ศัลยา ประชาชาติ : จากสงครามการค้าสู่ “Tech War” เกมดุ “หัวเว่ย-กูเกิล” เขย่าโลก

กลายเป็นประเด็นร้อนสะเทือนทั่วโลกขึ้นมาทันทีกับกระแสข่าวที่ “กูเกิล” และยักษ์ไอทีฝั่งสหรัฐอเมริกาจะไม่ทำการค้ากับ “หัวเว่ย” บริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเจ้าของแบรนด์สมาร์ตโฟนเบอร์ 2 ของโลก

โดยมีสาเหตุจากการที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มชื่อ “หัวเว่ย” เข้าในบัญชีดำด้านการค้า “Entity List” รับลูกประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ที่ให้แบล็กลิสต์บริษัทที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ

การถูกตัดขาดจาก “กูเกิล” สั่นสะเทือน “หัวเว่ย” มากที่สุด เพราะหมายถึง “สมาร์ตโฟน” ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของ “หัวเว่ย” รุ่นต่อไป จะไม่สามารถใช้งานในส่วนของ Google Mobile Services อาทิ Google Play Store, YouTube, Google Maps ได้

แม้ว่าจะใช้งานระบบปฏิบัติการ “Android” ในส่วนที่เป็น Open Source Project ก็ตาม

ส่วนสมาร์ตโฟนที่อยู่ในตลาด ณ เวลานี้จะยังใช้งานได้ต่อ แต่จะมีความเสี่ยงในการ “อัพเดต” ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด

ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกกับผู้ใช้สมาร์ตโฟนหัวเว่ยทั่วโลก สมกับที่มียอดขายในปีที่แล้วทั่วโลกกว่า 200 ล้านเครื่อง และในประเทศไทยเองก็เป็นกระแสร้อนเช่นกัน

 

“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า มีลูกค้าเอไอเอสที่ใช้งานสมาร์ตโฟนหัวเว่ยเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก มีไม่น้อยที่เดินทางมาถึงศูนย์บริการเพื่อถามเรื่องนี้โดยเฉพาะ

กระแสข่าวเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแน่นอน อย่างไรก็ตาม เอไอเอสและหัวเว่ยยังคงทำโปรโมชั่นต่อเนื่อง และได้รับคำยืนยันจากหัวเว่ยว่าลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งจะดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขอให้มั่นใจ

เช่นเดียวกับฝั่ง “ทรู” ที่มีการประชุมหารือกับหัวเว่ยในไทยเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ และให้คำยืนยันหนักแน่นว่า “ลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบ”

ขณะที่คอลเซ็นเตอร์ของทั้ง 3 ค่ายมือถือก็มีลูกค้าสอบถามกรณีนี้มาตลอด ซึ่งทุกค่ายต่างให้คำยืนยันว่าลูกค้าจะยังใช้งานได้ตามปกติ และสามารถพกสมาร์ตโฟนหัวเว่ยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกาได้ตามปกติ

ฟากค้าปลีกไอทีรายใหญ่ “นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) มองว่าปัญหานี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะสั้นแน่นอน รวมทั้งอาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์จีนด้วยกันด้วย จนทำให้ผู้บริโภคอาจจะตัดสินใจ “ย้าย” กลับไปใช้งานสมาร์ตโฟน “ซัมซุง” และ “แอปเปิ้ล” แทน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้ “หัวเว่ย” จะเป็นลูกค้า 2 แบรนด์นี้มาก่อน

“นี่ไม่ใช่เรื่องที่หัวเว่ยไม่ได้คาดคิด เพราะมีปัญหาการค้าของสหรัฐและจีนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่วิกฤตแรก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีเรื่องชิพเซ็ตที่ไม่ตรงตามที่แจ้ง แต่หัวเว่ยก็ผ่านไปได้ และไม่ส่งผลในระยะยาว”

พร้อมย้ำว่า 3 ปีที่ผ่านมาหัวเว่ยในประเทศไทยมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด สามารถเพิ่มมาร์เก็ตแชร์จากหลักเดียว จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ของตลาด โดยเฉพาะรุ่นเรือธงที่ได้รับการตอบรับดีทุกรุ่น ส่งผลให้ปี 2560 หัวเว่ยเติบโตถึง 60% นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเติบโต 50% ในปีนี้

แต่เหตุการณ์นี้อาจจะทำให้เป้าหมายของหัวเว่ยที่ต้องการเป็นเบอร์ 1 ในตลาดไทยและตลาดโลกภายในปี 2563 ไปไม่ถึงเพราะวิกฤตครั้งนี้ได้ หากไม่รีบเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่าช่วงไตรมาสแรกของปี หัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนโลกเป็นอันดับที่ 2 ที่ 19% โดยสามารถจำหน่ายสมาร์ตโฟนได้ถึง 59.1 ล้านเครื่อง อัตราการเติบโตอยู่ที่ 50.3% สูงสุดในบรรดาแบรนด์สมาร์ตโฟนทุกราย

ขณะที่ผู้นำตลาดอย่าง “ซัมซุง” มียอดขายไตรมาสแรกที่ 71.9 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งตลาด 23.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซัมซุงติดลบ 8.1%

ที่ผ่านมา “หัวเว่ย” ตกเป็นเป้าของสงครามการค้า “จีน-สหรัฐ” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สหรัฐประกาศห้ามใช้อุปกรณ์โครงข่าย 5G ของหัวเว่ยในประเทศ แถมยังชักชวนประเทศพันธมิตรให้แบน “หัวเว่ย” ด้วย จนทำให้โครงข่าย 5G กลายเป็นสัญลักษณ์การเลือกข้าง “จีน-สหรัฐ”

และนำไปสู่การจับกุม “เหมิง หวัน โจว” CFO และลูกสาวของผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” จนกระทั่งมีการขึ้นแบล็กลิสต์ในครั้งนี้

แม้การพุ่งเป้าโจมตีบริษัทเทคโนโลยี “จีน” ด้วยการสั่งระงับการค้าขายด้วยจะไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนนี้สหรัฐอเมริกาเคยมีคำสั่งนี้กับ “ZTE” โดยอ้างว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ ZTE ยอมจ่ายค่าปรับมูลค่าเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ และรัฐบาลปักกิ่งยังตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อชดเชย

แต่ “หัวเว่ย” ไม่เดินทางซ้ำรอยแน่นอน เมื่อ “เหริน เจิ้ง เฟย” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรหัวเว่ย ย้ำสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า “สหรัฐประเมินความแข็งแกร่งของเราต่ำเกินไป”

 

แม้ว่าล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจะเลื่อนเวลาการบังคับใช้แบล็กลิสต์ออกไปอีก 90 วัน

แต่ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยกล่าวว่า “ไม่ได้มีผลอะไร” และฝ่ายบริหารของหัวเว่ยได้ออกมาประกาศถึง “แผน 2” ที่จะขยับเวลาการทดลองใช้ระบบปฏิบัติการในสมาร์ตโฟนที่ซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 “HongMeng OS” ให้เร็วขึ้น คาดว่าทั่วโลกจะได้เห็นในปีนี้

ณ เวลานี้คงต้องจับตาดูว่า จากสงครามการค้าที่ก้าวสู่ Tech War จะขยายวงไปแค่ไหน ฟากยักษ์แดนมังกรจะขยับตอบโต้หรือไม่ เร็วๆ นี้คงได้รู้กัน