
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ชุมชนริมฝั่งน้ำจันทบุรี (ที่เรียกกันอีกอย่างว่า แม่น้ำจันทบูร) ตามประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ของหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าไว้ เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นเมื่อหลัง พ.ศ.2200 เท่านั้น
เพราะแต่เดิมเมืองจันท์ตั้งอยู่ที่หน้าเขาสระบาป มีอายุเก่าแก่นับพันปี ดังจะเห็นได้ว่าในพื้นที่บริเวณนั้น มีร่องรอยของเมืองและกำแพงเมือง ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณอยู่คือ เมืองเพนียด และอีกสารพัดร่องรอยสิ่งปลูกสร้าง และโบราณวัตถุของวัฒนธรรมขอมโบราณ
และเมื่อเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณ เมื่อถึงช่วงที่อารยธรรมขอมร่วงโรยลง ในช่วงหลัง พ.ศ.1800 ประวัติศาสตร์ฉบับหลวงก็ย่อมมักจะอธิบายว่า ดินแดนที่อยู่ในปริมณฑลอำนาจของขอมก็จะร่วงโรยตามไปด้วย
ชุมชนที่บริเวณเขาสระบาปก็จึงต้องอพยพตัวเองมาสร้างบ้านเมืองใหม่ อยู่ที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย ทางฟากตะวันออก ใกล้ๆ แม่น้ำจันทบุรีนี่เอง ก่อนที่สุดท้ายใน พ.ศ.2200 จะค่อยข้ามแม่น้ำกันมาทางฟากตะวันออก กลายเป็นชุมชนย่านเมืองเก่า ริมฝั่งน้ำจันทบุรี ในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่า ประวัติเมืองจันท์ในเอกสารราชการจะบอกอย่างนั้นมาแต่ดั้งเดิม แถมยังผลิตซ้ำอยู่อย่างนี้อีกเรื่อยๆ มาจนทุกวันนี้ โดยไม่แคร์สื่อเลยว่า ตำบล “พุงทลาย” จะเปลี่ยนชื่อเป็นตำบล “จันทนิมิต” ไปนานแล้ว จนทำให้นักเรียนนักศึกษาหาตำบลที่ว่าไม่พบ เวลาที่จะทำความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์จันทบุรีเอาง่ายๆ
และเอาเข้าจริงแล้ว เขตพื้นที่บ้านหัววัง ตำบล “จันทนิมิต” หรือพุงทลายแต่ดั้งเดิมนั้น ก็ห่างจากย่านเมืองเก่า ริมฝั่งน้ำจันทบุรี ไปเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร เท่านั้นเอง
มันจึงเป็นไปไม่ได้หรอกนะครับ ที่เมื่อคนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ที่บ้านหัววังแล้ว ในช่วงตลอดระยะเวลา 400 ปี นับจาก พ.ศ.1800 มาจนถึง พ.ศ.2200 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการว่า พื้นที่ทางฟากตะวันตกริมฝั่งแม่น้ำเพิ่งเป็นบ้านเป็นเมืองเอาตอนนั้น จะไม่เคยมีใครคิดจะข้ามแม่น้ำจันทบุรีมาทางฟากตะวันตก ตรงที่เป็นย่านเมืองเก่าจันทบุรีในปัจจุบันเลย
แถมในเขตพื้นที่ชุมชนทางฟากตะวันตกของแม่น้ำยังมีการค้นพบ ชิ้นส่วนของทับหลังในวัฒนธรรมขอมโบราณ ที่มีอายุอยู่ในช่วงหลัง พ.ศ.1500 ลงมา (อย่างที่มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า ทับหลังแบบบาปวน) และบรรดาข้าวของในอารยธรรมขอมครั้งกระโน้นเก็บรักษาไว้ที่วัดโบสถ์เมือง แถวๆ ชุมชนริมฝั่งน้ำที่ว่านั่นอีกต่างหาก
ผมไม่แน่ใจว่า จะมีใครคิดแบกเอาชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมขอมโบราณพวกนี้ มาจากที่เมืองเพนียด แถวๆ เขาสระบาปที่ห่างออกไปแค่ประมาณ 6 กิโลเมตร หรือเปล่า?
แต่มันน่าจะเป็นไปได้มากกว่าไหมที่พื้นที่บริเวณสองฝั่งน้ำจันทบุรี ไม่ว่าจะเขตย่านเมืองเก่าในปัจจุบัน หรือเขตบ้านหัววัง ตำบลจันทนิมิต จะเป็นเมืองในขอบข่ายปริมณฑลของเมืองเพนียดมาก่อน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ติดเส้นทางคมนาคมสำคัญในการออกสู่ทะเลอ่าวไทยคือ แม่น้ำจันทบุรี?
