วงค์ ตาวัน : ความคับข้องใจของสายเหยี่ยว

วงค์ ตาวัน

ตลอดช่วง 1-2 เดือนมานี้ มีข่าวลือข่าวปล่อย ที่พุ่งเป้าเขย่าเก้าอี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตลอด ทำนองว่าจะต้องถูกปลดพ้นจากรัฐบาลแน่นอน

จนกระทั่งต่อมา เมื่อ 2 รัฐมนตรีในรัฐบาล คือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งองคมนตรี

เมื่อรวมกับเก้าอี้รัฐมนตรีไอซีที ที่ว่างก่อนหน้านั้น

ทำให้ถึงวาระต้องปรับ ครม. อีกครั้ง เพื่อทดแทนตำแหน่งรัฐมนตรี 3 กระทรวงที่ว่างลง

“ข่าวลือยิ่งโหมถล่มใส่ พล.อ.ประวิตร โดยจุดประเด็นทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงไม่ปรับแค่ทดแทน 3 รัฐมนตรีที่ว่าง แต่จะถือโอกาสปรับ ครม. ครั้งใหญ่ โดยเป็นจังหวะเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงสายความมั่นคงด้วย”

ไม่เท่านั้น บางข่าวลือยังอ้างว่า พล.อ.ประวิตร ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากรัฐบาล เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

จนกระทั่งเมื่อข่าวลือ พล.อ.ประวิตร หลุดจาก ครม. พัฒนาไปอยู่บนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับ จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร ฟิวส์ขาด ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ข่าวอย่างดุดัน

โดยชี้ว่า มีผู้จงใจปล่อยข่าว เพื่อต้องการตัดขาตนเอง อันจะส่งผลให้รัฐบาลพังไปด้วย

“อีกทั้งความที่ตนเองคุมสายความมั่นคง ถ้าหลุดจากเก้าอี้ไป จะส่งผลต่อตำแหน่งทหาร-ตำรวจ ไปพร้อมๆ กัน”

ไม่เพียง พล.อ.ประวิตร จะออกมาโต้ข่าว และยืนยันว่าตนเองยังอยู่ในตำแหน่ง เพื่อสยบข่าวลือ

ในวันเดียวกันนั้น เป็นจังหวะพอดีที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ออกมา

โดยเป็นการปรับ ครม. เปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี 12 ราย ในจำนวนนี้ไม่เกี่ยวกับสายความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร แต่อย่างใด

“จึงช่วยยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร ยังเหนียวแน่นแน่นอน”

อีกทั้งถัดจากนั้น เมื่อนายกฯ นำรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ

ในวันรุ่งขึ้นนายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ย้ำอีกว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยน พล.อ.ประวิตร แน่ๆ

ส่งผลให้ข่าวลือนี้หมดสิ้นน้ำหนัก คงค่อยๆ จางหายไป แต่จะจบหรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป!?!

 

อาจจะกล่าวได้ว่า การสร้างข่าวลือที่พุ่งเป้าใส่ พล.อ.ประวิตร ที่กระทำต่อเนื่องตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ลือธรรมดาอย่างแน่นอน บ่งบอกว่ากระทำอย่างเป็นขบวนการ และน่าเชื่อว่าต้องประสานเข้ากับความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงในบางด้าน เพื่อต้องการเขย่าเก้าอี้รองนายกฯ ความมั่นคง ให้หักโค่นนั่นเอง

ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตร ได้รับรายงานจากทีมสืบสวนที่ระบุตัวบุคคล 3-4 คนอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้

“เป็นทั้งคนใกล้ชิดกลุ่มที่เรียกกันว่าอำมาตย์ใหญ่ ประสานเข้ากับคนในแวดวงสื่อค่ายหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างข่าว โดยมีคนในรัฐบาลเองบางรายที่คอยรับลูก ร่วมปั่นกระแส จึงทำให้ข่าวนี้แพร่หลายอย่างจริงจัง ใครฟังก็ต้องเชื่อ”

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ หลังเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2557 ถือได้ว่ามี พล.อ.ประวิตร ในฐานะพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์เป็นผู้มีบทบาทสูง

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร มีแนวทางทางการเมืองที่ต้องการประสานทุกขั้วอำนาจ เพื่อหวังให้รัฐบาล คสช. สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกแบ่งสี โดยไม่ใช้วิธีเดิมๆ

ทั้งนี้ ในฟากของ พล.อ.ประวิตร มองว่า การไล่ล่าเอาเป็นเอาตายกับพรรคการเมืองหนึ่งและสีหนึ่งนั้น ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาก็ทำเช่นนี้มาตลอด ลงเอยก็ไม่สามารถขจัดพรรคนี้และขั้วสีนี้ให้หมดสิ้นไปได้

“แนวทางประการนี้เอง จึงขัดแย้งกับกลุ่มเก่าๆ ที่ทำทุกอย่างเพื่อไล่ล่าอีกฝ่ายให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย!”

