คนมองหนัง : ดู “หนังญี่ปุ่นร่วมสมัย” ในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว 2016

บทความนี้จะเป็นชิ้นส่งท้ายของชุดงานเขียน ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วย “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2016”

โดยในชิ้นสุดท้ายจะขอกล่าวถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นร่วมสมัยสามเรื่อง ที่ผมมีโอกาสได้ชมในเทศกาลประจำปีนี้

ขอเริ่มต้นจากหนังที่ประทับใจน้อยที่สุดกันก่อน นั่นคือ “Snow Woman” ผลงานของนักแสดง-ผู้กำกับฯ หญิง “กิกิ ซูกิโนะ”

หนังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน “เจ้าหญิงหิมะ” ของญี่ปุ่น ผ่านเนื้อหา-โครงเรื่องที่ดูได้เพลินๆ แต่ก็ค่อนข้างราบเรียบและไม่มีอะไรแปลกใหม่ (ทั้งในแง่การตีความ รวมถึงงานด้านโปรดักชั่น)

กล่าวอย่างง่ายๆ คือ หนังเรียบร้อยเกินไป และไม่กล้าแหวกจารีตเดิมๆ มากนัก

ไปๆ มาๆ สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดใน “Snow Woman” กลับกลายเป็นการทดลองเล่นกับ “แสง” (ไฟนีออน) ตอนช่วงต้นๆ เรื่อง

แต่องค์ประกอบที่ว่าก็ไม่ได้ถูกสานต่อหรือขยายความในหนังมากเท่าที่ควร

หนังญี่ปุ่นอีกเรื่องที่ผมได้ชมและค่อนข้างพอใจ ก็คือ “Japanese Girls Never Die” โดยผู้กำกับฯ หนุ่ม “ไดโกะ มัตซุย”

แม้จะเป็นผลงานของคนทำหนังเพศชาย แต่หนังดูสนุกเรื่องนี้กลับมีธีมหลักที่เอนเอียงไปหาแนวคิดแบบ “เฟมินิสต์” ผ่านการพูดถึงตัวละครผู้หญิงสามคน/กลุ่ม

คนแรก เป็นสาวออฟฟิศวัยยี่สิบกว่าๆ ที่การผิดหวังจากความรักครั้งล่าสุด ส่งผลให้เธอตัดสินใจ “หายตัวไป” จากสังคม และการหายตัวดังกล่าวก็กลายมาเป็น “ประเด็นใจกลาง” ของหนัง

คนต่อมา เป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่เพิ่งจบมัธยม เธอคบหาอยู่กับเพื่อนชายคนหนึ่ง โดยเธอและเขา รวมทั้งเพื่อนผู้ชายรุ่นเดียวกันอีกคน ได้ตระเวนพ่นภาพกราฟิตี้เป็นรูปของ “หญิงคนแรก” ที่หายตัวไป ตามพื้นที่สาธารณะ กระทั่งภาพกราฟิตี้เหล่านั้นโด่งดังเป็นกระแสขึ้นมา

แต่สุดท้าย พอมีสมาชิกในกลุ่มถูกตำรวจจับกุม จากความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หนุ่มสาวนักพ่นกราฟิตี้กลุ่มนี้ก็แตกกระเจิงและแยกย้ายกันไปคนละทาง

ที่โหดร้ายกว่านั้น คือ หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง เด็กหนุ่มสองคนในกลุ่มก็ได้กลายสถานะมาเป็นศิลปินต้นแบบของชุมชน ซึ่งมีพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะกราฟฟิตี้แนว “ขบถ” ของตนเอง ผิดกับเพื่อนสาวอีกคนที่ไม่ถูกระบุถึงในสื่อและถูกทอดทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ บรรดาเด็กหญิงนักเรียนมัธยม ที่รวมตัวกันเป็น “เกิร์ล แก๊ง” ซึ่งออกไล่ล่ารุมทำร้ายผู้ชายที่เดินไปไหนมาไหนคนเดียวยามค่ำคืน เพื่อเป็นการล้างแค้นที่ “ผู้หญิง” มักถูกกระทำจาก “ผู้ชาย” (ไม่ว่าจะในเชิงโครงสร้าง กายภาพ หรืออารมณ์ความรู้สึก)

หนังเชื่อมโยงให้เห็นว่าแม้แต่ชายหนุ่มแฟนเก่าของผู้หญิงคนแรก ตลอดจนเด็กหนุ่มคนหนึ่งในทีมกราฟิตี้ ก็ล้วนเคยตกเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกซ้อม/กระทืบโดยเด็กผู้หญิงกลุ่มนี้มาแล้วทั้งนั้น

