หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘สุภาพบุรุษ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางป่า - กวางตัวผู้ที่ผลัดเขาเก่าไปแล้ว เขาใหม่เริ่มงอก มันเดินผ่านที่โล่งอย่างระมัดระวัง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สุภาพบุรุษ’

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

มีชายหนุ่มร่างสันทัด ผิวขาว ชื่อว่า เกียรติศักดิ์ และคนที่นี่ส่วนใหญ่เรียกเขาว่า “นนท์” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเขา

นนท์อยู่ในฐานะที่เรียกได้ว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในป่าแห่งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่มีสถานภาพเหมือนกันคือ ลูกจ้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย

นนท์ผู้มีเมียหนึ่ง ลูกหนึ่งคน เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เป็นชายไทยเชื้อชาติไทย

เขาจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ

ในสายตาของผม นนท์เป็น “สุภาพบุรุษ”

 

นิยามของคำว่า “สุภาพบุรุษ” ที่คนในเมืองกำหนดไว้มีอะไรบ้าง ผมไม่แน่ใจนัก

แต่ถ้าสุภาพบุรุษต้องมีใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น และให้เกียรติสุภาพสตรีมากๆ

ผู้ชายในป่ามีคุณสมบัตินี้ครบ

ว่าตามจริง ผมยังไม่เคยพบผู้ชายในป่าคนไหนที่ไม่ให้เกียรติผู้หญิง พูดตามภาษาบ้านๆ ว่าเกรงใจ หรือพูดให้ถูก ไม่ “กลัว” เมียเลย

ไม่ว่าจะเก่งกล้าสักเพียงไหน เคยปะทะผู้ต้องหา เดินป่าโชกโชน เป็นที่ยอมรับของทุกคน เวลาอยู่ในหมู่พวก หรือวงเหล้า เสียงดัง คุยสารพัด แต่ถ้าเมียเฉียดมาใกล้ๆ จะเงียบราวปลิดทิ้งแทบหายเมา ลุกเดินกลับที่พักไปอย่างหงอยๆ

“เมื่อคืนขังเมียไว้ในห้อง” รุ่งเช้าบางคนยังคุย ความจริงคือตัวเองต้องนอนข้างนอก

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านรอบๆ เขต บางหมู่บ้านอยู่ในเขต

พวกเขามีคุณสมบัติในความเป็นสุภาพบุรุษครบถ้วน อดิเทพคู่หูผม นั่นไม่รู้เรื่องอะไรในบ้านเลย เมียจัดการหมดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทุกคน อยู่นอกบ้าน ถ้าใครถามว่า ในบ้านใครเป็นผู้นำ

“ก็ผมนี่แหละ” ตอบเสียงดัง

ถ้ามีคำถามต่อว่า หากมีปัญหาต้องตัดสินใจ ทำยังไง คำตอบจะเหมือนๆ กัน

“แล้วแต่เมีย”

ร้อยทั้งร้อย เวลามาลางาน เมื่อหัวหน้าถาม ลาไปทำอะไร

“เมียให้ไป” คำตอบจะเริ่มแบบนี้

 

มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจริงคือ ผู้หญิงในป่า มีความเป็น “สุภาพสตรี” มาก พวกเธอให้เกียรติผู้ชายของเธอเสมอ

ในการประชุมหมู่บ้าน พวกเธอนั่งหลังๆ ปล่อยให้ผู้ชายแสดงบทบาท

มีแขกมากินข้าวที่บ้าน ก็ดูแลอย่างดี ไม่ร่วมวงด้วย หากินทีหลัง

ดูเผินๆ คล้ายเป็นความไม่เสมอภาคทางเพศ

แต่นี่คล้ายการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ

เพราะรู้กันอยู่ว่า เอาเข้าจริง “ใครใหญ่” ไม่ต่างจากในสังคมของสัตว์ป่า สัตว์ฝูง นำโดยตัวเมียที่มีประสบการณ์

ตัวผู้เมื่อโตจะถูกขับออกไป เหตุผลหลักคือ ป้องกันการผสมแบบเลือดชิด

และการทำตัวให้หล่อ เข้มแข็ง ของเหล่าตัวผู้ รวมทั้งการทะเลาะ หรือลงมือต่อสู้

ก็เพราะมีตัวเมียอยู่เบื้องหลัง

 

ผู้ชายในป่า เมื่อเมียไม่อยู่ใกล้ๆ หรืออยู่ในวงเหล้า จะเก่งมาก คุยโตสารพัด เรื่องซ้ำๆ ต่างคนต่างโม้ ไม่มีใครฟังใคร

นนท์ก็เป็นเช่นนี้

วีรกรรมสุดยอดของนนท์ คือ คว้าเอาลูกสาวคนสวยของลุงก้อ พิทักษ์ป่าอาวุโส ที่ทุกคนเกรงใจ ผู้เริ่มงานในป่าทุ่งใหญ่ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น มาเป็นเมีย