โดยเฉพาะคนใกล้ชิดอำมาตย์ใหญ่ เริ่มมอง พล.อ.ประวิตร ว่า จะสร้างบารมีของพวกตัวเองให้เป็นป๋าค่ายใหม่ และยังจะเปิดทางให้ฝ่ายที่ถูกไล่ล่าฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้

จึงเริ่มเดินแนวโจมตี พล.อ.ประวิตร สามัคคี พล.อ.ประยุทธ์

“แยก 2 แกนนำ คสช. ให้แตกออกจากกัน โดยยังเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะยึดวิธีที่ไม่คืนดีกับอีกฝ่ายอย่างแน่นอน”

ขณะเดียวกัน วิธีแก้ปัญหาการเมือง 2 สีของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งยึดแนวแบบพิราบ ก็ขัดแย้งกับสายเหยี่ยวในรัฐบาลเอง

โดยคนในรัฐบาลอีกซีกหนึ่งซึ่งก็เป็นคนใกล้ชิดหัวหน้า คสช. แต่เห็นต่างกับ พล.อ.ประวิตร ทั้งยังรับไม่ได้ที่มีอิทธิพลบารมีมากเกินไป

สายเหยี่ยวใน คสช. และคนใกล้ชิดนายกฯ ซึ่งขัดแข้งขากับสาย พล.อ.ประวิตร นี้เอง ที่ประสานเข้ากับกลุ่มภายนอกที่ใกล้ชิดอำมาตย์ใหญ่ กลายเป็นขบวนการที่พุ่งเป้าเขย่าเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง

นี่จึงทำให้ข่าวลือนี้ ดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

 

รูปธรรมความขัดแย้งภายในขั้วอำนาจ คสช. และในรัฐบาลเอง ด้วยแนวทางการเมืองที่ต่างกัน สะท้อนออกมาในหลายปรากฏการณ์ เช่น การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ใน สนช. การถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แม้แต่การจัดการกับธรรมกาย ก็พบว่า สายเหยี่ยวกับสายพิราบใน คสช. มองต่างกัน

“โดยสายเหยี่ยวผลักดันให้จับกุมธัมมชโยให้ได้ แต่สายพิราบเห็นว่า เป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่เปล่าๆ”

ขณะนี้กลุ่มแกนนำนกหวีด คนใกล้ชิดอำมาตย์ ที่ต้องการให้เผด็จศึกธัมมชโย เพื่อขยายผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์ เริ่มหงุดหงิดว่า ตำรวจไม่ยอมออกหน้าเป็นหน่วยหลักในการลุยปราบธรรมกาย กลับพยายามเป็นแค่หน่วยสนับสนุน โดยจะให้ดีเอสไอที่ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยหลักออกหน้าแทน

จึงทำให้ไม่พอใจในรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงไปด้วย

นี่ก็เป็นอีกประเด็นในระยะหลัง ที่ทำให้ข่าวลือโหมกระหน่ำ เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง อันจะส่งผลให้เปลี่ยนลงมาถึงหน่วยตำรวจ

“เพื่อจะปรับเปลี่ยนสายความมั่นคงและตำรวจ ให้มาทำงานแนวเด็ดขาด ตามแนวทางของสายเหยี่ยว”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร เองให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ถ้าผมออกสักคน ก็หลุดไปเยอะ เพราะผมดูแลทั้งทหารและตำรวจ”

นั่นเท่ากับว่า เมื่อ พล.อ.ประวิตร ยังมั่นคงกับเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ย่อมไม่มีผลกระทบต่อตำรวจและทหาร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

แต่คงทำให้ฝ่ายสุดโต่ง กลุ่มขวาจัด และสายเหยี่ยว ในขั้วอำนาจ คสช. และอำมาตย์ ก็ยังคงอึดอัดคับข้องใจต่อไป

เพียงแต่ความแนบแน่นระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร นั้น มาถึงจุดที่ยากจะแยกทางกัน

นี่จะทำให้บิ๊กป้อมยังอยู่ยั้งยืนยง และคงจะต้องโรมรันพันตูกับอีกขั้วต่อไปไม่สิ้นสุด!