วิเคราะห์ : “กูเกิล” vs “หัวเว่ย” “เทรดวอร์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อล่าสุด “กูเกิล” ประกาศจะปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ห้ามบริษัทของสหรัฐทำธุรกิจร่วมกับบริษัทต่างชาติที่สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงบริษัท “หัวเว่ย” บริษัทโทรคมนาคมและผู้ผลิตสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่ของจีน

แม้ “กูเกิล” จะระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในการปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ในการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ก่อนจะยืนยันว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่มีอยู่เดิมจะใช้บริการแอพพลิเคชั่นของกูเกิล และสามารถอัพเดตเรื่องความปลอดภัยและการสนับสนุนทางด้านเทคนิคได้ต่อไป

และแม้ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐจะเปลี่ยนใจยืดระยะเวลาให้หัวเว่ยสามารถทำธุรกิจกับบริษัทในสหรัฐต่อไปได้อีก 90 วันจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม

แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกตีความไปแล้วว่า อุปกรณ์สมาร์ตโฟนหัวเว่ยในอนาคตอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการของกูเกิลอย่าง “กูเกิลเพลย์” บริการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของกูเกิล รวมถึงบริการของแอพพลิเคชั่นกูเกิลอย่างจีเมล, ยูทูบ, กูเกิลแม็ป และบริการอัพเดตความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในอนาคตได้

ส่งผลให้เกิดความกังวลของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนหัวเว่ยปัจจุบัน และกระทบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลกไปแล้ว

 

การประกาศของกูเกิลที่สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับหัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนที่เพิ่งแซง “แอปเปิ้ล” ขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับ 2 ของโลกด้วยส่วนแบ่งตลาด 13 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองเพียงซัมซุง ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 19 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

ก่อนจะสร้างความฮือฮาด้วยสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่รุ่น P30 Pro ที่มาพร้อมกับความสามารถในการถ่ายภาพอันเหลือเชื่อ

ความแตกตื่นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบริการของกูเกิลที่มีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานในระดับสูง และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนในยุคปัจจุบันที่มีระบบปฏิบัติการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้มากที่สุดอยู่เพียง 2 ระบบเท่านั้นคือ “แอนดรอยด์” ของ “กูเกิล” และ “ไอโอเอส” ของ “แอปเปิ้ล”

การพัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น “ทางเลือกที่ 3” ถูกพิสูจน์ผลงานมาแล้วจาก “วินโดวส์โฟน” ของไมโครซอฟท์ หรือแม้แต่ “ไทเซน” ของซัมซุงเอง ที่แม้จะมีการลงทุนมหาศาลเพื่อดึงผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการ แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับสมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้เลย

เช่นเดียวกับหัวเว่ยเองที่เปิดเผยว่ากำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองอย่าง “หงเหมิง” นั้นก็มีโอกาสที่จะมีชะตากรรมไปในทิศทางเดียวกัน

 

ความพยายามในการปิดตลาดสหรัฐกับ “หัวเว่ย” เป็นความพยายามเล่นงานบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับสองของโลกจากจีนครั้งล่าสุด หลังจากสหรัฐร้องขอแคนาดาให้จับกุมนาง “เมิ่ง หวั่น โจว” ประธานบริหารด้านการเงินของหัวเว่ย ในข้อหาละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตรการค้ากับอิหร่าน ตามมาด้วยการกดดันให้ประเทศพันธมิตรงดใช้อุปกรณ์สำหรับโครงข่ายสื่อสารในยุค 5 จี ที่กำลังเริ่มวางโครงสร้างกันในหลายๆ ประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า “อุปกรณ์หัวเว่ยนั้นเป็นความเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูล” ข้อหาซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธอย่างแข็งขัน

ความพยายามในการทำลาย “หัวเว่ย” ของสหรัฐอเมริกาชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามการค้า” ที่สหรัฐเปิดสมรภูมิกับจีนไปแล้ว ด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของจีน มูลค่าราว 300,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ จาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐไปแล้วมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

ผลกระทบจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบริษัทในสหรัฐและจีนเท่านั้น

แต่จะขยายวงไปทั่วโลก ผลจากความเชื่อมโยงกันของ “โกลบอลซัพพลายเชน” หรือห่วงโซ่อุปทานของโลก อีกนัยหนึ่งก็คือ สงครามการค้าที่ทำให้สินค้าส่งออกระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นขายได้ไม่ดี ก็ย่อมส่งผลต่อสินค้าของประเทศต้นน้ำที่ส่งออกไปเพื่อผลิตสินค้าเหล่านั้นด้วย

ผลกระทบจากการขึ้นบัญชีดำดังกล่าวนอกจากหัวเว่ยเองแล้ว แน่นอนว่าส่งผลกระทบกับบริษัทในสหรัฐอย่างอินเทล ควอลคอมม์ บรอดคอม และไซลิงซ์ ที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับหัวเว่ยด้วยเช่นกัน ด้วยมูลค่าส่งออกรวมถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะต้องหายไป

ขณะที่จีนเองก็ถือเป็นประเทศที่คุมอุตสาหกรรมการผลิต “แร่เอิร์ธ” แร่หายากที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าล้ำยุคซึ่งสหรัฐพึ่งพาการนำเข้าจากจีนอยู่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อาจถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสำคัญในการตอบโต้สหรัฐอเมริกาได้ในอนาคต

 

โดยเฉพาะล่าสุด สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน พร้อมด้วยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนผู้เป็นตัวเทนเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา เดินทางไปเยือนบริษัทผู้ผลิต “แร่เอิร์ธ” ในมณฑลเจียงซีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้นก็ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐครั้งนี้หรือไม่

ในภาพรวมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลดีกับใครในเวลานี้ ยิ่งกว่านั้นปรากฏการณ์ “กูเกิล-หัวเว่ย” ในครั้งนี้ยังทำให้เห็นชัดเจนว่า “สงครามการค้า” สามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับบริษัทผู้ผลิต ตลาด และผู้บริโภคหลายพันล้านคนทั่วโลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ

และนั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวพวกเราอีกต่อไป