อภิญญา ตะวันออก : แด่…ความรันทดที่งดงาม

อภิญญา ตะวันออก

โกกิ อิชิยามะ จบชีวิตด้วยไข้ป่าและไทฟอยด์ในเขตกรุงเก่าเมืองอุดงของฝ่ายเขมรแดงในเดือนมกราคม 1974 ความตายของเขา คือคำตอบของความตายของชาวเขมรอีกเรือนล้านในอีก 18 เดือนต่อมา (*)

โลกมองไม่เห็นคุณูปการเล็กน้อยอย่าง “ชมรมจอร์จ ออร์เวลล์-พนมเปญ” ต่อสมาชิกคนเดียวที่เหลืออย่างอลิซาเบธ เบกเกอร์ ที่ไม่กี่ปีต่อมาเธอได้กลับไปกรุงพนมเปญอีกครั้งในนามสื่อมวลชนต่างชาติของรัฐบาลเขมรแดง (กัมพูชาประชาธิปไตย) ก่อนที่ 2 ทศวรรษต่อมา จะอาสาฝ่ายกองงานเอกสารในขบวนการก่อตั้ง “ศาลอาญาระหว่างประเทศ”

หากโกกิ อิชิยามะยังมีชีวิต เขาคงเห็นเบกเกอร์นั่งใน “คอกพยาน” โจทก์ขึ้นให้การเอาผิดอดีตผู้นำเขมรแดง

ในที่สุด สมาชิก “ชมรมจอร์จ ออร์เวลล์” ก็ชำระสะสางพวก “บิ๊กบราเทอร์-1975” ด้วย ศาลเขมรแดง ณ กรุงพนมเปญ

 

ก่อนโกกิ อิชิยามะจะไปสู่ฐานะชนผู้สาบสูญ

มีเหตุการณ์โด่งดังครั้งใหญ่ในกัมพูชาใต้บริเวณเทือกเขาคีรีรมย์ของ 7 เมษายน 1971 นั่นคือเคท เว็บบ์ (Kate Webb) นักข่าวสาวนิวซีแลนด์จากสำนักยูพีไอ ถูกเวียดกงจับตัว พร้อมกับผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ล่ามและพลขับรถเขมรทั้งหมด 4 คนที่พลอยติดร่างแหไปด้วย

ตลอด 23 วันของการหายตัว เคทกลายเป็นข่าวดังข้ามทวีป ที่สื่อตะวันตกโหมประโคม นิวยอร์กไทม์สนั้นถึงกับตีพิมพ์ว่าเธอถูกสังหารและนำร่างไปเผาทิ้ง (ขณะที่ช่างภาพญี่ปุ่นและคนอื่นๆ ถูกลืมอย่างสิ้นเชิงราวกับไม่มีตัวตน)

เรื่องของเคทคงถูกจดจำต่อไปถ้าเธอตายที่คีรีรมย์ ใบหน้าที่อ่อนหวานราวกับเจ้าหญิงไดอาน่า ช่างโดดเด่นและขัดกับบุคลิกที่กล้าหาญเยี่ยงบุรุษเพศ

เล่ากันว่า เคทนั้นสูบบุหรี่มวนต่อมวน และดื่มเก่งไม่แพ้ใครในสายข่าวสงครามที่ต้องอาศัยแหล่งข่าวหน่วยทหารฝ่ายรัฐบาลและเวียดกง-เขมรแดง

ล้ำกว่าสตรียุคเดียวกัน เคทเสนอตนเป็นนักข่าวอิสระในไซ่ง่อน ต่อกรกับบุรุษเพศที่เป็นใหญ่ในสายข่าวยุคนั้น จนยูไนเต็ดเพรสส์อินเตอร์เนชั่นแนล (UPI) ส่งเธอไปประจำที่กรุงพนมเปญ

เรื่องก็คือ เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา เคทให้การว่า “เขมรแดงและเวียดกงปฏิบัติต่อเธออย่างดี”

ไม่เท่านั้น เคทยังเล่าถึงพิธีชงชาของเพื่อนนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ช่าง “เนียนมานโอฬาริก” ในจิตใจ ตลอด 23 วันของการรอคอยและฆ่าเวลา

แต่ดูเหมือนสื่อตะวันตกขณะนั้นไม่ต้องการจะได้ยินในสิ่งที่ทำให้เธอรอดชีวิตกลับมา พร้อมกับถ้อยคำของการปกป้องพวกคอมมิวนิสต์ ที่ชื่อว่าเลวทรามชั่วช้าในสายตาของชาวโลก

ต่อการที่เคท เว็บบ์ปกป้องแหล่งข่าวของเธอ และในฐานะ “สุนัขล่าเนื้อ” ในดงสงคราม อะไรทำให้เธอกลายเป็นสิ่งที่สื่อตะวันตกหวังผลจากการที่เธอถูกลักพาตัวเวลานั้น?

