คำ ผกา | เรื่องมันไม่น่ายากขนาดนี้

คำ ผกา

มีหลายอย่างในการเมืองไทยที่ควรจะง่าย สุดท้ายกลับไม่ง่าย

เช่น การประกาศคะแนนดิบหลังการเลือกตั้ง

จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่มีภาวะงุนงงในสูตร ไม่มีใครรู้ว่าต้องใช้สูตรไหนกันแน่ สุดท้ายทุกคนก็ยอมรับว่า เออ นี่เราเลือกตั้ง และส่งคนลงเลือกตั้งกันไปแบบไม่มีใครรู้ว่าท้ายที่สุด กรรมการจะใช้กติกาไหนมาตัดสินแพ้-ชนะ เหมือนไปเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ซื้อหวย

สุดท้ายก็ประกาศรับรองจำนวน ส.ส.กันออกมาท่ามกลางคำถามมากมายจากสังคม ทั้งเรื่องการนับคะแนนที่เป็นปัญหาในบางเขต ทั้งบัตรจากนิวซีแลนด์ที่กลายเป็น “บัตรที่นับไม่ได้” ทั้งปรากฏการณ์บัตรเขย่ง ทั้งเรื่องที่พรรคการเมืองเล็กผู้ได้คะแนนเสียงประมาณห้าหมื่นคะแนนจากทั่วประเทศก็ได้ ส.ส.กับเขาไปด้วย

ทำให้มีจำนวน ส.ส.งอกออกมาอีกจาก 11 พรรคการเมือง จนเกิดกลุ่ม 11 ที่รวมตัวกันไปหนุนพรรคพลังประชารัฐ และพร้อมโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยเหตุผลว่า อยากให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

และที่ผ่านมา 5 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็มีผลงานโดดเด่นด้านความมั่นคง ทำให้ประเทศชาติสงบสุข

เรื่องมันควรจะง่ายใช่ไหม? เพราะท่ามกลางข้อกังขาทั้งปวงเรื่องการนับคะแนน เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีใครมาทัดทานสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตาม “บทบัญญัติของกฎหมาย” ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ไม่มีอะไรผิดกติกา (ถ้าเราจะไม่ถามว่ากติกานี้มาอย่างไร)

ประชาชนทั่วไปก็ได้แต่สร้างเรื่องขำขันแบบขื่นๆ กับตัวเองไปวันๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คสช.ตั้ง กกต., กกต.จัดการเลือกตั้งที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม? จนท้ายที่สุดอาจจะทำให้หัวหน้า คสช.ที่เป็นนายกฯ จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

หรือเรื่องขำๆ ขื่นๆ ที่ประชาชนก็หยอกเอินกันเองเรื่องความสัมพันธ์ของ คสช. สนช. กรรมการคัดสรร ส.ว. จนคลอดออกมาเป็นรายชื่อ ส.ว. แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้แต่ทอดถอนใจ เพราะทุกอย่างมันก็เป็นไปตามตัวบทกฎหมายทั้งสิ้น ไม่สามารถฟ้องร้อง เอาผิดอะไรได้เลย

ส่วนประชาชนที่เคยร่วมม็อบพันธมิตรฯ เคยร่วมม็อบ กปปส. ที่เกลียดความชั่วช้าของนักการเมือง ว่าโกง เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ส่วนหนึ่งก็ได้กลายเป็น ส.ว. ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

บางคนเป็น ส.ว.มาตั้งแต่ครั้งหลังรัฐประหารปี 2549 ได้มาเป็น สนช.หลังรัฐประหารปี 2557 จากนั้นก็ได้เป็น ส.ว.ในชุดล่าสุดนี้อีก

สิริรวมอยู่แล้ว อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองนานกว่านักการเมือง โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงไปสร้างความนิยมอะไรกับชาวบ้าน กับประชาชนเลยแม้แต่น้อย

และดูเหมือนพวกเขาจะไม่เคยสงสัยในตัวเองเลยว่า เอาความชอบธรรมอะไรมาอยู่ในตำแหน่งนี้

โดยมากก็เชื่อว่า เพราะตนเองเป็นคนดี, ตนเองมีส่วนในการไล่นักการเมืองชั่ว ทุนสามานย์ออกไป แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะได้รับการคัดสรรมาเป็น ส.ว.