สมมติว่าข้อสมมติฐานของผมถูก ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำไม่ว่าจะซีกตะวันตกที่เรียกกันว่าเป็นย่านเก่าในปัจจุบัน หรือฟากตะวันออก แถบบ้านหัววัง ตำบลจันทนิมิต ก็เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ เมื่อพันกว่าปีก่อนนั่นเอง
ทั้งสองฟากข้างของแม่น้ำจันทบุรีในอดีต ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถบปากคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง (คือบริเวณใกล้ๆ กองบังคับการกองทัพเรือ หรือพระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีในปัจจุบัน) ที่มีชุมชนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำมาแต่เดิมแล้ว
ไม่ใช่อย่างที่ประวัติศาสตร์ฉบับที่หน่วยราชการใช้ และบอกกับผู้คนทั้งที่จันทบุรี และที่อื่นๆ ทั่วประเทศเสียหน่อย
แต่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการจะเป็นเช่นไรก็ช่างมันเถอะนะครับ ในเมื่อชุมชนที่ย่านเก่าริมฝั่งน้ำจันทบุรีมีความเข้มแข็งพอ แถมยังเห็นค่าถึงประวัติศาสตร์รากเหง้าของตนเองอีกต่างหาก
ในปัจจุบันนี้ถ้าใครผ่านไปยังย่านเก่าริมฝั่งน้ำจันทบุรีที่ว่า นอกเหนือจากร้านขนม ร้านกาแฟ โรงแรม ร้านค้า หรือแม้กระทั่งร้านอาหารชิกๆ สไตล์สโลว์ไลฟ์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าทั่วทั้งชุมชนมีแผ่นป้ายแสดงข้อมูลประวัติความเป็นมาของชุมชน ทั้งภาพของชุมชนโดยรวม ความสำคัญของสถานที่ ตึกอาคารแต่ละแห่ง รวมไปถึงแผนที่แผนทาง
ที่สำคัญคือไม่เชย และตอบโจทย์สังคมร่วมสมัยได้เป็นอย่างดีด้วย
ผมคิดว่าลักษณะอย่างนี้แหละครับที่ฝรั่งเรียกว่า “มิวเซียม” (museum) เพราะตามรากศัพท์ แล้ว “museum” มาจากภาษากรีกโบราณแปลว่า “บัลลังก์ของเทพมิวส์” (Muse) ซึ่งเป็นคณะเทพธิดาที่ทั้งดลบันดาลและอำนวยพรให้เกิดทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” หรือ “ความรู้” ต่างๆ
แถมยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าเมื่อ พิธากอรัส (Pythagoras มีชีวิตอยู่เมื่อราว 570-495 ปีก่อนคริสตกาล) นักปรัชญา และนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกชาวกรีก ได้เดินทางเข้าไปถึงเมืองโครโตเน (Crotone ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี)
คำแนะนำแรกที่ท่านให้แก่ชาวเมืองก็คือ ให้สร้างสถานบูชาเทพมิวส์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และให้ชาวเมืองกลมเกลียวกัน
ดังนั้น โดยนัยยะสำคัญแล้ว “มิวเซียม” จึงหมายถึงสถานที่ที่มีการจัดการความรู้มากกว่าจะหมายถึงอย่างอื่น
คําว่า “มิวเซียม” จึงที่ผมหมายถึง มีความหมายต่างไปจาก “พิพิธภัณฑ์” นะครับ
เพราะ “พิพิธภัณฑ์” เป็นศัพท์ผูกใหม่ โดยถ่ายถอดมาจากคำว่า “มิวเซียม” (museum) ในภาษาอังกฤษออกมาเป็นคำไทยในความหมายที่คลาดเคลื่อนออกไปจากความหมายเดิมของฝรั่งอยู่มาก
คำว่า พิพิธภัณฑ์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกผสมอยู่ในคำที่ผูกเป็นชื่อ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ใช้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ (คำว่า “ประพาส” แปลว่า “เที่ยวเล่น” ส่วน “พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “ของแปลก”) สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 พระที่นั่งองค์ดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนสถานที่เก็บคอลเล็กชั่นส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะบ้าง แต่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเที่ยวชม
ทุกครั้งที่เสด็จประพาสยังต่างแดน พุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่เคยตรัสเรียก “museum” ว่า “พิพิธภัณฑ์” เลยสักครั้ง หากแต่เรียกอย่างทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” แม้กระทั่งเมื่อโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่สะสมไว้ในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงไว้ ณ หอคองคอเดีย (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม อยู่ทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านทิศตะวันตก) ก็เรียกการจัดแสดงนั้นว่า “เอกษบิชั่น” (exhibition) ตรงกับคำแปลในภาษาไทยว่า “นิทรรศการ” เพิ่งจะในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่เอง ที่เรียก “มิวเซียม” ว่า “พิพิธภัณฑ์”
โดยรากทางประวัติศาสตร์แล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของไทยเราจึงมีลักษณะเป็นสถานที่เก็บของเก่า แสดงของแปลก มากกว่าที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาหรือองค์ความรู้ต่างๆ ตามความหมายของคำว่า “museum” ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้น
ดังนั้น “มิวเซียม” จึงไม่จำเป็นต้องมีของเก่าๆ หรือของมีค่าในแง่ของราคาค่างวดมาตั้งโชว์ แต่แสดงให้เห็นถึง “คุณค่า” ของความรู้หรืออะไรที่กำลังจัดการนั่นแหละวิเศษที่สุดแล้ว
มีคำของนักปราชญ์ที่ว่า “ความรู้ไม่มีพรมแดน” การจัดการความรู้ก็ยิ่งไม่ควรมีพรมแดน “มิวเซียม” จึงไม่ต้องมี “กำแพง” มาเป็นขอบเขตปิดกั้นพรมแดนของตัวเองก็ได้
ใช้ความรู้ และปริมณฑลทางสังคมวัฒนธรรมของคนเองนั่นแหละ เป็นพรมแดนที่ไม่ต้องถูกสิ่งปลูกสร้างอะไรมาปิดกั้น อย่างที่ย่านเก่าชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรีทำนั่นแหละครับ ดีงามมากๆ แล้ว เพราะที่เห็นและเป็นอยู่ ชุมชนแห่งนี้ก็เปรียบได้กับ “มิวเซียมที่ไม่มีกำแพง”