จิตต์สุภา ฉิน : พิพาทใหญ่ Huawei – สหรัฐ กับการตัดขาด Android

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์นี้หนีไม่พ้นข่าวที่ Google ระงับการทำธุรกิจกับ Huawei ที่สร้างความโกลาหลให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถือโทรศัพท์สมาร์ตโฟนยี่ห้อนี้อยู่ในมือ

ไม่แน่ใจว่ากว่าจะถึงเวลาที่มติชนรายสัปดาห์ฉบับนี้วางแผง เรื่องราวจะคลี่คลายไปทางไหน หรือมีปมใหม่ๆ ที่ขมวดเพิ่มขึ้นมาอีกบ้าง

แต่เรามาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและผลกระทบที่ตามมากันค่ะ

 

การยุติการค้าระหว่าง Google กับ Huawei ครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งเราก็น่าจะพอได้ข่าวมาบ้างว่าฮึ่มๆ กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว

หลักๆ ก็มาจากการที่ Huawei มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในยุโรปและประเทศพันธมิตรทั้งหลายไม่ไว้วางใจว่า การที่ปล่อยให้ Huawei มาทำธุรกิจในประเทศตัวเองนั้นจะเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของประเทศหรือไม่

ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจสมาร์ตโฟนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างต่างๆ ที่ Huawei วางแผนจะเป็นผู้คุมตลาดรายใหญ่ด้วย

ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา Huawei ต้องเผชิญศึกหลายทาง จะเข้าไปพัฒนา 5G ในประเทศไหน ก็ดูจะขลุกขลักหรือถูกกีดกันไปเสียหมด

ประเทศที่แบนไม่ใช้เทคโนโลยี 5G ของ Huawei ต่างก็แสดงความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงด้วยการใช้เทคโนโลยีของ Huawei มาสปายข้อมูลลับทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งองค์กรธุรกิจ รัฐบาล หรือหน่วยงานทหาร

จึงสามารถพูดได้ว่าแค่เรื่อง 5G อย่างเดียวก็ปาดเหงื่อกันไม่ทันแห้งแล้ว

พอมาเจอการแบนครั้งล่าสุดก็ยิ่งอ่วมเข้าไปใหญ่

 

แบนครั้งล่าสุดสรุปได้สั้นๆ ก็คือ รัฐบาลสหรัฐสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทำการค้ากับ Huawei ซึ่ง Google ที่เป็นบริษัทอเมริกันก็ต้องทำตามคำสั่งนั้นแต่โดยดี

Huawei และ Google เป็นคู่ค้ากันในแง่ที่ Huawei ผลิตโทรศัพท์สมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ซึ่ง Google เป็นเจ้าของ จากคำสั่งครั้งนี้แปลว่า Google จะไม่สามารถทำการค้ากับ Huawei ไม่ว่าจะเป็นด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือบริการใดๆ ได้อีกต่อไป

เมื่อข่าวเรื่องนี้ออกมาก็เกิดคำถามขึ้นเต็มไปหมด หนึ่งในคำถามที่ร้อนรนที่สุดก็คือ แล้วลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์ Huawei อยู่ในตอนนี้จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง จะยังใช้โทรศัพท์ต่อไปได้อีกไหม

คำตอบสั้นๆ ที่ Huawei ออกมาแถลงการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าก็คือ “ได้” โทรศัพท์ Huawei ที่ลูกค้าซื้อไปแล้วหรือที่ยังอยู่ในสต๊อกจะยังสามารถใช้การได้เหมือนเดิม เข้าถึงทุกแอพพลิเคชั่นและบริการของ Google และยังอัพเดตได้เหมือนเดิม

แต่แถลงการณ์ครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงโทรศัพท์ Huawei ที่จะเปิดตัวออกมาในอนาคต เพราะแน่นอนว่าโทรศัพท์รุ่นใหม่จะไม่สามารถทำการตลาดด้วยระบบปฏิบัติการ Android ได้อีกแล้ว

และจะเข้าถึงบริการของ Google อย่างร้านขายแอพพ์ Play Store บริการเมล์ Gmail หรือ YouTube และอื่นๆ อีกมากมายไม่ได้อีกต่อไป

กระทบ Huawei หนักแค่ไหน?