ถ้าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งจะหมายถึงการเคารพในอำนาจและเจตจำนงของประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไข

คนจำพวกนี้คือกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แต่เชื่อว่า ชาวบ้าน ประชาชน คือพวกคนโง่ และคนโง่พวกนี้มีหน้าที่ต้องเกิดมาใช้กรรม, มีหน้าที่ มีชีวิตไปตามยถากรรม, มีหน้าที่รับใช้ ทำงาน เสียภาษี ทำตามคำสั่งรัฐ และราชการ

ส่วนพวกของตนนั้น เป็นกลุ่มคนที่พรั่งพร้อมไปด้วยคุณงามความดี ความรู้ ความสามารถ มันสมอง เหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่บริหารชาติ บ้านเมือง – ประชาชนมันโง่ มันไม่รู้หรอกว่า เราเก่งและฉลาด

ดังนั้น เราจึงต้องรวบรัดตัดความ ยึดเอาอำนาจเหล่านี้มาเป็นของเราเสีย

เพราะขืนปล่อยให้ประชาชนโง่ๆ ตัดสินใจเอง เลือกผู้นำเอง ประเดี๋ยวก็ไปเลือกพวกโง่ๆ พวกเลวมาอีกนั่นแหละ

เหมือนที่ ส.ว.คนหนึ่งบอกว่า ประเด็นไม่ใช่เรื่องการต่างตอบแทนกันระหว่าง คสช. กับ ส.ว. แต่เราต้องมาดูว่า การต่างตอบแทนนั้นถ้าตอบแทนไปที่คนดี คนเก่ง ก็ไม่เห็นเป็นไร ถ้าไปตอบแทนคนที่ไม่ดีไม่เก่ง ค่อยว่ากัน

แต่ประเด็นคือ เวลาบอกว่า ใครดี ใครเก่ง เนี่ย ถามใคร หรือว่าถามกันเอง ชมกันเอง คิดกันเอง เออกันเอง

ทีนี้เรื่องทั้งหมดมันควรจะง่าย จะราบรื่นใช่ไหม? เลือกตั้งก็เลือกแล้ว ทีนี้ใครจะมาครหาว่า เป็นเผด็จการไม่ได้แล้วนะจ๊ะ – ฉันมาจากการเลือกตั้งนะจ๊ะ

เอ้า ทีนี้มันก็ต้องจัดตั้งรัฐบาลสิ?

เลือกตั้งแล้ว กติกาการเลือกตั้งก็ออกแบบเพื่อเก็บ “เสียงตกน้ำ” จนพรรคเพื่อไทยแทบไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์มาแม้แต่คนเดียวแล้ว

พรรคพลังประชารัฐก็มีอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ เยอะแยะไปหมด ที่น่าจะทำให้พรรคได้ ส.ส.เขตแบบไม่ต้องออกแรงเยอะ เพราะได้ ส.ส.ที่พกคะแนนเสียงมาจากบ้าน เป็น ส.ส.พลังดูด ไหนจะมี ส.ว. 250 เสียงอยู่ในกระเป๋า ไหนจะได้ ส.ส.มาจาก 11 พรรคเล็ก

เรื่องมันควรจะง่าย พรรคพลังประชารัฐน่าจะประกาศจัดตั้งรัฐบาลได้เลยอย่างรวดเร็ว เพราะต่อให้พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.มากที่สุด คือ 136 ที่นั่ง แต่ก็เป็น 136 ที่นั่งอันเมื่อรวมกับพรรคพันธมิตร อย่างอนาคตใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ เศรษฐกิจใหม่ และเสรีรวมไทยแล้วก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี

ยังไม่นับว่า กติกาที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจะให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้เลย

เขียนมาถึงตรงนี้ฉันก็ยังจำคำพูดของคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ ที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา”

