สุจิตต์ วงษ์เทศ/ อินทราภิเษก สมัยอยุธยา ชักนาคดึกดําบรรพ์ ด้วยหนังใหญ่

พระราชพิธีอินทราภิเษก (ผู้รู้บอกว่าเป็นลายรดน้ำบนฉาก เคยตั้งอยู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

อินทราภิเษก สมัยอยุธยา

ชักนาคดึกดําบรรพ์ ด้วยหนังใหญ่

 

โขนมาจากหนังใหญ่ เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ (กวนเกษียรสมุทร) มีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นอยุธยา ที่อ่านยาก เข้าใจยาก เพราะเขียนด้วยสำนวนภาษาชั้นสูง และเก่าแก่ราว 500 ปีมาแล้ว

ผู้รู้ทางอักษรศาสตร์ด้านนี้มีมาก แต่ยังไม่ได้ถอดความให้ง่ายสำหรับคนทั่วไปอ่านเบื้องต้น

ผมอยากรู้ แต่อ่านไม่ได้ศัพท์ เลยจับมากระเดียดอย่างอ่อนหัด เพื่อแก้ขัดไปพลางก่อน

 

สาระสำคัญ

 

พระราชพิธีอินทราภิเษก มีหนังใหญ่เล่นชักนาคดึกดําบรรพ์ สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เรือน พ.ศ.2000

หนังใหญ่ ฉลักฉลุเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ เทวดา, สัตว์หิมพานต์, และอื่นๆ (เล่นชักนาคดึกดําบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษก) มีบอกดังนี้

“ยอดพระสุเมรุรูปพระอินทร์”, “รูปอสูรกลางพระสุเมรุ”, “รูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในตีนพระสุเมรุ”, “ไกรลาสรูปพระอีศวรเป็นเจ้าและนางอุมาภควดี” ตลอดจน “รูปยักษ์คนธรรพ์รากษสยืนตีนพระสุเมรุ”, “รูปคชสีห์ราชสีห์สิงโตกิเลนเลียงผาช้างโคกระบือและเสือหมี” ฯลฯ

หน้ากาก ตํารวจเล็กกับมหาดเล็กใส่หน้ากากเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์โดยแต่งเป็นรูปต่างๆ มี อสูร, เทวดา, วานร ฯลฯ แล้วสวมลอมพอกบนศีรษะ (เพราะครั้งนั้นยังไม่มีศีรษะโขน แต่จะเริ่มมีสมัยปลายอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์)

การละเล่น ชักนาคดึกดําบรรพ์เป็นการละเล่นกวนเกษียรสมุทรในพิธีกรรมทางการเมืองของรัฐ (หรือนาฏกรรมแห่งรัฐ) ที่ทุกคนอยู่ในพิธีล้วนมีส่วนร่วมการละเล่น จึงไม่เป็นมหรสพ ไม่เป็นการแสดง เพราะไม่มีคนดูแยกต่างหากจากคนเล่นหรือแสดง

หมายกําหนดการระบุต่างหากในตอนท้ายว่ามีมหรสพ 30 วัน แสดงมหรสพมีคนดูการแสดงซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ชักนาคดึกดําบรรพ์

เครื่องประโคม ไม่พบในหมายกําหนดการ แต่เชื่อว่ามีประโคมเพลงตามช่วงเวลาสําคัญเป็นที่รับรู้กันด้วยเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ แตร, สังข์, บัณเฑาะว์ และปี่พาทย์ฆ้องวง (หมายถึง ปี่, กลองทัด, ฆ้องวง แต่ไม่มีระนาด)

อินทราภิเษก หมายถึง รดน้ำสถาปนาพระอินทร์เป็นใหญ่ที่สุดของทวยเทพบนสวรรค์ ด้วยการชักนาคดึกดําบรรพ์ คือ กวนเกษียรสมุทร ได้น้ำอมฤตเป็นสัญลักษณ์ของพลังอํานาจเหนือผู้อื่น

แสดงว่ายกย่องพระอินทร์เป็นเทวราชสูงสุดของบ้านเมืองนับถือพุทธศาสนา เถรวาทอย่างกรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยพิธีกรรมความเชื่อลัทธิเทวราชของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วิษณุนิกายแบบนครวัด ในกัมพูชา

จึงพบว่าในกฎมณเฑียรบาลข้อความพรรณนาพระราชพิธีนี้ระบุตําแหน่งพระอินทร์เป็นเทวดาใหญ่สุด และประทับบนเขาพระสุเมรุ มียอดเขาสูงสุดกว่าภูเขาอันเป็นที่ประทับของเทวดาอื่นๆ

ถือน้ำสาบาน คือ ถือน้ำพระพัทธ์ (เดิมเรียกถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) ทําวัน 14 ของพระราชพิธีอินทราภิเษก นับเป็นกิจกรรมสําคัญอย่างหนึ่งของชักนาคดึกดําบรรพ์

เป็นพิธีกรรมแสดงอํานาจของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ได้รับยกย่องเป็นพระจักรพรรดิราช

 

สนามหน้าวังหลวง อยุธยา

 

สรุปความอย่างสังเขปจากกฎมณเฑียรบาล (แต่งตราขึ้นราว พ.ศ.2000) โดยพยายามทำให้อ่านง่าย ดังนี้