 

ไม่น้อยแน่นอน เพราะ Huawei เพิ่งจะแซง Apple ไต่อันดับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับที่สองของโลกเมื่อไม่นานมานี้ และตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องชิงอันดับหนึ่งจาก Samsung มาให้ได้ภายในปี 2020 ด้วย แต่เจอการแบนรอบนี้เข้าไปก็คงต้องถอยไปตั้งหลักใหม่สักพักเลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่ Google เท่านั้นที่ต้องแบน Huawei บริษัทสัญชาติอเมริกันอื่นๆ ก็เข้าข่ายต้องทำตามคำสั่งนี้ด้วย อย่างเช่น Intel และ Qualcomm ผู้ผลิตชิพเซ็ตที่ต้องตัดสัมพันธ์กับลูกค้าของตัวเองไปเหมือนกัน

โชคดีของ Huawei ที่วางแผนเตรียมการเรื่องนี้มาไว้สักพักแล้วด้วยการพัฒนาและผลิตชิพเซ็ตของตัวเองทำให้ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก ประกอบกับพอเห็นสัญญาณไม่ดีก็เริ่มสั่งสต๊อกชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่จำเป็นเอาไว้บ้างแล้ว

ทางออกของ Huawei หลังจากนี้น่าจะเป็นการต้องนำระบบ Android ที่เป็นแบบเปิด หรือ Android Open Source Project ที่ Google เปิดให้ใครก็ได้เอาไปใช้ฟรีๆ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเริ่มออกแบบขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ศูนย์ แต่เนื่องจากระบบนี้จะไม่ได้มาพร้อมกับร้านค้าแอพพ์ด้วย

ต่อไป Huawei ก็อาจจะต้องทำแพลตฟอร์มแอพพ์ของตัวเองและดึงดูดให้นักพัฒนามาทำแอพพ์ให้ ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่จะต้องขบคิดและถกเถียง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะเคยมีค่ายอื่นทำกันมาแล้ว

แต่จะไม่ได้ใช้งานคล่องแคล่วและเพียบพร้อมเท่า Android ที่เคยซื้อมา

 

จะว่าไป Google ก็คงไม่อยากเสียลูกค้ารายใหญ่ขนาด Huawei ไปอยู่แล้ว

เพราะการขายใบอนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตมือถือสามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android ได้นั้นน่าจะสร้างรายได้ให้ Google ได้อยู่มากโข

การทำตามนโยบายของทรัมป์ครั้งนี้ย่อมต้องแปลว่า Google ขาดรายได้ที่ Huawei จะต้องแบ่งมาจ่ายให้เป็นรายเครื่องไปแบบน่าเสียดาย

ซึ่งค่าใช้ Android ที่ว่า อาจจะจ่ายกันสูงถึงเครื่องละ 40 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1,200 บาทเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับประเทศและสเป๊กของสมาร์ตโฟนแต่ละเครื่อง)

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าสมาร์ตโฟน Huawei ในจีนนั้นจะไม่มากสักเท่าไหร่ เนื่องจากบริการต่างๆ ที่จะหายไปพร้อมกับการตัดขาดทางการค้าในครั้งนี้เป็นบริการที่ลูกค้าชาวจีนไม่ได้ใช้อยู่แล้ว

อย่างการใช้เสิร์ชเอนจิ้น Google บริการ Gmail หรือดูวิดีโอบน YouTube ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนห้ามอยู่แล้ว

และจีนก็พัฒนาแอพพ์ของตัวเองมาใช้เป็นล่ำเป็นสันมาตั้งนานแล้ว

การขาดบริการเหล่านี้ไปจึงไม่กระทบผู้ใช้ในจีนแม้แต่น้อย

ความเสียหายหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นต่อการทำธุรกิจของ Huawei นอกประเทศจีนทั้งหมด

 

น่าสนใจว่าหลังจากนี้เรื่องราวจะคลี่คลายไปในทางไหน หรือจะคลี่คลายในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือเปล่า หากจะว่ากันที่ตลาดสมาร์ตโฟนอย่างเดียว ลูกค้าของ Huawei นับว่าเป็นลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ไม่น้อย

และในช่วงหลังมานี้ Huawei สามารถทำการตลาดมือถือของตัวเองได้ดีมากด้วยสเป๊กมือถือและฟีเจอร์ที่คนชื่นชอบ แต่ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเร็วและผู้บริโภคเปลี่ยนใจกันเป็นรายวินาทีแบบนี้ สมาร์ตโฟนของ Huawei ก็อาจถูกแทนที่ได้ง่ายๆ ด้วยคู่แข่งที่ไม่เจอข้อจำกัดแบบเดียวกันนี้ และแน่นอนว่าทุกรายกำลังเตรียมเข้าเกียร์เดินหน้าเพื่อบี้และทิ้ง Huawei ไว้ข้างหลังแบบไม่ปรานี

เหตุการณ์ครั้งนี้โลกจะได้เห็นว่าบริษัทสัญชาติจีนขนาดใหญ่แห่งนี้จะสามารถผงาดต่อไปได้แบบไม่ต้องพึ่งพาโลกตะวันตกหรือไม่

และนี่จะเป็นเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นวงกว้างกว่าเดิมไหม