จริงๆ แล้ว ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้นั้นน่าสนใจมาก ส่วนเรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างเพลิดเพลินไม่ติดขัด

น่าเสียดาย ที่หนังถูกนำเสนอออกมาเป็น “การ์ตูน” เกินไปหน่อย มิหนำซ้ำ บทสรุปสุดท้ายก็ดันพลิกผัน “ฟุ้งลอย” ประหนึ่งภาพ “แฟนตาซี” ซึ่งหลุดออกจากความสมจริงไปเลย

ภาพยนตร์ที่พยายามจะมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพสังคมร่วมสมัยเรื่องนี้ จึงมิอาจสนทนากับประเด็นปัญหาของโลกยุคปัจจุบันได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

https://www.youtube.com/watch?v=Qphr_ROo6xk

น่าสนใจว่า “Snow Woman” และ “Japanese Girls Never Die” คือ สองตัวแทนจากญี่ปุ่นในสายการประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ กลับไป และผู้ที่ตั้งข้อสังเกตถึงหนังสองเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ก็เห็นจะเป็น “ฌอง-ฌากส์ บีนีกซ์” ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลในสายการประกวดหลัก ซึ่งบอกว่าตัวแทนจากญี่ปุ่นคู่นี้เป็นคล้าย “ขั้วตรงข้าม” ของกันและกัน

กล่าวคือ ในขณะที่ “Snow Woman” เล่าเรื่องราวแบบญี่ปุ่นโบราณตามจารีตประเพณี “Japanese Girls Never Die” กลับมีรูปแบบการนำเสนออันบ้าคลั่ง โดยเรื่องราวในหนังได้ถูกทำให้แตกตัวพลิกหัวกลับหางผ่านกระบวนการลำดับภาพ

บีนีกซ์เห็นว่าหนังทั้งสองเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มผลงาน “สองกระแส” ในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น แต่บางที “โลกความจริง” อาจมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่าง “สองกระแส” ดังกล่าว

กลายเป็นว่าหนังญี่ปุ่นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางจริงๆ และได้รับรางวัลในสายรองของเทศกาลประจำปีนี้ (รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสายการประกวด “The Japanese Cinema Splash”) คือ “POOLSIDEMAN” ผลงานของ “ฮิโรบูมิ วาตานาเบะ”

ในเทศกาลปีก่อน ผมได้ดูหนังเรื่อง “7 Days” ของผู้กำกับภาพยนตร์รายนี้ ซึ่งเป็นหนังขาวดำ บอกเล่าวิถีชีวิตสามัญและกิจวัตรประจำวันอันคล้ายจะซ้ำซากจำเจในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ของย่าและหลานชายคู่หนึ่ง (หลานชายแสดงโดยตัวผู้กำกับฯ เอง) แล้วก็รู้สึกชอบมาก

มาปีนี้ พอเห็นว่าหนังของวาตานาเบะได้กลับมาฉายในเทศกาลอีกหน เลยไม่ลังเลใจที่จะเดินเข้าไปชมผลงานเรื่องล่าสุดของเขา

ก่อนจะพบว่านี่คือภาพยนตร์ที่น่าประทับใจมากๆ เรื่องหนึ่ง

“POOLSIDEMAN” ยังคงถูกนำเสนอผ่านการถ่ายภาพแบบข่าวดำ ในช่วงต้นๆ หนังเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวันของหนุ่ม พนักงานประจำสระว่ายน้ำผู้โดดเดี่ยว

เขาอยู่บ้านตัวคนเดียว ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่สุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ปริปากพูดคุยกับใคร เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองไปเรื่อยๆ นั่งฟังข่าววิทยุซ้ำเดิมทุกวัน กินอาหารแบบเดิมๆ แล้วก็มีงานอดิเรกเป็นการดูหนัง (น่าจะเกี่ยวกับสงคราม) ในโรงภาพยนตร์เกือบร้างแห่งเดิม

ถ้าหนังตลอดทั้งเรื่องดำเนินไปในวงจรจำเจเช่นนั้น “POOLSIDEMAN” ก็อาจก้าวเดินซ้ำลงบนรอยทางเดิมของ “7 Days”

แต่วาตานาเบะก็มีของมากพอ จนไม่พลัดตกลงไปใน “กับดักหลุมพราง” ดังกล่าว

“POOLSIDEMAN” เพิ่มเติม “จุดเปลี่ยนเล็กๆ” เข้าไปในตอนกลางเรื่อง ผ่านการกำหนดสถานการณ์ให้พระเอกต้องไปปฏิบัติงานที่สระว่ายน้ำแห่งอื่นเป็นการชั่วคราว ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง (ซึ่งแสดงโดยตัวผู้กำกับภาพยนตร์ – ฮิโรบูมิ วาตานาเบะ)