แล้วอุปสรรคมันอยู่ไหนล่ะ ในเมื่อกติกา มารยาท องคาพยพทั้งหมด น่าจะปูทางให้พลังประชารัฐเป็นรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อย่างไร้ขวากหนาม

คนจำนวนมากคิดว่า ถ้าออกแบบมาดีพอ คิดมาละเอียดพอ ออกแบบองค์กรที่เป็นองคาพยพแวดล้อมให้รัดกุมพอ จะสามารถเปลี่ยนการเลือกตั้งให้เป็นตะกร้าเพื่อเอาเผด็จการไปใส่แล้วล้างน้ำให้กลายเป็นประชาธิปไตยได้ หรือที่ใครๆ พูดว่า เปลี่ยนการเลือกตั้งให้เป็นเพียงพิธีกรรม

แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายอย่างนั้น

เช่น กติกาเก็บคะแนนเสียงตกน้ำ กลับไปเป็นคุณแก่พรรคเกิดใหม่ อย่างอนาคตใหม่ อย่างช่วยไม่ได้ คาดไม่ถึง ทำให้พรรคเกิดใหม่ ไร้น้ำยา อย่างอนาคตใหม่ กลายเป็นพรรคลำดับสอง ทิ้งห่างพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ไปเกือบครึ่ง

สุดท้ายกลายเป็นหอกทิ่มแทง ทำให้แผนการตั้งรัฐบาลสืบทอดเจตนารมณ์ของ คสช. ต้องสะดุดไปแบบงงๆ

วิธีการที่ต้องไปดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ มาเข้าพรรคตนเอง ย่อมทำให้พรรคขาดเอกภาพไปโดยปริยาย

กลายเป็นพรรครวมหลายมุ้ง หลายกลุ่ม

และแน่นอนว่า ทำให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ที่ซับซ้อนขึ้น จะให้อะไรๆ ลงตัว และเป็นอย่างใจ ก็ไม่ง่าย

ที่เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย จะต้องมาเข้าร่วมแน่ๆ เพราะโดยหลักการการจัดตั้งรัฐบาลทั่วไป พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ย่อมเนื้อหอมที่สุด มีบารมีที่สุด มีอำนาจต่อรองมากที่สุด เพราะใครๆ ก็ต้องอยากร่วมรัฐบาลทั้งนั้นแหละ

การต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี ตำแหน่งต่างๆ มีอยู่อย่างแน่นอน แต่พรรคที่ได้ที่นั่งกลางๆ ได้น้อยๆ ถ้าอยากร่วมรัฐบาลก็ต้องเจียมตัวหน่อย

ส่วนพรรคที่เป็นแกนนำก็ต้องรู้และฉลาดว่าจะแบ่งเก้าอี้ ตำแหน่งอย่างไร ถึงจะลงตัว และลงเรือเป็นรัฐบาลเดียวกันได้

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างออกไป 103 เสียงของประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยนั้นสามารถพลิกโฉมการเมืองไทยได้ ขณะเดียวกันก็พลิกโฉมอนาคตของทั้งสองพรรคการเมืองได้ และเป็นโจทย์ที่ทั้งสองพรรคอาจจะอยากบอกว่า มันช่างเป็นทุกขลาภเหลือเกิน

พรรคประชาธิปัตย์ช่วงก่อนเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นประกาศจุดยืนแก่ “ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง” อย่างชัดเจนว่า “ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ”

ประกาศนี้ของอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคจะเป็นการยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยในตัวของเขาและของพรรคประชาธิปัตย์มากแค่ไหนไม่มีใครรู้

แต่ที่แน่ๆ มันคือการประกาศจุดยืนว่า คนที่จะเลือกประชาธิปัตย์ ย่อมไม่ใช่คนที่จะเลือกรวมพลังประชาชาติไทย และพลังประชารัฐ

ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่า ฐานเสียงของประชาธิปัตย์นั้นถูกแบ่งไปให้รวมพลังประชาชาติไทย และพลังประชารัฐ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวัดใจฐานเสียงของตนด้วยการชูอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” ในฐานะที่เป็น “ยี่ห้อ” ของพรรค และเพื่อเน้นย้ำความเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ มีความเป็นสถาบันพรรคการเมืองชัดเจน ต่อเนื่องที่สุดของประชาธิปัตย์

บวกกับการชูบทบาทของ New Dem ที่นำเสนอแนวคิด “ทันสมัย” สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การพูดเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์มีความ liberal มากขึ้น

แต่ในเกมนี้กลับกลายเป็นยากเพราะฐานเสียง “อนุรักษนิยม” หันไปเลือกพลังประชารัฐแน่นอน

ส่วนฐานเสียงคนรุ่นใหม่เป็นเสรีนิยมก็เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่นั้นน่าดึงดูดกว่า

จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคลำดับ 4 พ่ายแพ้ต่อพรรคการเมืองเกิดใหม่อย่างอนาคตใหม่แบบทิ้งห่าง

ทำให้ตัวพรรคเองต้องหันมาพูดกันเรื่องการรื้อฟื้น ฟื้นฟูพรรค และถ้ายังไม่มีการผ่าตัดใหญ่ในพรรค ก็มีแนวโน้มว่าพรรคอาจจะค่อยๆ ลีบลง จนกลายเป็นพรรคเล็กที่ไม่มีบทบาทอะไรในที่สุด

โจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพลังประชารัฐจึงยากอย่างยิ่ง

ถ้าร่วม พรรคก็ไม่สามารถอ้างอิงอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อีกต่อไป

ถ้าร่วม สถานะของพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นเพียงพรรคลูกไล่ของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งไม่แน่ใจว่าจะมีอำนาจต่อรองในตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะเอื้อให้พรรคได้งบประมาณ หรือได้โอกาสในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ฐานเสียงของตัวเอง

และทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป

พูดง่ายๆ ถ้าไปร่วมกับพลังประชารัฐแล้วล้มเหลว เลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคประชาธิปัตย์อาจกลายเป็นพรรคต่ำ 20

โอกาสฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ที่สวยที่สุดคือไปร่วมกับพรรคอนาคตใหม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่ประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจทั้งหมดและจะสวยที่สุดสำหรับพรรคประชาธิปัตย์

ถ้าในสมการนี้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน เท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน

หรืออีกสมการหนึ่งที่จะช่วยฟื้นประชาธิปัตย์ได้แต่ไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยคือ อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย ร่วมจัดตั้งรัฐบาลบนสัตยาบันปิดสวิตช์ ส.ว. และไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยกเก้าอี้นายกฯ ให้ประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐที่เป็นปีก “นักการเมือง” ก็ใช้โอกาสนี้ปลดแอกพรรค และปลดแอกตนเองจากปีกของรัฐบาลเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง – ซึ่งสมการนี้เป็นสมการที่เป็นไปไม่ได้มากที่สุด เรียกว่าภาวนาให้หมาออกลูกเป็นแมวยังจะง่ายกว่า

สมการที่เป็นไปได้มากที่สุด และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากสูญพันธุ์ในวันนี้สำหรับฉันคือ

1. ประกาศจุดยืนเป็นฝ่ายค้านโดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นฝ่ายรัฐบาล

2. ปฏิรูปพรรคให้กลับมาอยู่ใน track ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่ลมปาก เพราะสิบปีที่ผ่านมาน่าจะได้บทเรียนแล้วว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ก็จะไม่มีพรรคการเมืองตามธรรมชาติ จะมีแต่พรรคการเมืองตามฟังก์ชั่นของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะพรรคอะไรก็จะมีอันต้องสูญพันธุ์ไปทั้งหมดทั้งสิ้น

ถ้าไม่สูญเพราะถูกกฎหมายเล่นงานก็ต้องสูญเพราะถูก “ดูด” ถูก “กลืน” หรือถูกทำให้เป็นพรรคอันง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่อาจหล่อเลี้ยงฐานเสียงใดๆ ของตนได้เลย