พระราชพิธีอินทราภิเษกจัดบริเวณสนามหน้าวังหลวง (สมัยหลังเรียกสนามหน้าจักรวรรดิ) ถึงหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวแนวเหนือ-ใต้ แบ่งพื้นที่ 2 ส่วน เรียกในสนาม กับ นอกสนาม

ในสนาม จําลองภูเขาศักดิ์สิทธิ์ไว้กลางสนาม พร้อมตั้งราชวัติ, ฉัตร, ธง

เขาพระสุเมรุ สูง 50 เมตร เรียกเป็นเหลี่ยม มีเหลี่ยมทอง, เหลี่ยมนาก, เหลี่ยมแก้ว, เหลี่ยมเงิน – เขาอิสินธร สูง 40 เมตร เหลี่ยมนาก – เขายุคุนธร สูง 40 เมตร เหลี่ยมทอง – เขากรวิก สูง 30 เมตร เหลี่ยมเงิน – เขาไกรลาส สูง 20 เมตร เหลี่ยมเงิน

เขาพระสุเมรุ รูปพระอินทร์ตั้งบนยอดเขา รูปอสูร ตั้งอยู่กลางเขา, รูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตั้งอยู่ตีนเขา, รูปนาค 7 เศียร เกี้ยวพันรอบเขา รูปตั้งตีนเขาประกอบด้วย (อมนุษย์และสัตว์หิมพานต์) ยักษ์, คนธรรพ์, รากษส, คชสีห์, ราชสีห์, สิงโต, กิเลน, เลียงผา, ช้าง, โค, กระบือ, เสือ, หมี

เขาไกรลาส รูปพระอีศวรกับนางอุมาภควดีตั้งบนยอดเขา

นอกสนาม อสูรยืนนอกกําแพง มีโรงรํา, โรงระทาดอกไม้

ขุนนางข้าราชการฝ่ายมหาดไทยเตรียมพร้อมสนองงานชักนาคดึกดําบรรพ์ ตํารวจเล็ก 100 คน แต่งเป็นอสูร ชักทางหัวนาค มหาดเล็ก 100 คน แต่งเป็นเทวดา ชักทางหางนาค และอีก 103 คน แต่งเป็นพาลี, สุครีพ, มหาชมภูกับบริวาร ชักปลายหางนาค

รอบๆ สนามมีพนักงานกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กองช้าง, กองม้า และกองจตุรงค์ ขุนนางระดับสูงต่ำแต่งเครื่องเต็มยศตามลําดับศักดินา บางพวกถือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ตามตําแหน่ง พร้อมข้าวตอกดอกไม้ถวายบังคม

บริเวณกั้นด้วยราชวัติเป็นพื้นที่พักรอของพราหมณ์ตระกูลต่างๆ ตามหน้าที่

 

หมายกําหนดการ

 

วันแรก-วัน 5 (มีข้อความบอกไว้ทุกวัน แต่อ่านเข้าใจยากและไม่เข้าใจ คล้ายระบุเป็นช่วงเตรียมงานสําเร็จใน 5 วัน)

วัน 6 ชักนาคดึกดําบรรพ์ ตั้งน้ำสุรามฤต (อมฤต) 3 ตุ่ม ตั้งช้างเอราวัณ, ม้าเผือก, โคอุสุภราช, ครุฑ ฯลฯ ตั้งเครื่องสรรพยุทธ, เครื่องช้าง, เชือกบาศก์, หอก, โตมร, ของ้าว ทั้งหมดชุบ (แช่) ในตุ่มน้ำสุรามฤต

วัน 7 รูปเทวดาในพิธีชักนาดึกดําบรรพ์ พระอีศวร, พระนารายณ์, พระอินทร์, “พระพิศวกรรม์” (เทวดาท้องถิ่น) เชิญทั้งหมดร้อยเรียงลําดับกัน พร้อมถือเครื่องสํารับถวายพระพร (พระเจ้าแผ่นดิน)

วัน 8 พราหมณ์ถวายพระพร – วัน 9 ท้าวพญาถวายพระพร – วัน 10 ถวายช้างม้าจตุรงค์ – วัน 11 ถวายพระคลัง – วัน 12 ถวายส่วยสัดพัฒยากร – วัน 13 ถวายเมือง – วัน 14 ถือน้ำสุรามฤต – วัน 15 ยกบํานาญถวายเทวดา – วัน 16 ยกรางวัลให้ท้าวพญา – วัน 17 ยกรางวัลให้ขุนหมื่น – วัน 18 พระราชทานรางวัลแก่พราหมณาจารย์ – วัน 19, 20, 21 “ซัดกรรมพฤกษ” (รวมสามวัน) – วัน 22, 23, 24 “ปรายเงินทอง” (รวมสามวัน)

เล่นมหรสพ 30 วัน ตั้งรูปกุมภัณฑ์ สูง 40 เมตร มหาดเล็กแต่งเป็นวานร ลอดออกจากหู, ตา, จมูก, ปาก (ของกุมภัณฑ์)

ครั้นเสร็จการพระราชพิธีเหล่านั้นหมดแล้ว เสด็จราชรถให้ทานรอบเมือง จบการอินทราภิเษก

 

ทำให้อ่านง่าย

 

ทั้งหมดที่เขียนเล่ามานี้ ผมดัดแปลงเป็นเบื้องต้นให้อ่านง่าย ผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องโขนควรพยายามอ่านจากต้นฉบับจริง แล้วทำความเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งอาจมองต่างจากที่เล่ามานี้ก็ได้ ไม่มีข้อยุติ