“ท่าทางลุงก้อหวงลูกสาวจะตายคุณ กล้าไปขอได้ไง” ผมเคยถามนนท์

“ตอนนั้นพ่อตาโดนย้ายไปฮาลาบาลา นราธิวาส โน่นครับ ผมเลยรวบรัดได้” นนท์เผย

นนท์เป็นผู้ชายร่าเริง ทำให้เพื่อนๆ หัวเราะได้ตลอด

และเพื่อนๆ ก็รู้ดีว่า นนท์กลัววารุณี ภรรยา ที่ทำหน้าที่เสมียนอยู่บนสำนักงานมาก

“เอ้ะน่ะโชคดีที่ได้ผมนะครับ” วันหนึ่งผมเดินป่ากับนนท์ มีโอกาสคุยกันนาน

“ได้ผมมาโชคดีจะตาย” เขาย้ำ

“โชคร้ายมากกว่ามั้ง” ผมตบไหล่นนท์ที่เดินอยู่ข้างหน้า

เพราะเอ้ะ หรือวารุณี คือสาวงามไม่เป็นรองใครคนหนึ่ง

“ในบ้านผมทำให้ทุกอย่างแล้วแต่จะสั่ง ตื่นเช้า ผมบีบยาสีฟันไว้ให้ด้วย วันไหนบีบยามากไปก็โดนว่า ไม่ประหยัด ดุอีก”

ดูภายนอก นนท์เป็นผู้ชายประเภท “ล้นๆ”

แต่เวลาทำงาน เขาเอาจริง ผมเห็นตอนเขานำเสนอผลการลาดตระเวนประจำเดือนแบบจริงจัง ข้อมูลเตรียมมาอย่างละเอียด และเสนอวิธีแก้ไข เพื่อวางแผนการลาดตระเวนครั้งหน้า

 

ในระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ วันประชุม ทุกหน่วยจะส่งตัวแทนมานำเสนอผลการลาดตระเวน หน่วยพิทักษ์ป่าละสองคน บางหน่วยต้องใช้เวลาเดินทางสามวัน ส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ นอกจากในฤดูฝน ทางยากเกินไป ต้องใช้การเดิน

“ถ้าใครจอดมอเตอร์ไซค์ด์ไว้ไม่ดี รถหายประจำครับ” ศุภกิจ หัวหน้าหน่วยทิคอง บอก

“ไอ้นนท์แหละตัวดี มันชอบเอารถไปซ่อน” บางครั้งเขาอุตสาหะ ขนาดยกขึ้นไปซ่อนบนกระท่อม

เรื่องนี้ทำเอาบางคนโกรธ แต่นนท์ดูจะไม่ถือ

 

“ตอนวัยรุ่น ผมไม่เคยมีแฟน ไม่เคยจีบผู้หญิงด้วยซ้ำ” นนท์เล่า

เขาเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ พักหนึ่ง

“เรียนไม่จบอะไรหรอกครับ เบื่อๆ ซะก่อน”

กิจกรรมสุดโปรดของนนท์คือ ขี่มอเตอร์ไซค์

“รถผมไม่แรงเหมือนคนอื่นจึงหาวิธีขี่แบบเท่ๆ โชว์” นนท์ว่า

ขี่แบบเท่ๆ ของเขาคือ นอนคว่ำราบไปกับเบาะ ใช้มือเปลี่ยนเกียร์

สองปีก่อน หลังกินเลี้ยงบ้านพ่อตาในหมู่บ้านห้วยเสือ นนท์ขี่รถกลับเขต … เส้นทางช่วงแรกเป็นทางลูกรัง

“วันนั้นคึกยังไงไม่รู้ อยากขี่แบบเท่ เลยใช้วิชาเก่า” เขาเล่า

ผลการอยากเท่ นนท์สลบไป 7 วัน รถคว่ำหัวฟาดพื้น

“รู้สึกตัวอีกที อยู่โรงพยาบาลพหลเมืองกาญจน์แล้ว รอดมาได้อย่างไรไม่รู้”

“รู้สึกตัว คิดถึงเมียล่ะสิ” ผมถาม นนท์ยิ้มพลางส่ายหัว

“ไม่หรอกครับ แวบแรกที่นึกคือ เงินที่ซ่อนไว้จะยังอยู่ไหม” ผมอดขำไม่ได้

“นนท์นี่แปลก ชอบซ่อนเงิน ทั้งๆ ที่เงินนั่น หนูเป็นคนให้แท้ๆ” วารุณีเล่า ผมไปกินข้าวที่ห้องพักนนท์บ่อย

“เวลาไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ บ้าง เอ้ะให้ไปแค่ 500 มันไม่อุ่นใจครับ ต้องมีเผื่อสักหน่อย แต่ซ่อนไว้ไหน เอ้ะก็หาเจอหมดแหละ”

 

ในหลายป่าที่ทำงาน ผมพบว่า ผู้ชายในป่ามีคุณสมบัติคล้ายกับนนท์ คือมีความเป็นสุภาพบุรุษในความหมายนี้ครบถ้วน

เย็นวันหนึ่ง ผมเดินผ่านห้องพักนนท์

“วันนี้กินข้าวด้วยกันครับ” เขาชวน

“ทำอะไรกินล่ะ”

“ยังไม่รู้ครับ แล้วแต่เอ้ะจะสั่ง ผมเตรียมๆ ไว้ก่อน” นนท์ตอบ

ผมยิ้มขณะมองผู้ชายที่กำลังปอกกระเทียม

“สุภาพบุรุษ” นนท์

 

มีคนแบบนนท์อยู่ในป่าทั่วประเทศ กำลังทำงานในป่าลึก

พูดให้ดูยิ่งใหญ่ พวกเขาทำงานปกป้องสิ่งที่โลกให้ความสำคัญ

พูดให้ดูเกินๆ ไปได้อีก

พวกเขาปกป้องโลก

แต่ดูเหมือน “โลก”

จะไม่เคยรู้จักพวกเขา…