เพื่อนร่วมงานคนนี้กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นพวกแปลกแยกจากกระแสสังคมเหมือนกันกับพระเอก แต่เขาไม่ใช่คนเงียบ และเอาแต่จ้อๆๆๆ เรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย ฯลฯ โดยมีพระเอกเป็นฝ่ายรับฟังอยู่เงียบๆ

การเพิ่มเนื้อหาส่วนนี้และตัวละครสมทบรายนี้เข้ามากลายเป็นสีสันที่สนุกสนานอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยบทสนทนาจิกกัดสังคมที่ตัวละครเพื่อนพระเอกเกือบจะเป็นผู้พร่ำพูดอยู่เพียงฝ่ายเดียว

บทพูดหนึ่งที่เปี่ยมอารมณ์ขันและชวนขบคิดมากๆ เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนพระเอกตั้งข้อสังเกตว่าคนรุ่นเขา คือ พวกเจเนอเรชั่น “ดราก้อนบอล” ซึ่งต้องต่อสู้กับจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างหรือพิสูจน์บางสิ่งบางอย่างภายในจิตวิญญาณของตนเอง (พูดอีกแบบ คือ มีลักษณะเติบโตเปลี่ยนผ่านในลักษณะปัจเจกบุคคล)

ผิดกับเด็กวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ที่เป็นพวกเจเนอเรชั่น “วันพีซ” ซึ่งต้องตัดสินใจหรือคิดทำอะไรในแบบรวมหมู่ ร่วมกันคิด-ร่วมกันทำ หรือพอใครเริ่มต้นทำอะไร ก็เฮตามๆ กันไป ซึ่งเพื่อนพระเอกเห็นว่าเป็นสิ่งไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่

แต่หนังก็เพิ่มเติมแง่มุมตลกร้ายที่ทำให้บทพูดของตัวละครรายนี้มีความย้อนแย้งในตัวเอง เมื่อในอีกไม่กี่ฉากต่อมา ตัวละครคนเดิมได้พร่ำบ่นขึ้นมาว่า มนุษย์ในสังคมปัจจุบันนั้นมีลักษณะตัวใครตัวมัน โดยต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว และไม่คิดถึงหัวอกคนอื่น

 

ทว่า หลังจากค่อยๆ สอดแทรก “จุดเปลี่ยน” ขำๆ เข้ามาในหนัง วาตานาเบะก็ตลบหลังผู้ชมอีกหนึ่งรอบ ด้วยการค่อยๆ เปิดเผยพฤติกรรมบางด้านของพระเอก ว่าเขาอาจมีปมและความสนใจเฉพาะตัวบางอย่าง

หนังชี้ให้เห็นแนวโน้มเป็นนัยๆ ว่า พระเอกอาจคือหนึ่งในชาวญี่ปุ่นที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปร่วมสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มไอเอส!

แล้วสุดท้าย พระเอกก็ตัดสินใจละทิ้งวิถีชีวิตประจำวันอันซ้ำซากและเปล่าเปลี่ยวในสระว่ายน้ำขึ้นมาจริงๆ หนังมิได้เฉลยอย่างชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายลำดับถัดไปของเขาคือสถานที่ใดและการลงมือทำอะไร

เพราะวาตานาเบะถ่ายถอดให้ผู้ชมมองเห็นเพียงภาพรางๆ ที่ยิ่งขับเน้นความโดดเดี่ยวแปลกแยกของปัจเจกบุคคล ซึ่งกำลังเดินดุ่มมุ่งหน้าเข้าไปผสานกลืนกลายกับฝูงชนกลุ่มใหญ่

แน่นอนว่าจุดแข็งสำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลให้ภาพยนตร์ของวาตานาเบะโดดเด่นออกมาจากหนังญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ ในเทศกาล ก็ได้แก่การพยายามสร้างบทสนทนากับสถานการณ์โลกร่วมสมัย

เหมือนดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงหนังเรื่องนี้เอาไว้ว่า “POOLSIDEMAN” เป็นหนึ่งใน “ภาพยนตร์การเมือง” ที่หาได้ยากยิ่งในประเทศซึ่งพยายามแสดงตนว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” อย่างญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน หนังก็ท้าทายความเชื่ออันใสซื่อที่เห็นว่าญี่ปุ่นเป็น “เกาะอันโดดเดี่ยว” ซึ่งแยกตัวออกจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายต่างๆ ของโลกภายนอก