สมรภูมิข่าว-ที่เธอตกเป็น “เหยื่อ” ในฐานะเหยี่ยวข่าวสงครามที่ไม่เคยได้รับเกียรติจากสถาบันหรือรางวัลใดๆ ตลอดช่วงเวลาที่เธอทุ่มเทมันลงไป

สมรภูมิชีวิตหมาล่าเนื้อ-ผู้สื่อข่าวพิเศษที่ตะลอนๆ ไปตามเขตพื้นที่เสี่ยงภัยได้จบลงตั้งแต่วันแรกที่เธอถูกส่งกลับเข้ากรุทำงานรับข่าวไปวันๆ ที่สำนักงานกลาง ในวันที่กรำศึกจนโรยราและสู้หมาล่าเนื้อรุ่นหลังไม่ได้

การรอดชีวิตจากน้ำมือเขมรแดงครั้งนั้น ดูจะเป็นรางวัลเดียวของเธอในวัย 64 ปีที่จบชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

 

กระนั้น ฉันก็ไม่อยากเห็นเคท เว็บบ์เป็นแบบเดียวกับจิลล์ การ็อง (และคนอื่นๆ) กล่าวคือ พวกเธอและเขามีความเป็นหนุ่ม-สาวตลอดกาลในวัยราว 30 ปี นับแต่วันที่หายไปจากโลก

เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของเธอบริเวณสระว่ายน้ำของโรงแรมเลอพนม หรืออีกชื่อหนึ่ง-เลอรอยัล ระหว่างปี 1970-1975

ทุกๆ เช้าจะมีบรรดารถเช่าตั้งแต่ 25 ดอลลาร์และเพิ่มเป็น 100 กรณีถูกเทไว้กลางทาง ส่วนบริการมีตั้งแต่แอร์เย็นสบายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปานกลาง-เชฟโรเล็ต 4 ประตู และรถยนต์ซีดานที่มักจะตกขบวนการแข่งขันชิงโหดในหมู่สายคอข่าวของแต่ละสำนัก ที่ขับเคี่ยวบนสมรภูมิความตายที่ระอุร้อนของเดือนเมษายน (35-40 องศา)

อย่างไรก็ตาม บางทีพวกเขาก็ให้เครดิตหนักๆ กับโชเฟอร์ท้องถิ่นเจ้าของซีดานผู้เต็มไปด้วยสัมผัสที่ 6 แห่งการเอาตัวรอด และการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณลึกลับแบบนั้นเองที่ทำให้นักข่าว-ช่างภาพหลายนายรอดตายมาได้

กระนั้น หากผ่านพ้นมาได้ ชาวหมาล่าเนื้อทั้งหลายจะกลับมารวมตัวกันที่สระว่ายน้ำโรงแรม พลันบรรดาช่างภาพ-นักข่าว สมาชิกผู้ทรงอิทธิพล ชนชั้นนำเขมร นักธุรกิจต่างชาติ จะพากันมาพบปะสังสันทน์ในหัวข่าวประจำวัน

มันคือ “บทสนทนา” ที่พรั่งพรูไปด้วยความสุขุม พลุ่งพล่าน รันทดและอีกประดาอารมณ์ต่อวิกฤตการณ์การเมืองที่เลวร้ายลงทุกวัน นัยที ความกังวลต่อบ้านเมืองของนักวิเคราะห์เหล่านี้ พวกเขาพยายามมองโลกในแง่ดีและมีความหวังเสมอว่า รัฐนาวากัมโพชจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ไม่ต่างจากงานสังสันทน์อันความยุ่งเหยิงนั่น นักข่าว นักการเมือง สายลับ เมียเช่า และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ บ้างลอยคอในสระน้ำ บ้างอิดโรยอ่อนล้าจากการกลับมาจากพื้นที่สมรภูมิ

ดูราวพวกเขามีโทนอารมณ์เป็นอาภรณ์เดียวกัน โดยเฉพาะ “คนแบกข่าวร้าย” ในวันที่สมาชิกพวกเขาบางคน ถูกสังหาร ถูกลักพาตัว

คนเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่ง เคยยืนอยู่ที่แห่งนี้ และเคยทำหน้าที่ผู้ “แบกข่าวร้าย” เมื่อครั้งที่พวกเขายังมีลมหายใจ