สุดท้ายก็จะกลายเป็นพรรคที่ไม่มีมวลชนอีกต่อไป

ในด้านของพรรคภูมิใจไทย โจทย์เรื่องร่วมหรือไม่ร่วม ไม่ยากเท่าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่ได้แบก “ประวัติศาสตร์” เอาไว้อย่างพรรคที่เก่าแก่ที่สุด

และไม่ได้ positioning ตัวเองไว้กับจุดยืนประชาธิปไตย เท่ากับจุดยืนของการผันผลประโยชน์ไปสู่ฐานเสียงของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม

เรียกได้ว่าเป็นพรรคที่ไม่สนใจว่าหนูจะสีอะไรขอให้จับแมวได้เป็นพอ

สิ่งเดียวที่พรรคภูมิใจต้องแบกเอาไว้คือ สัญญาที่หัวหน้าพรรค อนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศในทุกเวทีดีเบตและการหาเสียงว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และนั่นฉันเชื่อว่า ทำให้พรรคภูมิใจไทยกวาดมาถึง 51 เสียงในท้ายที่สุด

ซึ่งเสียงตรงนี้สำคัญมาก

เพราะถ้าภูมิใจไทยทรยศต่อสัญญาประชาคมอันนี้ของตนก็ย่อมมีผลต่อผลการเลือกครั้งหน้า และนั่นอาจจะไม่สำคัญเท่า ถ้าภูมิใจไทยไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีที่ “ใช่” หลายๆ นโยบายที่ไปสัญญาไว้กับฐานเสียงของตนเองก็อาจจะทำไม่ได้ อย่าลืมว่าการเป็น “พรรคร่วม” นั้น แค่ร่วมรัฐบาล แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “พรรคร่วม” ก็คือพรรคคู่แข่งของพรรคหลัก พรรคหลักที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลย่อมสามารถวางแผนว่าในระหว่างที่เป็นรัฐบาลนี้ จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งหน้าตนเองจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม และพรรค “ร่วม” อื่นๆ จะได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม เพื่อลดอำนาจการต่อรองของพรรคร่วม

เพราะฉะนั้น การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องความโลภของนักการเมืองเท่านั้น แต่เก้าอี้รัฐมนตรีที่ “ใช่” คือหลักประกันว่านักการเมืองจะสนองความต้องการของฐานเสียงของตนเองได้มากหรือน้อย

และนั่นคือหลักประกันว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคนี้จะฟูขึ้นหรือจะค่อยๆ ลีบลงไปอีก

โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยคือ ถ้ารวมกับพลังประชารัฐ โอกาสจะ “ลีบ” ก็สูง

ตรงกันข้ามถ้าไปรวมกับปีกประชาธิปไตย นอกจากจะได้ “ภาพ” ว่ารักษาคำมั่นที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ได้ภาพว่าเป็นมีส่วนในการผดุงประชาธิปไตยของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน แล้วยังจะได้ทั้งตำแหน่งนายกฯ ได้เก้าอี้รัฐมนตรีที่ “ใช่”

โจทย์ของภูมิใจไทยเกมนี้จึงง่ายกว่าประชาธิปัตย์มาก ถ้าจะยากก็คงมีสถานเดียวคือสถานะที่รู้สึกว่าพิง คสช.ไว้อาจจะอุ่นใจกว่า

ส่วนที่ยากที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐที่มีทุกอย่างอยู่ในมือแล้วก็ยังตั้งรัฐบาลยาก

แค่ต้องเกลี่ยเก้าอี้ ตำแหน่งให้ทุกมุ้งที่อยู่ในพรรคก็ปวดหัวจะแย่ ไหนจะต้องมาต่อรองเก้าอี้ ตำแหน่งต่างๆ จากพรรคที่ต้องไปขอเสียงเขามาร่วมรัฐบาล

แต่โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีอยู่แค่นั้น และอาจจะไม่ใช่เรื่องความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

เพราะถ้า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลงานที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและวางใจ-เรื่องมันจะไม่ยากขนาดนี้