วิเคราะห์ : ปะการังค่อยๆหายไป จากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ว่ากันด้วยเรื่องปะการังฟอกขาวต่ออีกสักครั้ง เพราะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกยังแปรปรวน อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนระอุอย่างที่เป็นอยู่นี้ มีผลร้ายต่อแหล่งปะการังทั่วโลก

ในรายงานของวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเคยทำนายทายทักว่า ภายในศตวรรษนี้แหล่งปะการังราว 99 เปอร์เซ็นต์จะเจอกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง

ณ เวลานี้ หมู่เกาะมัลดีฟส์ กลางมหาสมุทรอินเดีย แหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยรู้จักดี กำลังเผชิญกับอากาศที่ร้อนระอุ น้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

นักวิจัยทางทะเลต้องออกมาเตือนให้รัฐบาลมัลดีฟส์ระงับโครงการต่างๆ ที่มีผลกระทบกับแหล่งปะการัง

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตาสถานการณ์ของแหล่งปะการังผ่านทางดาวเทียมของสำนักงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐชี้ว่า แหล่งปะการังของมัลดีฟส์อยู่ระดับค่อนข้างอันตราย

ส่วนแหล่งปะการังที่มีชื่อว่า “เซกิไซโชโกะ” นอกชายฝั่งของเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เจอภาวะโลกร้อนคุกคามอย่างจัง

อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2 ํc และกินเวลานานจนทำให้แหล่งปะการัง 91.4% พังยับเยิน กลายเป็นสุสานใต้ทะเล

สาหร่ายที่เกาะอยู่กับปะการังแห้งตายซาก

ทิ้งให้ปะการังเหลือแค่โครงกระดูก

เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แหล่งปะการังฟื้นขึ้นมาบ้าง เพียงแค่ 20% เท่านั้น

ที่เหลืออีกราว 70% ยังแห้งตายซาก

ในเวลานั้น กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นออกมายอมรับว่าแหล่งปะการังบริเวณดังกล่าวซึ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นถูกฟอกขาวครอบคลุมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร

วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า “เซกิไซโชโกะ” จะฟื้นกลับสู่ปกติเมื่อไหร่?

 

ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา นักวิจัยลงไปสำรวจแหล่งปะการังใต้ทะเล นอกชายฝั่งฟลอริดา คีย์ ราว 6 กิโลเมตร

นักวิจัยนำเครื่องมือใหม่ๆ ลงไปทดลองเพื่อป้องกันไม่ให้แหล่งปะการังได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

เช่นเดียวกับที่แหล่งปะการังใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ “เกรต แบริเออร์ รีฟ” ของออสเตรเลีย เผชิญกับอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวในช่วงระหว่างปี 2559-2560

แหล่งปะการังน้ำตื้นบริเวณฝั่งตอนเหนือของเกรต แบริเออร์ รีฟ พังเสียหายยับเยินราว 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแหล่งปะการังฝั่งทางใต้ราว 22% พังเสียหาย

ทั้งสองแหล่งคาดว่าต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนาน

นักชีววิทยาทางทะเลของออสเตรเลียและสหรัฐหันมาผนึกกำลังเพื่ออนุรักษ์แหล่งปะการังที่ในฝั่งทะเลฟลอริดาและแนวปะการังเกรต แบริเออร์

ทั้งสองฝ่ายแบ่งปันความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่จะปลุกฟื้นแหล่งปะการังซึ่งเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาว

การค้นคว้าวิจัยต้องใช้เงินทุนกว่า 6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

 

นักวิจัยทั้งสองฝ่ายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ แน่นอนว่าการจะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงได้ หลายฝ่ายต้องช่วยกันสานฝันให้เป็นจริง นั่นคือการลดปริมาณก๊าซพิษที่จะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

แหล่งที่ปล่อยก๊าซพิษที่เรารู้กันอยู่ รถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประเภทถ่านหิน น้ำมัน

ก๊าซพิษไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือมีเทน เมื่อสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกจนเข้มข้น จะทำให้สภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

ระดับความเข้มข้นของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลก ล่าสุดอยู่ที่ 415 พีพีเอ็ม หรือหนึ่งส่วนในล้านส่วน ถือเป็นสถิติใหม่ที่น่ากลัว

ฉะนั้น การลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษเท่ากับช่วยควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูง

ตามเกณฑ์ที่สหประชาชาติตั้งไว้ต้องคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูง 1.5 c เมื่อเทียบกับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัญหาโลกร้อนในอนาคตจึงจะบรรเทาลงบ้าง

ถ้าช่วยกันคุมไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1 c ก็ยิ่งดีเลย

แต่หากทะลุถึง 2 c เมื่อไหร่ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า โลกใบนี้แย่หนักกว่าเดิม

พืชพันธุ์สัตว์โลกอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ ชาวโลกพากันเดือดร้อน แย่งชิงหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร

ความอลหม่านจลาจลวุ่นวายจะเกิดขึ้นทั่วโลก

ยูเอ็นจึงตอกย้ำกับคำเตือนที่ว่า ชาวโลกมีเวลาแค่ 12 ปีที่จะคุมไม่ให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 1.5 ํc

 

กลับมาที่เกรต แบริเออร์ รีฟ ถือว่าเป็นแหล่งปะการังที่สวยงามมาก โดยเฉพาะจุดที่เรียกว่าแอจินคอร์ต ริบบอน รีฟ นอกชายฝั่งของพอร์ต ดักลาส เป็นจุดที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปเยือนปีละ 2 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับรัฐควีนส์แลนด์ถึง 6,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

การทุ่มทุนเพื่อวิจัยป้องกันแหล่งปะการังไม่ให้ฟอกขาวหรือถูกทำลาย จึงไม่ใช่แค่เรื่องอนุรักษ์สิ่งมหัศจรรย์ใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นห่วงโซ่อาหารของโลกเพียงเท่านั้น

หากยังสร้างสรรค์รายได้ให้กับรัฐฟลอริดา และรัฐควีนส์แลนด์อีกด้วย

แต่เอาเข้าจริงการฟื้นฟูแหล่งปะการังเป็นเรื่องแก้ที่ปลายเหตุ

ถ้าชาวโลกยังเมินเฉยกับปัญหาโลกร้อน ไม่ร่วมกันคุมปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ

เรื่องร้ายๆ ที่ใหญ่กว่าปะการังฟอกขาวจะตามมาอีกเพียบ