จรัญ พงษ์จีน : รัฐบาลลูกผสมปริ่มน้ำ อาจอายุสั้น?

จรัญ พงษ์จีน

นักวิเคราะห์การเมือง โดยเฉพะที่มองผ่านกรอบความคิดประชาธิปไตยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า แม้ในที่สุดแล้ว “คสช.” จะสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็จะไม่เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอที่จะบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นและอยู่ได้ยืนยาว

เพราะถึงอย่างไรเสีย เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีอย่างหมิ่นเหม่จะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เนื่องจากการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลหลังเลือกตั้งจำเป็นต้องเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยกรอบคิดที่คุ้นชินกับกลไกประชาธิปไตย ดูจะล่วงไปถึงความเชื่อที่ว่า พรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หากรวม ส.ส.ได้ 300 เสียงขึ้นไปจะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมั่นคงมากกว่า

มุมมองของนักวิเคราะห์ที่คุ้นเคยกับกรอบความคิดประชาธิปไตยเห็นเช่นนั้น

ทว่าความเชื่อมั่นของ คสช.และเครือข่ายผู้สนับสนุนกลับมองไปอีกด้าน

“ขอเพียงให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแล้วจะเห็นเองว่าแบบไหนมีเสถียรภาพมากกว่า” คือเสียงที่แสดงความเชื่อมั่น

เป็นความเชื่อมั่นที่มาพร้อมกับคำอธิบาย ที่ลงไปในรายละเอียดอย่างคร่าวๆ ดังนี้

ไม่ใช่แค่ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” เท่านั้น แต่ “องค์กรและกลไกที่มีบทบาทอิทธิพลต่อการบริหารจัดการประเทศก็จัดเตรียมไว้เพื่อพวกเราอย่างเบ็ดเสร็จด้วย”

มีคำแนะนำให้ย้อนไปทบทวนทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เคยเขียนไว้

“คนชนบทเลือกรัฐบาล แต่คนเมืองล้มรัฐบาล”

ประเทศยังหนีไม่พ้นสภาวะตามทฤษฎีนั้น

เพียงแต่ว่าได้มีความพยายามควบคุมกลไกที่จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลให้อยู่ในการควบคุมระดับที่ไว้วางใจได้แล้ว

อาจจะมีไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนักสำหรับขั้นตอน “การเลือกตั้งรัฐบาล” ทว่าการเปิดทางให้ “วุฒิสมาชิก” มีอำนาจกำหนดในเรื่องนี้ได้ ถือเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความพลิกผันเป็นอื่นได้

และหากแม้จะเกิดพลิกผันในการตั้งรัฐบาล “ไม่เป็นไปตามที่ดีไซน์ไว้”

รัฐบาลที่เพี้ยนไปจากที่ “ดีไซน์” ยาก หรือหากจะว่ากันให้ตรงไปตรงมาคือ “ไม่มีทางที่จะอยู่ได้”

 

องค์กรและกลไกที่มีบทบาทและอิทธิพลกำหนดการดำรงอยู่ของรัฐบาลถูกจัดวางแนวคิด บุคลากร และวิธีการจัดการให้อยู่ไว้อย่างเข้มแข็งอย่างยิ่งเรียบร้อยแล้ว

เริ่มจาก

บทบาทของ “คนชั้นนำ” ที่ชัดเจนว่าถึงวันนี้การหล่อหลอมความคิด ความเชื่อของคนกลุ่มนี้ จะรวมพลังกันนำสังคมไปในทิศทางใด

และหากมีใครในกลุ่มนี้มีความคิดในทางพยายามนำความเชื่อของผู้คนออกนอกลู่นอกทาง ชะตากรรมของผู้มีพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นอย่างไร

ย่อมประจักษ์แจ้งจากเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาอยู่แล้ว

หากยังเชื่อว่า “พรรคการเมือง” ที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนจะมีเสถียรภาพมากกว่า ขอให้ลองมองไปที่บทบาทของ

“กองทัพ-ทุนใหญ่-องค์กรอิสระ-กติกาการจัดการโครงสร้างอำนาจ-สถาบันที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดกติกา” ว่าที่ผ่านมา องค์กรที่มีบทบาทสูงต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะมีความคิดไปในทิศทางใด

หรือหากยังเชื่อว่าในที่สุดแล้ว “รัฐสภา” จะเป็นคำตอบที่สำคัญกว่า

ให้ลองคิดถึง “รัฐสภา” ในความเป็นจริง อันหมายถึงสถาบันที่ประกอบด้วย “วุฒิสภา” กับ “สภาผู้แทนราษฎร”

“ส.ว. 250 คน” ดูจากกระบวนการแต่งตั้งและรายชือแล้ว คงไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้ยืดยาว

 

ในส่วนของ “ส.ส.”อาจจะเป็นความหวังของอีกฝ่ายบ้าง แต่ที่เห็นและเป็นอยู่ มีแนวโน้มสูงยิ่งที่ “ผู้ทรงเกียรติ” เหล่านี้จะถูก “ผลประโยชน์ทำลายเกียรติอย่างยับเยิน” จนศรัทธาต่อนักการเมืองอาจจะตกต่ำสาหัสเข้าไปอีก จากที่ถูกทำให้เลวร้ายมากมายอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มที่จะเป็นไปได้นั้นไม่ต้องพูดถึง เรื่องราวความแตกแยกในพรรคการเมืองต่างๆ และขบวนการ “ยื่นเหยื่อล่องูเห่า” ดำเนินไปอย่างคึกคักยิ่ง

สรุปรวมความแล้ว

ในความเชื่อของฝ่ายสนับสนุนการสานต่ออำนาจแล้ว ไม่เห็นความน่ากริ่งเกรงอะไรเลยว่าจะรักษาเสถียภาพรัฐบาลไม่ได้

พวกที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เสียอีก ที่แม้จะมีความหวังอยู่บ้างว่าจะตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อมองไปวันข้างหน้าที่ต้องบริหารประเทศท่ามกลางบทบาทขององค์กรและกลไกที่ “ดีไซน์ไว้แล้ว”

น่าจะมีปัญหาเรื่อง “เสถียรภาพ” มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

อาจจะมีความคิดว่า ที่สุดแล้ว การชี้ขาดที่แท้จริงว่าใครมีเสถียรภาพมากกว่าอยู่ที่ “ประชาชน”

ความเชื่อมั่นของฝ่ายสืบต่ออำนาจยิ่งสูงยิ่ง

ด้วยคำถามที่ว่า “ประชาชนกลุ่มไหน” ที่จะสร้างปัญหาให้กับ “รัฐบาลที่ดีไซน์ไว้แล้ว”

คนชั้นสูง และระดับนำนั้นคงไม่ต้องพูดถึง

“คนชั้นกลางที่ดิ้นรนหาโอกาสให้ตัวเองได้ขยับชนชั้น หรือคนชั้นล่างที่ยังกังวลกับมาตรการช่วยเหลือ มีความหวังในโครงการประชานิยม” น่ะหรือ

ที่สำคัญกว่านั้น “ใครจะกล้าเสียงขึ้นมานำพลังประชาชน” ในยุคสมัยที่ “ความพร้อมในการใช้อำนาจแบบไม่เลือกวิธีมีสูงยิ่ง”

ด้วยข้อเท็จจริงนี้ เมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า “การสานต่ออำนาจ” ไม่มีทางที่จะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากกว่าไปได้

อีกฝ่ายจึงเอาแต่ “เดินหัวเราะ” โดยไม่ต้องพูดอะไรให้มาก