โดยไม่รู้เลยว่า วันวานเหล่านั้น พวกเขาฝันถึงสิ่งใด สำหรับ 37 ชีวิตจาก 11 เชื้อชาติ ที่หายไปจากวิถีสังสันทน์อันแสนประหลาดจากโลกทั่วไป

แล้วตอนนี้ ด้านหน้าจัตุรัสของโรงแรม บนแผ่นแท่งหินสีดำ “อนุสรณ์แห่งความทรงจำ” ได้สลักชื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศทุกนามสำหรับ “ผู้สูญหายและถูกสังหารในกัมพูชาระหว่างปี 1970-1975”

 

แต่ไม่ใช่ทุกสำนักข่าวหรอกนะที่ติดกับวิถีบุปผาชนหรืออีกนัยที “ฮิปปี้ G-I” อัล ร็อกออฟ หนุ่มผู้หลงใหลในภาพข่าวสงคราม ขณะเดียวกันเขาก็เคลิ้มฝันในกัญชาและก้อนเมฆ

ในเดือนมีนาคม 1975 ก่อนการมาเยือนของเขมรแดงไม่กี่สัปดาห์ พนมเปญถูกบอมบ์อย่างหนัก จนฌัก เลสลี (28) นั้นถึงกับเจาะเพดานไว้เป็นที่นอน และเพราะความหลอนจากระเบิดด้วยบุหรี่ถุนกัญชายามค่ำคืน

ทว่าในบรรดาหมาล่าเนื้อสาวไม่กี่ชีวิต : คริสติน สแปงเลอร์, เคท เว็บบ์, ซินวาน่า ฟัว, อลิซาเบธ เบกเกอร์, ซาร่า เว็บบ์ บาร์เรลล์ ฯลฯ ในที่นี้เธอๆ บางคน นอกจากจะเป็นวิถีบุปผาชนแล้ว ยังมีความรักกับคนแบกข่าวร้ายด้วยกัน เช่น คริสติน-อัล และเคท เว็บบ์กับจอหน์ สเวน ตัวละครหลักจากภาพยนตร์ “เดอะ คิลลิ่ง ฟิลด์” ที่รอดตายจากทางหลวงหมายเลข 1 เพราะตกขบวนวีซ่า

แต่พนมเปญ-1975 ที่มีแต่เสียงไซเรน จนแทบไม่มีใครสังเกตว่า ซาร่า บาร์เรลล์กลับมาที่นี่อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ อดีตนักเขียนนางแบบแห่งลอสแองเจลิสไทม์ส เธอตกหลุมรักฉับพลันต่อกัมพูชา ต่อบรรยากาศรื่นรมย์ร้ายๆ ที่มาจากสมรภูมิสงคราม ความรักและกัญชา

แต่การมาเยือนเขมรในเดือนมีนาคมครั้งหลัง ซาร่ามีท่าทีที่ไร้สุข เธอมักซุกตัวใต้ซุ้มเฟื่องฟ้าบริเวณสระน้ำอย่างซึมเศร้า คำพรั่งพรูมากมายที่พร่ำออกมาซับซ้อนในตัวตน แม้แต่ฌัก เลสลีผู้รับฟังก็ยังไม่เข้าใจ

ไม่ต่างจากค่ำของทุกๆ วัน การพบปะพวกคนข่าวยังคงดำเนินไป แต่ซาร่า บาร์เรลล์ ต่างหากที่หายไป เธอหมกตัวอยู่ที่ใด? ในห้องพักชำรุดจากระเบิดและไฟไหม้?

อย่างคลุมเครือที่จะกล่าวว่า เธอเคยพยายามฆ่าตัวตายขณะอยู่ในกัมพูชา

ทว่า 4 ปีต่อมาในวัยสามสิบสาม ซาร่า บาร์เรลล์-นักเขียนผู้เปราะบางก็ปลิดชีพตัวเองด้วย .38 อย่างเดียวดายในห้องพัก

 

ฤดูร้อนปีนี้ ต่างที่ต่างเวลาในการอ่าน “สวรรค์สงคราม” (Havre de Guerre: Phnom Penh, Cambodge 1970-1975) และตอนหนึ่งริมสระว่ายน้ำใจกลางกรุงเทพฯ พลัน “คนแบกข่าวร้าย” ตัวละครของฌ็อง-ฟร็องซัวส์ บูเวต์ ที่พาเหรดเล่นงานความรู้สึกของฉัน

แด่…ความรันทดที่งดงาม

และโปรดอย่าทิ้งเราไว้ข้างหลัง 

——————————————————————————————————————
(*) บางฉบับอ้างว่า โกกิ อิชิยามะ เสียชีวิตในปี ค.ศ.1975