พรรคจับมือกันก่อนใคร สร้างพันธมิตรพรรคประชาธิปไตยต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ต่อมาโดนสูตรของ กกต.เข้าให้ ทำให้เสียงของซีกนี้ลดน้อยลงไป จากที่เกิน 250 เสียง ล่าสุดมีเสียงรวมสุดท้าย 244 เสียง

ส่วนขั้วที่ 2 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.เป็นอันดับ 2 รวม 115 เสียง ร่วมกับพรรคเล็กพรรคน้อยอีกจำนวนหนึ่ง และมีเสียงพรรค ส.ว. 250 เสียงที่พร้อมโหวตเป็นนายกฯ ที่เหนือกว่าขั้วอื่น

“แต่จุดสำคัญก็คือ ต้องได้พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง และประชาธิปัตย์ 52 เสียงไปร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วพลังประชารัฐจะชนะในการโหวตนายกฯ ได้ แต่ทำงานอยู่ในสภาผู้แทนฯ ไม่ได้!”

ทีแรก 2 พรรคนี้ก็เหมือนหมูในอวยของพลังประชารัฐ เพราะมีแนวโน้มน้อยมากที่จะไปเข้าขั้วเพื่อไทย

จนเมื่อผลการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน หนุนเต็มที่ เอาชนะเหนือนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คู่แข่งคนสำคัญ ทำให้สถานการณ์ตั้งรัฐบาลของพลังประชารัฐก็เริ่มแกว่ง

เพราะถ้านายพีระพันธุ์ชนะ ก็เท่ากับเดินหน้าเข้าร่วมพลังประชารัฐอย่างสุดตัว

“แต่เมื่อเป็นนายจุรินทร์ แถมต่อมาซีกนายพีระพันธุ์ และแกนนำ กปปส.ในประชาธิปัตย์เปิดศึกชนกับนายชวนอย่างไม่มีเกรงใจ นั่นยิ่งทำให้ประชาธิปัตย์ยุคจุรินทร์ ยิ่งตัดสินใจไปร่วมกับพลังประชารัฐได้ยากขึ้น”

จังหวะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยก็เริ่มรู้สึกว่า การเจรจาร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป

ลงเอยภูมิใจไทยจึงจับมือกับประชาธิปัตย์สร้างขั้วที่ 3 ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แถมกลายเป็นว่าถ้าจับขั้วกับฝ่ายเพื่อไทยและพันธมิตร ที่แสดงท่าทีพร้อมสละตำแหน่งสำคัญๆ ให้ทั้งหมด ยิ่งทำให้ 2 พรรคนี้เป็นแกนหลักในรัฐบาลอย่างเต็มๆ

พร้อมกับกระแสนายกฯ ชื่ออนุทิน ชาญวีรกูล ก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น!

ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่มีความพร้อมเหนือกว่าทุกด้านจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ก็เริ่มไม่แน่

ต้องลุ้นกันจนถึงนาทีสุดท้ายในวันตัดสินก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม

จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าว ซึ่งลงเอยก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้แน่นอน แต่ก็เป็นกระแสที่มาแรง และผู้คนในวงสังคมได้ฟังแล้วรู้สึกสนใจกันมาก

โดยเกิดข่าวสะพัดว่า สุดท้ายการเลือกนายกฯ หากติดขัดเสียงก้ำกึ่งกันมาก อาจต้องพึ่งคนนอกเข้ามารับตำแหน่งแทน

“พร้อมกับมีชื่อนายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการ ครม.หลายสมัย รอบรู้การบริหารบ้านเมืองอย่างช่ำชอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี ไปจนถึง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. ที่ได้รับการยอมรับว่าสุขุมนุ่มลึก ปัจจุบันเป็นองคมนตรี”

โดย 2 ชื่อนี้ อาจจะเข้ามาในฐานะคนนอก หากการโหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองติดขัด ไปจนถึงมาพร้อมกระแสตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาประเทศชาติไปเลย ทำนองนั้น

แต่สุดท้ายข่าวนี้ก็ยังถือว่าไกลเกินกว่าจะเป็นจริงได้ง่ายๆ

“ต่อมายังมีสื่อฮ่องกงเขียนวิเคราะห์อ้างว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวซีพี ก็เป็นตัวเต็งนายกฯ แต่ก็ดูไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน”

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้สะท้อนว่า มีความคาดหวังจากหลายๆ ฝ่ายว่า นายกฯ ควรจะเป็นคนนั้นคนนี้

“คงน่าจะมาจากความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย หลังจากที่รัฐบาล คสช.และนายกฯ ประยุทธ์บริหารงานมา 5 ปีเข้าไปแล้ว!?”

สังเกตได้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง คือมีชื่อในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดทุกประการ

เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ต่างจากแคนดิเดตนายกฯ ของทุกพรรค ตรงที่ของพรรคอื่นนั้น ผู้มีรายชื่อเสนอตัวเป็นนายกฯ จะโดดลงสนามเลือกตั้ง ร่วมปราศรัยหาเสียงอย่างเต็มตัว

แต่ด้วยกลไกที่สนับสนุนค้ำจุนอยู่ ทำให้โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีสูงที่สุด

อีกนั่นแหละ แม้ว่าจะชัวร์ขนาดนี้ ก็ยังอุตส่าห์เกิดกระแสข่าวมีชื่อนายกฯ โผล่เข้ามาทดแทนอีกหลายราย

สะท้อนความอยากเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมไทยนั่นเอง!

เดือนพฤษภาคม 2562 นี้ จะเป็นบันทึกอีกหน้าของการเมืองไทย เมื่อ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และอยู่ในอำนาจยาวนาน 5 ปี แล้วเปิดให้เลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562

“มาในเดือนนี้จะได้ตัดสินกันว่า คสช.จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่!?”

ขณะที่ดูความเป็นไปของการเมืองไทยนับจากพฤษภาคม 2557 มาจนถึงพฤษภาคม 2562 นี้

ทำให้หลายคนต้องเศร้าสลด เมื่อนึกถึงการต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อของประชาชนเมื่อพฤษภาคม 2535 ซึ่งสถานการณ์คล้ายวนเวียนไปมา เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้

พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารของ รสช.เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อล้มรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยข้ออ้างตามสูตรว่านักการเมืองคอร์รัปชั่นหนัก

“จากนั้นอีก 1 ปี เปิดให้เลือกตั้งใหม่ แล้วก็มีพรรคสามัคคีธรรมเกิดขึ้น ซึ่งหากไปศึกษาพรรคนี้ จะร้องอ๋อทันทีว่า ทำไมจึงมีพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นในยุคนี้!”

แล้วผลเลือกตั้งได้พรรคสามัคคีธรรมชนะอันดับ 1 ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันทำให้หัวหน้าพรรคอันดับ 1 ต้องสะดุด ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ เปิดทางให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าเป็นนายกฯ แทน

“นั่นเองจึงเกิดการต่อต้านว่าตระบัดสัตย์ เกิดม็อบชุมนุมขับไล่รัฐบาล รสช. พร้อมกับป่าวประณามพรรคการเมืองที่ไปร่วมสนับสนุนรัฐบาลนี้ กลายเป็นตำนานพรรคเทพ-พรรคมารในการเมืองไทย”

มีการสลายม็อบด้วยเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมกระสุนจริง ล้มตายไปเกือบครึ่งร้อย แถมศพสูญหายอีกไม่น้อย แต่ลงเอยด้วยการหลั่งเลือดของวีรชน ทำให้รัฐบาลดังกล่าวตัดสินใจลาออก ยุติอำนาจของ รสช.

“แต่ผลพวงการต่อสู้ของพฤษภาคม 2535 ยังทำให้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญต่อมาว่า นายกฯ ต้องมาจากผู้เป็น ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น”

จนกระทั่งเกิดม็อบนกหวีดในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึง 2557 แถมไม่ยอมรับหนทางยุบสภาตามแนวทางประชาธิปไตย ยังชัตดาวน์จนบ้านเมืองเข้าทางตัน เปิดทางให้รถถังออกมายึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

จากนั้นจึงมีรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดกว้างที่มานายกฯ ไม่ต้องกำหนดว่าต้องมาจากการเป็น ส.ส.เท่านั้น

จนทำให้โอกาสที่จะได้หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง เป็นไปได้อย่างสูงยิ่ง

คล้ายกับการเมืองไทยถอยหลังย้อนยุคไปก่อนการหลั่งเลือดของวีรชนพฤษภาคม 2535

ภายในพฤษภาคม 2562 นี้จะได้รู้กัน!